ปฎิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน ‘ธุรกิจร้านค้าออนไลน์’ ก็ยังคงได้รับกระแสความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพ่อค้า แม้ค้า สามารถมีหน้าร้านอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
จึงไม่แปลกที่ ‘ธุรกิจร้านค้าออนไลน์’ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย หลาย ๆ ก็เริ่มมาจับธุรกิจขายของออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจออนไลน์นั้น มีมูลค้าสูงนับล้านล้านบาทเลยทีเดียว
แต่กระนั้นในช่วงปี 2563 ก็เกิดข้อกังวล โดยเฉพาะร้านค้าออนไลน์ ภายหลังทางกรมสรรพากรได้ออก ‘พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์’ และมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือน มี.ค.63
โดยล่าสุดทางกรมสรรพากรได้ออกประกาศให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ทั้ง ธุรกิจ e-Commerce, บริการส่งอาหารและสินค้า บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ต้องนำส่งข้อมูลรายได้ของผู้ประกอบการ ร้านค้า ในระบบทั้งหมด ซึ่งมีผลบังคับใช้หลังวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
สาระสำคัญของประกาศ ‘กรมสรรพากร’ ล่าสุด
โดยประกาศอธิบดีกรมกรรพากร เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.66 เกี่ยวกับภาษีเงินได้ เรื่อง กำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษ โดยใจความสำคัญ คือ เป็นการประกาศให้แพลตฟอร์มที่ให้บริการซื้อ-ขาย สินค้าออนไลน์ นำส่งข้อมูลรายรับให้กับทางกรมสรรพากร โดยมีผลบังคับใช้หลังวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ซึ่งกำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม ที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และมีรายได้จากกิจการ หรือ เนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเกิน 1 พันล้านบาท ต้องมีบัญชีพิเศษ เพื่อแสดงข้อมูลรายรับของแพลตฟอร์ม จากผู้ประกอบการ ร้านค้าออนไลน์
ทั้งนี้จะต้องนำส่งให้กับกรมสรรพากร ภายใน 150 วัน รับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
ใครบ้างที่ต้องยื่น ‘ภาษีร้านค้าออนไลน์’ ?
ผู้ประกอบการ e-Commerce ที่ขายสินค้าหรือบริการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ มีสิทธิและหน้าที่ในการเสียภาษีเช่นเดียวกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีรายได้จากการขายสินค้า หรือ ให้บริการแก่ผู้ซื้อที่อยู่ ณ ที่ใด ๆ ก็ตาม มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ประกอบการค้าขายที่มีหน้าร้านทั่วไป
โดยต้องนำรายได้นั้นมารวมคำนวณยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ และมีหน้าที่จดทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามเงื่อนไขของกฎหมาย ซึ่งแบ่งการยื่นภาษีได้ดังนี้
- พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทั่วไป – ยื่นภาษีเงินได้บุคคลลธรรมดา
- ร้านค้าที่มีการจดทะเบียนในรูแบบบริษัท – ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล
- กรณีมียอดรายได้ในปีนั้น ๆ เกินกว่า 1.8 ล้านบาท – ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
อย่างไรก็ตามร้านค้าออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น บุคคลธรรมดา บริษัท ที่มีการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ จัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 40(8)
ร้านค้าออนไลน์ต้องยื่นภาษีเมื่อไหร่ ?
สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่มีรายได้เกินกว่า 60,000 บาท ต้องยื่นภาษี ทั้ง 2 แบบ คือ
- ภ.ง.ด.94 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภาษีครึ่งปี) ยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 30 ก.ย.ของทุกปี
- ภ.ง.ด.90 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ยื่นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. ของทุกปี)
กรณียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ภายใน 30 วัน และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าผู้ประกอบการจะมีรายรับหรือไม่ก็ตาม
การยื่นภาษีต้องใช้เอกสาร หลักฐาน อะไรบ้าง ?
สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่เข้าเกณฑ์ในการยื่นภาษี กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรม ต้องใช้แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 , ภ.ง.ด.94 รวมไปถึงเอกสารการลดหย่อนภาษีในประเภทต่าง ๆ เป็นต้น
กรณีนิติบุคคล ต้องใช้แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.50 , ภ.ง.ด.51 รวมไปถึงเอกสารรายรับรายจ่าย การรับรองจากผู้ตรวจบัญชี เป็นต้น
โดยสามารถยื่นภาษีได้ที่กรมสรรพากร หรือ สำนักงานสรรพากรจังหวัด ในวันและเวลาทำการ นอกจากนี้สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th
ข้อมูล – กรมสรรพากร