คัดลอก URL แล้ว
[1 ปี รัสเซีย-ยูเครน] เศรษฐกิจโลกสั่นคลอนหลังขีปนาวุธระลอกแรกโจมตีเคียฟ

[1 ปี รัสเซีย-ยูเครน] เศรษฐกิจโลกสั่นคลอนหลังขีปนาวุธระลอกแรกโจมตีเคียฟ

บทความชุด “1 ปี รัสเซีย-ยูเครน”

24 กุมภาพันธ์ 2565 หลังจากสิ้นเสียงคำปราศรัยของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียไม่นาน ขีปนาวุธระลอกแรกก็ลอยข้ามน่านฟ้าเข้าสู่ดินแดนของยูเครน ตามแผนปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย เสียงระเบิดที่ดังขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก กลายเป็นข่าวด่วนขึ้นแทบทุกสื่อฯ ภายในเวลาไม่นาน เช่นเดียวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการโจมตีในครั้งนั้น ก็พุ่งขึ้นต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ซึ่งภาวะเศรษฐกิจโลกในขณะนั้นกำลังส่งสัญญาณที่จะกลับมาฟื้นคืนอีกครั้ง หลังเผชิญการระบาดของโควิด-19 มานานกว่า 2 ปี กลับต้องชะงักงันอีกครั้ง

ผ่านมาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว สำหรับปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในการโจมตียูเครน แม้ผลกระทบทางเศรษฐกิจในหลายด้าน จะเริ่มค่อย ๆ ปรับลดลงมาแล้วก็ตาม และแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกกำลังดีขึ้น แต่ผลพวงจากสงครามในยูเครน ยังคงส่งกระทบอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้

ที่มา – BOARD OF GOVERNORS of the FEDERAL RESERVE SYSTEM

ภาพรวม

เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบและอ่อนแอลง จากการโจมตีที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การค้าหยุดชะงักในหลายส่วน ในหลาย ๆ กลุ่มเช่น อาหาร ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศเพิ่มสูงขึ้น ภาวะการเงินโลกเข้าตึงตัวมากขึ้น ภาคธุรกิจโดยเฉพาะในยุโรปได้รับผลกระทบต่อจากมาตรการคว่ำบาตรที่สูงขึ้น และต้นทุนต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศพุ่งสูงขึ้น และจำนวนไม่น้อยก็พุ่งสูงขึ้นทำลายสถิติเก่าไปอย่างราบคาบ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าและพลังงานจากรัสเซีย อย่างสหภาพยุโรปหลายประเทศ ซึ่งสถานการณ์ในฤดูหนาวที่กำลังจะผ่านพ้นไป ถือเป็นโชคดีของยุโรป ที่อากาศไม่หนาวจัดมากอย่างที่คาดไว้ วิกฤติพลังงานจึงไม่เข้าสู่ภาวะขาดแคลนอย่างที่กังวลไว้ก่อนหน้านี้

(แฟ้มภาพซินหัว)

อย่างไรก็ตามการคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2023 นี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ในยูเครนอย่างใกล้ชิดว่า จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ อย่างไร หรือจะลุกลามใหญ่ขึ้นในอนาคต โดยองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะลดลงถึง 1.9% จากผลกระทบด้านอาหารและพลังงาน ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสงครามในยูเครน ที่สืบเนื่องจากวิกฤติโควิด-19

การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกจะเกิดขึ้นทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา หลายประเทศกำลังจะเผชิญความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2023 นี้ ซึ่งสหภาพยุโรป 27 ประเทศ คาดว่าจะเติบโตเพียง 0.2% ในปี 2023

ราคาน้ำมันและก๊าซ

หลังการโจมตีที่เกิดขึ้นเมื่อหนึ่งปีก่อน ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกทันที เนื่องจากรัสเซียถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ของโลก นั่นจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาพลังงานในตลาดโลก ทั้งน้ำมัน และก๊าซปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และกลายเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก

ภาพ – Burden of the global energy price crisis on households

ชาติตะวัน ได้มีแนวทางมาตรการคว่ำบาตรน้ำมัน และก๊าซจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้นทำให้ต้องหันไปหาน้ำมันจากแหล่งอื่นทดแทน โดยฉพาะยุโรปเผชิญกับราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว

สำหรับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็นหนึ่งในผลกระทบที่เป็นวงกว้าง และใหญ่หลวงสำหรับหลายประเทศที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากตลาดโลกท่ามกลางวิกฤติต่อเนื่องจากโควิด-19 เช่น ศรีลังกา บังคลาเทศ ทำให้ต้องเผชิญวิกฤติหนักยิ่งขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

โดยผลการศึกษาวิจัยพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในครัวเรือนเพิ่มขึ้นราว 62.6–112.9% และกระจายอยู่ในค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นอีกราว 2.7–4.8% โดยผันแปรไปตามปัจจัยของในแต่ละประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ประเมินว่า ส่งผลให้มีประชากรโลกราว 78 – 141 ล้านคนกลายเป็นคนยากจนขั้นรุนแรง

(221223) — IRKUTSK, Dec. 23, 2022 (Xinhua) — This photo taken on Dec. 18, 2022 shows equipment at Kovykta gas condensate field in Irkutsk, Russia. A new gas field and a new pipeline section were connected on Wednesday to Russia’s Power of Siberia pipeline, indicating full completion of the major gas route. (Xinhua/Meng Jing)

ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น

ภายหลังจากการโจมตีที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน ราคาข้าวสาลีขยับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากทั้งรัสเซียและยูเครน ถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังอาหารชนิดอื่น ๆ ที่ต้องอาศัยแป้งสาลี เช่น ขนมปัง บะหมี่ เผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น และในที่สุดก็มีการปรับราคาขึ้น

อาหารสัตว์ ก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน และส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาเนื้อสัตว์ ไข่ ที่สูงขึ้นตามไปด้วย

ภาพ – World Economic Situation and Prospects 2023

นอกจากนี้ ราคาปุ๋ยในที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในเวลาต่อมา ก็กำลังค่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและเป็นต้นทุนของเกษตรกร ทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ยังไม่นับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าเกษตร และอาหาร ดูจะเป็นคลื่นระลอกถัดมาที่ได้รับผลกระทบ และยังคงเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

ผลกระทบทั้งราคาอาหารโดยตรง ต้นทุนค่าก๊าซ ค่าขนส่งที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาอาหารทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดย FAO ระบุว่า ดัชนีราคาอาหารประจำปี 2022 ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 14.3% จากปี 2021 และเมื่อเทียบกับปี 2020 แล้ว เพิ่มขึ้นถึง 46% ที่มีผลพวงจากสถานการณ์โควิด-19 ร่วมด้วย และประชากรโลกราว 222 ล้านคน เผชิญกับความไม่มั่นคงด้านอาหาร

ชาวอินโดนีเซียต่อคิวเพื่อรอเติมน้ำมัน
(Photo by Bram Selo/Xinhua)

ห่วงโซ่อุปทานปั่นป่วน กระทบต้นทุน

มาตรการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้นของหลายชาติ ทำให้ต้องจัดหาสินค้าต่าง ๆ มาทดแทนจากตลาดอื่น ๆ ส่งผลให้ราคาในตลาดเพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงและจัดหาสินค้าจากตลาดอื่น ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ ที่เผชิญกับภาระค่าใช้จ่าย ต้นทุนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น การแย่งชิงสินค้า-วัตถุดิบต่าง ๆ มีสูงขึ้น และกลายเป็นคอขวดในหลายชนิดสินค้า ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลกระทบโดยอ้อม แต่กลับส่งผลต่อกลับห่วงโซ่อุปทานในหลายระดับ และเกิดการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการจัดหาวัตถุดิบต่าง ๆ จำนวนมาก

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นั่นย่อมหมายถึง “ต้นทุน” ของสินค้าหลายชนิดอย่างเลี่ยงไม่ได้ และผลกระทบจึงตกอยู่ที่ผู้บริโภคที่ต้องแบกรับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น

การเงินการลงทุน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่อการลงทุน และการเงินของภาคธุรกิจหลาย ๆ ส่วน ตั้งแต่การประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้เอกชนหลายรายต้องถอนการลงทุนออกจากรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็น ชาแนล แมคโดนัล เชลล์ เอ็กซอน และอื่น ๆ อีกหลายราย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทเหล่านั้น

จากหลาย ๆ ปัจจัยท่ามกลางความตึงเครียดต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะมองหาและย้ายเงินทุนกลับไปยังตลาดที่มีเสถียรภาพ มีความมั่งคง และน่าจะทำกำไรได้มากกว่า

ในขณะที่ปัจจัยของราคาสินค้าต่าง ๆ ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ธนาคารกลางของแต่ละประเทศต้องปรับนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ทำให้มีการถอนการลงทุนจากประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ส่งผลกระทบต่อค่าเงินสกุลต่าง ๆ ให้อ่อนค่าลงมากขึ้น ยิ่งทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าหลายชนิด โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซ เพิ่มสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจที่สั่นคลอนให้อ่อนแอลงไปอีก


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง