คัดลอก URL แล้ว
[1 ปี รัสเซีย-ยูเครน] ไทม์ไลน์สำคัญ หลังรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน

[1 ปี รัสเซีย-ยูเครน] ไทม์ไลน์สำคัญ หลังรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน

บทความชุด “1 ปี รัสเซีย-ยูเครน”

เช้าตรู่วันที่ 24 ก.พ. 2022 ท่ามกลางชีวิตปรกติของชาวยูเครนในหลายเมืองก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปเพียงชั่วเวลาไม่กี่นาที ภายหลังจากที่รัสเซียได้ “เปิดปฏิบัติการทางทหาร” โจมตียูเครน ด้วยขีปนาวุธหลายลูกไปยังจุดสำคัญ ๆ ทางยุทธศาสตร์หลายแห่ง และนับตั้งแต่วันนั้น ชีวิตของชาวยูเครนก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

หนึ่งปีผ่านไป สถานการณ์การสู้รบกันในยูเครนยังคงดำเนินต่อเนื่อง และยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด ท่ามกลางซากปรักหักพัง และการสูญเสียที่เกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา และหลายฝ่ายคาดว่า อาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี ในการที่จะพัฒนายูเครนให้กลับมาเหมือนช่วงก่อนสงครามอีกครั้ง

แฟ้มภาพซินหัว : วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แถลงข่าวทางโทรทัศน์ในกรุงมอสโกของรัสเซีย วันที่ 21 ก.พ. 2022

ชนวนเหตุของการเปิดการโจมตี

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ปราศรัยในช่วงเช้าของวันที่ 24 ก.พ. อ้างถึงเป้าหมายในการปลดอาวุธและปราบกลุ่มนาซีในยูเครน ซึ่งปูตินอ้างถึงกลุ่ม Azov Batallion ที่เคลื่อนไหวอยู่ในภูมิภาคดอนบาส ตั้งแต่ปี 2014 ที่ ภายหลังจากรัสเซียได้ผนวกไครเมีย และมีการประกาศจัดตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์และลูฮันสก์ (DPR และ LPR)”

นอกจากนี้ ในปฏิบัติการทางทหารในครั้งนี้ ยังได้กล่าวถึงการขยายอำนาจของกลุ่มชาตินาโต (NATO) มาทางด้านตะวันออก ซึ่งผิดข้อตกลงที่เคยเจรจากันไว้เมื่อก่อนโซเวียตจะล่มสลายในปี 1991

ไทม์ไลน์สำคัญในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

หลังจากที่รัสเซียได้เปิดปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบในช่วงต่าง ๆ และมีการปรับเปลี่ยนแนวรบในช่วงตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการตอบโต้อย่างดุเดือดจากยูเครนที่ได้รับแรงสนับสนุนจากทางชาติตะวันตกที่ช่วยสนับสนุนทั้งอาวุธ ยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนด้านมนุษยธรรมให้กับชาวยูเครนอย่างต่อเนื่อง โดยตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา มีจุดสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นโดยตลอด

กุมภาพันธ์ 2022 – เฟส 1 เปิดฉากปฏิบัติการทางทหาร

รัสเซียได้เปิดปฏิบัติการทางทหารโจมตีต่อยูเครนในช่วงเช้าของวันที่ 24 ก.พ. 2022 โดยหัวใจหลักมุ่งไปที่จุดยุทธศาสตร์ทางทหารหลายจุดทั้งในเคียฟ และคาร์คีฟ เพื่อว่าจะสามารถจัดการกับกองทัพยูเครนได้อย่างรวดเร็วและเบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายในเวลาไม่นาน

แต่การสู้รบกลับไม่เป็นเช่นที่คาดไว้ ยูเครนปักหลักสู้อย่างเหนียวแน่น แม้ว่า กองทัพรัสเซียจะบุกเข้าไปได้ลึก เหลืออีกไม่กี่สิบกิโลเมตรจากเคียฟ แต่กลับไม่สามารถโค่นรัฐบาลยูเครนลงได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการรุกที่รวดเร็ว ทำให้กองกำลังสนับสนุนจำนวนมากตามไม่ทัน ปัญหาสายส่งกำลังบำรุงที่ล่าช้าและมีปัญหา การสื่อสารที่ผิดพลาด ส่งผลให้แนวรุกหลายจุดหยุดชะงัก และกลายเป็นเป้านิ่งให้กับกองทัพยูเครน

(แฟ้มภาพซินหัว)

มีนาคม 2022 – รัสเซียปรับเฟส 2 ถอนกำลังด้านตะวันตก เสริมตะวันออก

ในแนวรุกด้านทิศใต้ของรัสเซีย สามารถเข้ายึดเมืองเคอร์สันไว้ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์จะเชื่อมต่อกับภูมิภาคไครเมีย ในขณะเดียวกัน รัสเซียได้ปรับแนวรบใหม่ทยอยถอนทหารออกจากทางตอนเหนือของเคียฟออกไป เนื่องจากประสบปัญหาไม่สามารถรุกคืบและยึดเคียฟได้ดังที่ตั้งใจไว้ และจัดกองกำลังใหม่ เพื่อเคลื่อนไหวทางด้านตะวันออกของยูเครนแทนการบุกยึดเคียฟ ซึ่งถูกเรียกว่า เป็นเฟส 2 ของปฏิบัติการทางทหารในครั้งนี้

และเมื่อถอนกำลังทหารออกไป ภาพของผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเรือนในเมืองบูชา ก็กลายเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงไปทั่วโลก โดยยูเครนระบุว่า เป็นฝีมือของทหารรัสเซีย และทั่วโลกต่างประนามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่รัสเซียปฏิเสธว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการจัดฉากของยูเครนที่ทำขึ้น เพื่อเผยแพร่ให้สื่อตะวันตกนำเสนอใส่ร้ายรัสเซีย

ในขณะที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อราคาสินค้าต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ร่วมกับมาตรการการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ทำให้สินค้าหลายชนิดส่อแววขาดแคลน และราคาพรุ่งสูงขึ้น สร้างความกังวลต่อวิกฤติการขาดแคลนอาหารทั่วโลก

เมษายน 2022 – ยึดดอนบาส

ในช่วงเดือนเมษายน ประธานาธิบดีปูตินให้สั่งทหารรัสเซียเข้ายึดพื้นที่ในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของยูเครน และแนวรุกของรัสเซียยังคงเดินหน้าเข้าสู่มาริอูปอล เมืองท่าอุตสาหกรรมของยูเครน ซึ่งเป็นการปรับแผนการรบครั้งใหม่ของรัสเซีย เพื่อเดินหน้ายึดภูมิภาคดอนบาสให้ได้

(แฟ้มภาพซินหัว)

พฤษภาคม 2022 – ยึดมาริอูปอล

หลังจากการต่อสู้ยืดเยื้อและยาวนาน รัสเซียก็ประสบความสำเร็จในการควบคุมเมืองมาริอูปอล ซึ่งเป็นเมืองท่า และอุตสาหกรรมเหล็กแหล่งสำคัญของยูเครนไว้ได้ กองกำลังอาซอฟกลุ่มสุดท้ายประกาศยอมจำนน หลังถูกปิดล้อมโรงเหล็กอาฟซอฟสตัล ทำให้ขาดการสนับสนุนกำลังบำรุงต่าง ๆ

การโจมตีของรัสเซียที่เกิดขึ้น สร้างความกังวลใจให้กับชาติตะวันตกหลายชาติ และส่งผลให้สวีเดน และฟินแลนด์ประกาศจะเข้าร่วมกลุ่มชาตินาโต แม้จะมีเสียงคัดค้านจากฮังการีและตุรกีก็ตาม

มิถุนายน 2022 – สมรภูมิเกาะงู

ยูเครนประสบความสำเร็จในการยึดเกาะงูจากรัสเซียได้สำเร็จ ท่ามกลางการต่อสู่อย่างดุเดือด ยาวนานหลายสัปดาห์ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมองว่า เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ส่งผลต่อการสู้รบในทะเลอาซอฟ

ในขณะที่ชาติตะวันตกหลายชาติ เริ่มถกเถียงกันถึงมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และบางส่วนมองว่า การคว่ำบาตรรัสเซียที่เกิดขึ้นนั้น “ล้มเหลว” และส่งผลกระทบต่อชาติตะวันตกมากกว่า จากราคาสินค้าต่าง ๆ ที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาวะขาดแคลนสินค้าบางอย่างของชาติในกลุ่มยุโรป เป็นต้น

(220305) — IRPIN, March 5, 2022 (Xinhua) — A Ukrainian soldier sits by the road in Irpin, Ukraine, on March 4, 2022. (Photo by Diego Herrera/Xinhua)

กรกฎาคม 2022 – เริ่มติดหล่ม – รัสเซียปรับเฟส 3

สถานการณ์การสู้รบของทั้งสองฝ่ายเริ่มส่อแววยืดเยื้อ หลังจากที่ต่างฝ่ายต่างยังไม่คืบหน้าในการรุกคืบ ในขณะที่ยูเครนเริ่มได้รับการสนับสนุนระลอกใหม่ จากกลุ่มชาติพันธมิตรหลายชาติ ทั้งอาวุธ ยุทโธปกรณ์ รวมถึงการฝึกทหารใหม่ เพื่อปรับรูปแบบการรบและการใช้อาวุธทันสมัยที่ได้รับมอบมา

ทางด้านของรัสเซียมีการปรับแนวรบในเฟสที่ 3 โดยมีเป้าหมายในเคอร์ซอนและซาโปริเซีย

สิ่งเดียวที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนนั่นคือ “เงินเฟ้อ” ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในยุโรปที่หลายชาติเผชิญกับเงินเฟ้อสูงที่สุดเป็นประวัติการ ท่ามกลางความกังวลการปิดท่อก๊าซของรัสเซีย และดันให้ราคาก๊าซพุ่งสูงขึ้น

ในขณะที่ความคืบหน้าในเชิงบวกครั้งแรกก็เกิดขึ้น หลังรัสเซียและยูเครนประสบผลสำเร็จในการเปิดเส้นทางขนส่งข้าวสาลีในทะเลดำ ผ่อนคลายความตึงเครียดต่อภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลก

(แฟ้มภาพซินหัว)

สิงหาคม 2022 – ยูเครนโต้กลับ

การมาของอาวุธทันสมัยอย่าง HIMARS ส่งผลให้ยูเครนสามารถโจมตีโต้กลับ ข้ามแนวปืนใหญ่ของรัสเซียได้มากขึ้น ส่งผลให้การใช้ปืนใหญ่สนับสนุนการรุกของรัสเซียประสบปัญหาอย่างมาก รวมถึงการโจมตีลึกไปยังแนวหลังของรัสเซียในแคว้นไครเมียได้

สถานการณ์การสู้รบที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย ดูจะกลายเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลให้กับหลายชาติในยุโรป หลังมีการปะทะกันและเกิดการระเบิดบริเวณใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าดังกล่าว โดยอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่า “การสู้รบบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่ต่างอะไรจากการฆ่าตัวตาย” ในขณะเดียวกันราคาก๊าซก็พุ่งสูงขึ้นหลังรัสเซียได้ปิดซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 1 ในช่วงวันที่ 31 สิงหาคม

ในขณะที่ผลการเจรจาเปิดเส้นทางที่เกิดขึ้น ทำให้เรือบรรทุกข้าวสาลีเที่ยวแรกจากยูเครนเดินทางถึงตุรกี ตามข้อตกลงระหว่างรัสเซียและยูเครน ช่วยผลคลายความกังวลต่อวิกฤติอาหารโลกได้มากขึ้น

กันยายน 2022 – ทวงคืนคาร์คีฟ

จากการโต้กลับทางด้านใต้ และสร้างความเสียหายให้กับรัสเซียได้ ทำให้ยูเครนเปิดแนวโต้กลับด้านตะวันออกเฉียงเหนือในคาร์คีฟ และสามารถรุกคืบไปยึดพื้นที่ของเมืองไลมานได้ รัสเซียต้องถอยร่นกลับไปตั้งหลักใหม่อีกครั้ง

ในขณะที่รัสเซีย ก็มีการประกาศระดมพลจำนวน 3 แสนนาย โดยระบุว่า เป็นการเรียกระดมพลบางส่วน เพื่อเข้าฝึกซ้อมตามปรกติ พร้อมกันนี้ ได้จัดการลงประชามติให้ประชาชนที่อยู่ใน ภูมิภาคโดเนตสค์ ลูฮานสค์ เคอร์ซอนและซาปอริซเซีย ลงความเห็นว่า จะเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียหรือใหม่ ทางด้านของชาติตะวันตกระบุว่า เป็นเรื่องหลอกลวงของรัสเซีย

และผลการลงประชามติได้ข้อสรุปว่า ทั้ง 4 ภูมิภาคดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย โดยประธานาธิบดีปูติน ได้ลงนามในเอกสารการผนวกดินแดนทั้ง 4 เข้ากับรัสเซีย ถามกลางความคลุมเครือถึงเส้นแบ่งแผนที่ที่ไม่ชัดเจน และไม่ได้รับการยอมรับจากยูเครนและชาติตะวันตก

โรงงานเหล็กอาซอฟสตัล ในเมืองมริอูปอล
(Photo by Victor/Xinhua)

ตุลาคม 2022 – รัสเซียเปลี่ยนท่าที

การรุกคืบของยูเครนในช่วงนี้ทำได้ค่อนข้างดี จากการที่ได้รับการสนับสนุนอาวุธทันสมัย และถูกนำไปใช้ในความพยายามการตัดสายส่งกำลังบำรุงที่สำคัญของรัสเซ๊ย เช่น สะพานข้ามช่องแคบเคิร์ซที่มาจากไครเมีย ทำให้สะพานได้รับความเสียหาย และการส่งกำลังบำรุงชะงัก

แต่รัสเซียก็เริ่มโต้กลับอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ ได้เปลี่ยนแผนเลือกโจมตีไปยังโครงสร้างพื้นฐานพลังงานหลายแห่งทั่วยูเครน ส่งผลให้ยูเครนตกอยู่ในความมืด และสร้างความกังวลใจต่อการที่จะต้องเผชิญฤดูหนาวอย่างยากลำบาก

นอกจากนี้ รัสเซียยังได้ประกาศแผนที่ใหม่ โดยควบรวมพื้นที่ของยูเครน คือ ลูฮานสก์ โดเนสค์ เคอร์สัน และซาโปริซเซีย ท่ามกลางการประนามจากหลาย ๆ ชาติต่อการควบรวมที่เกิดขึ้น

พฤษจิกายน 2022 – รัสเซียถอยออกจากเมืองเคอร์สัน

แม้ว่า รัสเซียจะสามารถยึดเมืองเคอร์สันไว้ได้ก่อนหน้านี้ แต่การโต้กลับที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทางยูเครนที่สามารถรุกได้มากขึ้น ส่งผลให้รัสเซียต้องถอนตัวออกจากเมืองเคอร์สัน มาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแ่น้ำดนิโปร แต่ยังคงครอบครองบางส่วนของภูมิภาคนี้ไว้ได้

ในขณะเดียวกัน ชาวโปแลนด์ก็ต้องตื่นตระหนกหลังมีรายงานขีปนาวุธตกในชายแดนโปแลนด์ที่ติดกับยูเครน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งในครั้งแรกถูกระบุว่า เป็นขีปนาวุธจากรัสเซีย ส่งผลให้ทั่วโลกหวั่นวิตกว่า นี่อาจจะเป็นชนวนเหตุของการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผลการตรวจสอบพบว่า เป็นขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศของยูเครนที่พลาดไปตกในดินแดนของโปแลนด์

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย (Photo by Victor/Xinhua)

ธันวาคม 2022 – ติดหล่มฤดูหนาว

สถานการณ์ของฤดูหนาวในยูเครน-รัสเซียส่งผลให้การรุกคืบของทั้งสองฝ่ายต้องชะงักงัน ท่ามกลางสภาพอากาศหนาว และการสู้รบที่ยากลำบาก ท่ามกลางกระแสข่าวการบุกครั้งใหญ่ของรัสเซียหลังผ่านพ้นฤดูหนาว ซึ่งประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก พร้อมกับร้องขอระบบป้องกันภายทางอากาศและอาวุธอื่น ๆ จากสหรัฐฯ

มกราคม 2023 – เปิดปีใหม่โจมตียูเครน

ในช่วงวันสิ้นปี ยังคงมีการโจมตียูเครนด้วยขีปนาวุธ และโครนกามิกาเซ่ อยู่เป็นระยะ ๆ ในขณะที่ยูเครนก็มีการใช้อาวุธตอบโต้ โดยเฉพาะการตอบโต้กลับไปยังที่ตั้งของกองทหารของรัสเซียส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ทางด้านของยูเครนได้เรียกร้องการสนับสนุนจากชาติพันธมิตร โดยเฉพาะการสนับสนุนรถถังและยานเกราะต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะทวงคืนพื้นที่ของยูเครนกลับมาอีกครั้ง

ส่วนแนวรบยังคงปักหลักและมีการสู้รบกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเมืองที่เป็นยุทธศาสตร์อย่างบัคมุท และภูมิภาคดอนบาส ซึ่งรัสเซียสามารถรุกคืบได้ เช่นที่เมืองโซเลดาร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเหมืองเกลือสำคัญของยูเครน

กุมภาพันธ์ 2023 – ไบเดนเยือนเคียฟครั้งแรก

ยูเครนได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก และนาโตมากขึ้น หลังบรรลุข้อตกลงการเจรจาในช่วงเดือนม.ค. 2023 ที่ผ่านมา ในขณะที่รัสเซียเองก็มีท่าทีของการเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้น การรุกคืบยังคงเดินหน้าโดยเฉพาะที่เมืองบัคมุท ที่รัสเซียยังคงเดินหน้าได้ แม้จะต้องแลกกับความสูญเสียไม่น้อยทีเดียว

และเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนกรุงเคียฟเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน ทางด้านของประธานาธิบดีเชเลนสกี ได้กล่าวถึงท่าทีของจีนโดยระบุว่า หากจีนจับมือกับรัสเซีย จะส่งผลให้สงครามขยายตัวขึ้นและอาจจะกลายเป็นสงครามโลกครั้งใหม่ แต่เชื่อว่า จีนเข้าใจสถานการณ์ในขณะนี้เป็นอย่างดี

(แฟ้มภาพซินหัว)

จุดสิ้นสุดที่มองไม่เห็น

แม้จะผ่านมาหนึ่งปีแล้ว แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ยังคงมองไม่เห็นที่จุดสิ้นสุดของการสู้รบที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และจะจบลงอย่างไร หลายฝ่ายต่างคาดการณ์กันว่า สุดท้ายแล้วสงครามที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

สิ่งที่หลงเหลืออยู่ในขณะนี้ คือเศษซากของสงครามที่เกิดขึ้นในยูเครน ทั้งซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนจำนวนมาก โครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายอย่างหนัก และร่างของผู้เสียชีวิตทั้งทหารและพลเรือน แต่ไม่ว่าสงครามครั้งนี้จะจบลงอย่างไร หรือเมื่อใด แต่ชีวิตของชาวยูเครนจะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว

บทความชุด “1 ปี รัสเซีย-ยูเครน”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง