บทความชุด “1 ปี รัสเซีย-ยูเครน”
- EP.1 – ไทม์ไลน์สำคัญตลอด 1 ปี หลังรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน
- EP. 2 – เศรษฐกิจโลกหลังขีปนาวุธระลอกแรกโจมตีเคียฟ
- EP. 3 – จุดได้เปรียบ-เสียเปรียบ ของทั้งสองฝ่าย ใน 3 ระยะของการสู้รบ
ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาของการสู้รบในยูเครนหลังจากที่รัสเซียเปิดฉากโจมตีในเช้าวันที่ 24 ก.พ. หลังสิ้นสุดการปราศรัยของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินได้ไม่นานนัก แม้สถานการณ์ในขณะยังยากที่จะบอกว่า สมรภูมินี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด และสิ้นสุดลงอย่างไร แต่ในช่วงที่ผ่านมา แนวทางการสู้รบที่เกิดขึ้นในยูเครน ถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ หลัก ๆ ด้วยกัน และในแต่ละเฟสของการสู้รบนั้น ล้วนแล้วแต่มีประเด็นสำคัญที่แตกต่างกันไป ทั้งในแง่รูปแบบการโจมตี อาวุธที่ใช้ และปัญหาที่เกิดขึ้น
…
PHASE 1 : เปิดแนวรุกรวดเร็ว (ก.พ. – เม.ย. 2022)
KEY :
- เป้าหมายหลัก – เคียฟ, ยูเครน
- กลยุทธ์หลักของรัสเซีย – ใช้ขีปนาวุธโจมตีเป้าหมายสำคัญ โดยเฉพาะสนามบิน สร้างความได้เปรียบในการครองอากาศ, ใช้รถถังและยานเกราะรุกเร็ว
- การตอบโต้ของยูเครน – ใช้ความชำนาญพื้นที่ ตัดสายส่งกำลังบำรุง ชี้เป้าทำลายที่มั่นกองกำลังรัสเซีย
- จุดได้เปรียบ-เสียเปรียบ – รัสเซียได้เปรียบในการเปิดการโจมตีและรุกเร็ว แลกมาด้วยปัญหาสายส่งกำลังบำรุงที่ตามไม่ทัน
- อื่น ๆ – จรวดแบบ Anti-Tank Guided Missile (ATGM) อย่าง Javelin ดูจะโดดเด่นอย่างมากในการสกัดแนวรุกของรถถังและยานเกราะรัสเซีย
รัสเซียเปิดฉากการโจมตียูเครนในเช้าวันที่ 24 ก.พ. โดยใช้ขีปนาวุธโจมตีไปยังเป้าหมายสำคัญทางยุทธศาสตร์ทางทหารของยูเครนหลายแห่ง ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า สิ่งที่รัสเซียมุ่งเป้านั่นคือ การรุกอย่างรวดเร็ว ทะลวงเข้าไปให้ลึก และยึดเคียฟให้ได้
รัสเซียส่งรถถัง และยานเกราะ เข้าใน 3 แนวหลัก นั่นคือ ด้านตะวันตกของยูเครน จากเบลารุส, ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ จากรัสเซีย และด้านใต้ จากทางแคว้นไครเมีย โดยมีกำลังรบหลัก ๆ ที่เทไปทางแนวด้านตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือ หมายจะยึดเคียฟให้ได้อย่างรวดเร็ว สามารถยึดเมืองได้หลายเมือง ไม่ว่าจะเป็นในเชอร์โนบิล, ปริปยัต, บูชา โฮสโตเมล และวอร์เซล และสามารถยึดสนามบินสำคัญของยูเครนที่อยู่ใกล้กับเคียฟไว้ได้ เช่นเดียวกับด้านอื่น ๆ ที่สามารถทะลวงแนวรับของยูเครนมาได้ต่อเนื่องในหลายเมืองเช่นกัน
แต่ความรวดเร็วนั้น กลายเป็นปัญหา เนื่องจากบรรดารถถังและยานเกราะ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน ทั้งอาวุธ น้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงอาหาร สายส่งกำลังบำรุง ไม่สามารถส่งตามมาได้ทันการณ์ ทำให้แนวรุกต้องหยุดชะงัก และกลายเป็นเป้านิ่ง
ยูเครนได้ใช้ความชำนาญในพื้นที่ จัดกำลังพลขนาดเล็ก เข้าตัดแนวสายส่งกำลังบำรุง ซุ่มทำลายรถถังและยานเกราะด้วยปืนต่อสู้รถถัง ชนิดต่าง ๆ รวมถึงการใช้ปืนครก และปืนใหญ่โจมตีที่มั่นของรัสเซียได้รับความเสียหาย และนั่นทำให้ความสูญเสียเกิดขึ้นค่อนข้างมา สุดท้าย รัสเซียต้องถอยร่น และทิ้งรถถัง ยานเกราะจำนวนหลายคันทิ้งไว้
…
PHASE 2 : รุกแนวด้านตะวันออก (เม.ย. – ก.ย. 2022)
KEY :
- เป้าหมายหลัก – เมืองสำคัญด้านตะวันออกของยูเครน เช่น มาริอูปอล, เซเวโรโดเนสก์, ลิชิแกน,
- กลยุทธ์หลักของรัสเซีย – เน้นการใช้ปืนใหญ่ จากแนวหลังโจมตีพื้นที่เป้าหมาย ตามด้วยการส่งรถถัง ยานเกราะและทหารราบเข้าโจมตี มีการใช้ขีปนาวุธโจมตีคลังอาวุธ-จุดขนถ่ายกำลังบำรุง-ศูนย์ฝึกทหารของยูเครน
- การตอบโต้ของยูเครน – หลายเมืองจำต้องถอยร่นจากการขาดกำลังบำรุง ก่อนได้รับการสนับสนุนปืนใหญ่และกระสุน ช่วยยันแนวรับไว้ได้
- จุดได้เปรียบ-เสียเปรียบ – รัสเซียได้เปรียบในการเปิดการโจมตีและรุกเร็ว แลกมาด้วยปัญหาสายส่งกำลังบำรุงที่ตามไม่ทัน
…
จากความสูญเสียจำนวนมากของรัสเซียในเฟสแรกของการบุกยูเครน ทำให้กองทัพรัสเซียได้ปรับแผนใหม่ โดยถอนแนวรุกด้านตะวันตก ด้านทิศเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ล้อมเคียฟอยู่กลับ และดันแนวรุกด้านตะวันออกและด้านใต้ของยูเครนแทน
ส่วนทางด้านตะวันออก รัสเซียสามารถรุกคืบได้มาก ในภูมิภาคดอนบาสทั้งในไลมาน, ซีเวโรโดเนตสค์, ลิชิแกน แต่ก็มาติดอยู่ที่ “บัคมุท” ทำให้แนวด้านตะวันออกไม่สามารถรุกคืบเข้าไปได้ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งสามารถเชื่อมแนวรุกลงไปยังด้านทิศใต้ที่เคลื่อนกำลังพลจากแคว้นไครเมียร์ได้สำเร็จ และนั่นทำให้ มาริอูปอลถูกปิดล้อม
และจุดการสู้รบที่ยืดเยื้อดุเดือดเป็นจุดสำคัญแห่งหนึ่งก็เกิดขึ้นที่เมืองมาริอูปอลแห่งนี้ นั่นคือ โรงงานเหล็กอาซอฟสตัล ซึ่งถูกระบุว่า เป็นฐานที่มั่นของกองกำลังอาซอฟ โดยรัสเซียใช้การปิดล้อมพื้นที่ ตัดสายส่งกำลังบำรุงต่าง ๆ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และในที่สุดกองกำลังอาซอฟชุดสุดท้ายก็ยอมจำนน
ด้านที่รุกคืบ ก็เข้าไปยังเมืองซาปอริฌเฌีย ซึ่งจุดนี้รัสเซียสามารถเข้ายึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริฌเฌีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปได้ ท่ามกลางการปะทะกับบริเวณใกล้เคียง โดยรอบโรงไฟฟ้า และหลายชาติก็หวั่นเกรงว่า อาจจะกลายเป็นหายนะใหญ่หลวง หากมีการโจมตีที่รุนแรงไปยังโรงไฟฟ้าแห่งนี้
ในขณะที่ด้านใต้ รัสเซียได้ถอนกำลังที่ทะลวงเข้าลึกมาก วกกลับมาตีเมืองเคอร์สัน และพยายามโจมตีไปยังมิโคลายิฟและโอเดสซา ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของยูเครน และจุดนี้ยูเครนจำเป็นต้องต้านแนวรุกของรัสเซียให้ได้ เนื่องจากหากรัสเซียสามารถรุกได้ถึงโอเดสซา ยูเครนจะเผชิญกับวิกฤติอย่างมาก เพราะ
- ยูเครนจะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล กระทบการค้าการส่งออก
- การส่งกำลังบำรุงของยูเครนจากชาติพันธมิตรที่มาทางโรมาเนีย – มอลโดวา จะถูกปิด
- รัสเซียจะสามารถประสานกับกองกำลังบางส่วนที่ปักหลักอยู่ในมอลโดวาได้
โดยการรุกของรัสเซียนั้น ใช้การระดมยิงปืนใหญ่ 155 มม. จากแนวหลังเข้าปูพรมทำลายพื้นที่เป้าหมาย จากนั้นใช้รถถัง ยานเกราะ และทหารราบเข้าซ้ำ ยึดพื้นที่ หากยังไม่ได้จะถอยกลับ และระดมยิงปืนใหญ่ หรือขีปนาวุธซ้ำ โดยเฉพาะเป้าหมายหลักที่เป็นคลังอาวุธ จุดขนถ่ายอาวุธ-ยุทโธปกรณ์ ฐานที่มั่นของยูเครน รวมถึงศูนย์ฝึกทหาร เป็นต้น
ด้านยูเครนในช่วงต้นนั้น เผชิญกับความสูญเสียพื้นที่แนวรบต่อเนื่องจากปัญหาจากการโจมตีของรัสเซีย การสื่อสารที่ทำได้ยาก และยุทโธปกรณ์ที่ไม่เพียงพอ แต่ในภายหลังได้รับการสนับสนุน โดยเฉพาะปืนใหญ่และกระสุนจากชาติพันธมิตร สามารถยันแนวสู้รบกับรัสเซียได้
…
PHASE 3 : ติดหล่ม – ผนวกดินแดน – โต้กลับ (ก.ย. – ปัจจุบัน)
KEY :
- เป้าหมายหลัก – ส่วนใหญ่เป็นแนวด้านตะวันออกเป็นหลัก ซึ่งยูเครนสามารถทวงคืนเมืองคาร์คีฟ, เคอร์สัน กลับมาได้ แต่สมรภูมิเดือดอย่างเมืองบักมุท ท้ายที่สุดก็ตกอยู่ในการยึดครองของรัสเซีย นอกจากนี้ รัสเซียยังได้ประกาศผนวกดินแดน 4 แคว้นของยูเครนเข้ากับรัสเซีย ทำให้ยูเครนสูญเสียพื้นที่ 15% ของประเทศ ไป
- กลยุทธ์หลักของรัสเซีย – รัสเซียยังคงใช้รูปแบบของการโจมตีคล้ายเดิม คือเปิดการรุกด้วยปืนใหญ่ ในช่วงหลังจากโดนตอบโต้ด้วย HIMARS ที่มีระยะหวังผลไกลกว่า ก็มีการเปลี่ยนมาใช้ โครนกามิกาเซ่ บินข้ามแนวไปโจมตีเป้าหมายหลักแทน
- การตอบโต้ของยูเครน – ในระยะที่ 3 นี้ ยูเครนได้เปรียบจากการใช้ HIMARS ที่มีระยะยิงที่ไกลกว่า เน้นการเข้าเร็ว – โจมตีเร็ว – ถอนตัวเร็ว ในการตัดกำลังปืนใหญ่รัสเซีย แนวรุกของทหารราบเป็นระบบมากขึ้น จากการที่กำลังพลจำนวนไม่น้อยผ่านการฝึกจากในต่างประเทศที่เป็นชาติพันธมิตร การได้ Starlinks มาเสริมการสื่อสารมากขึ้น
- จุดได้เปรียบ-เสียเปรียบ – HIMARS มีระยะยิงที่ไกลกว่า คล่องตัวกว่า ทำให้ยูเครนได้เปรียบในแนวรุก ในขณะที่โดรนกามิกาเซ่ที่รัสเซียซื้อมาจากอิหร่าน บินข้ามแนวตัดกำลังบำรุงได้ดี สกัดกั้นได้ยาก ราคาถูกกว่า
…
ในช่วงปลายของการสู้รบในระยะที่ 2 ยูเครนได้รับมอบ จรวดหลายลำกล้อง HIMARS (High Mobility Artillery Rocket System) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอาวุธที่ทันสมัยจากสหรัฐฯ โดย HIMARS นี้ ถือว่า เป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนทิศทางการสู้รบ เนื่องจากพิสัยทำการที่ไกลกว่าปืนใหญ่ของรัสเซีย
นั่นทำให้ยูเครนสามารถยิงจรวด HIMARS จากหลังแนวปืนใหญ่ของตนเอง ไปยังที่ตั้งปืนใหญ่ของรัสเซียได้อย่างแม่นยำ รวมถึงจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ ด้วย เป็นการเสริมสมรรถภาพการรบให้กับยูเครนได้มากในการสู้รบในระยะที่สาม
เนื่องจากแม้ว่า ยูเครนจะได้รับปืนใหญ่ M777 จากสหรัฐฯ มา แต่ด้วยปริมาณการยิงจำนวนมากส่งผลให้ต้องพึ่งพากระสุนปืนใหญ่จำนวนมาก ตัวปืนใหญ่บางส่วนได้รับความเสียหายจากการยิงต่อเนื่อง ไม่ต่างจากปืนใหญ่ของรัสเซียที่มีรายงานลำกล้องแตกจากการยิงจำนวนมากเช่นกัน
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการเปิดการโต้กลับของยูเครนนั่นคือการได้รับมอบระบบอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink จากอีลอน มัสก์ ส่งผลให้การสื่อสารในแนวหน้าของยูเครนทำได้ดีขึ้น และเมื่อประสานงานกับอาวุธทันสมัยไม่ว่าจะเป็นปืนใหญ่ M777 หรือจรวด HIMARS ส่งผลให้การชี้เป้า การโจมตีสอดประสานกันได้ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพอย่างเห็นได้ชัด
ยูเครนได้ส่งสัญญาณการโต้กลับอย่างชัดเจนที่เมืองเคอร์สัน ทางตอนใต้ พร้อมค่อย ๆ รุกแนวรับของรัสเซียทวงคืนพื้นที่มาได้บางส่วน แต่จุดหลักกลับเป็นการบุกทวงคืนพื้นที่ในภูมิภาคาร์คีฟที่อยู่ทางตอนเหนือแทน เรียกได้ว่าเป็น Surprise Attack ทำให้รัสเซียต้องถอยออกจากคาร์คีฟ ส่วนทางด้านเคอร์สันนั้นก็มีการโจมตีตัดแนวสายส่งกำลังบำรุงของรัสเซียบริเวณแม่น้ำนีเปอร์ ส่งผลให้รัสเซียตัดสินใจถอยออกจากเมืองเคอร์สันด้านตะวันตกของแม่น้ำ
นอกจากนี้ ยูเครนยังได้เปิดการโจมตีไปยังสะพานไครเมีย เพื่อหวังจะตัดสายส่งกำลังบำรุงทางตอนใต้ของกองทัพรัสเซีย โดยพยายามอยู่หลายครั้ง จนประสบความสำเร็จจากการใช้คาร์บอม แต่รัสเซียก็ใช้เวลาไม่นานในการซ่อมบำรุงกลับมาอยู่ในสภาพที่พอใช้งานได้ และนั่นส่งผลให้รัสเซียเปลี่ยนการโจมตีไปยังโครงสร้างพื้นฐานของยูเครน เนื่องจากเป็นช่วงที่กำลังจะเข้าฤดูหนาว
ทางด้านของรัสเซีย เลือกใช้โครนที่สั่งซื้อมาจากประเทศอิหร่าน ในการตอบโต้ HIMARS ของฝั่งยูเครน และเปลี่ยนแนวการโจมตีไปยังโรงไฟฟ้าต่าง ๆ คลังเก็บเชื้อเพลิง ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานหลักอย่างไฟฟ้า ประปาได้รับผลกระทบ ทหารยูเครนมักเรียก โดรนเหล่านี้ว่า “เครื่องตัดหญ้าบินได้” จากเสียงดังของเครื่องยนต์
จุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ การที่โจมตีไปยังโรงไฟฟ้า ส่งผลกระทบต่อการสื่อสารในแนวหน้าของยูเครนในหลายจุด ส่งผลให้การชี้เป้าและโจมตีด้วย HIMARS ลดลง แหล่งข่าวใน Telegram หลายกลุ่มกล่าวถึง การขาดแคลนไฟฟ้า สำหรับสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนชาวยูเครนก็ได้รับผลกระทบจากการโจมตีที่เกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง
การสู้รบในช่วงปลายปี 2022 ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างสามารถรุกคืบได้ในบางจุด เสียฐานที่มั่นในบางจุด แต่ไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนในจุดใหญ่ หลายฝ่ายมองว่า สงครามที่เกิดขึ้นกำลังอยู่ในสภาวะ “ติดหล่มทั้งสองฝ่าย” จากหลายสาเหตุ เช่น
- กำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาว
- การสับเปลี่ยนกำลังพล
- ปัญหาการส่งกำลังบำรุง
- การโจมตีด้วยอาวุธยาว ได้ผลดี สูญเสียน้อยกว่า
อีกหนึ่งจุดสำคัญที่ยูเครนทำการตีโต้กลับได้ค่อนข้างดีคือ ในเมืองเคอร์สัน โดยเน้นการตัดสายส่งกำลังบำรุงตามจุดข้ามแม่น้ำดนีโปร โดยใช้ HIMARS โจมตีไปยังสะพานที่เป็นเส้นทางลำเลียงกำลังบำรุง ซ่อม-ลอบโจมตี จุดข้ามแม่น้ำของรัสเซีย ส่งผลให้แนวหน้าในเมืองเคอร์สัน ขนาดการสนับสนุนที่เพียงพอ และกำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาว ดังนั้น การถอนกำลังออกจากเมือง มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนีโปร จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับรัสเซีย
โดยจุดที่น่าสนใจของการสู้รบในช่วงเฟสที่ 3 นี้ แนวรุกของยูเครนทำได้ค่อนข้างดี เป็นระบบมากขึ้น เนื่องจากกำลังพลจำนวนมากได้รับการฝึกจากชาติพันธมิตร ส่งเข้ามาประจำการเป็นจำนวนมาก ในขณะที่รัสเซียอ้างว่า มีการส่งกำลังทหารต่างชาติเข้ามาบัญชการรบในแนวหน้าจำนวนมาก และสร้างความได้เปรียบมากขึ้น
ซึ่งรัสเซียได้ใช้โอกาสนี้ ย้ายแนวรบไปยัง “บักมุท” ที่เป็นสมรภูมิเดือดตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา จนกระทั่งเพิ่งประสบความสำเร็จเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง แลกกับการสูญเสียกำลังพล และยุทโธปกรณ์ไปไม่น้อย
แต่โดยภาพรวมแล้ว รัสเซียยังคงครอบครองดินแดนในช่วงปลายเฟสที่ 2 ไว้ได้ และเปิดการลงประชามติ ก่อนที่จะประกาศผนวกดินแดนทั้ง 4 แคว้นคือ ลูฮันสค์, โดเนตสค์, ซาเปริซเซีย และเคอร์สัน คิดเป็นพื้นที่ราว 9 หมื่นตารางกิโลเมตร หรือ 15% ของดินแดนของยูเครนเข้ากับรัสเซีย
…
ผ่านมา 1 ปี การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังคงดำเนินต่อไป และหลายฝ่ายคาดว่า หลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวไปแล้ว การสู้รบจะกลับมาดุเดือดอีกครั้ง ทั้งสองฝ่ายมีการเสริมกำลังทหาร อาวุธ และปรับแนวการรบในจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะถึงนี้ จึงจะต้องจับตามองสถานการณ์ต่อไปว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง