ผ่านพ้นข้ามปี 2566 มาแล้ว หลาย ๆ คน ที่เดินทางกลับบ้านตามภูมิลำเนา ต่างทยอยเดินทางกลับมาทำงาน ต่อสู่ชีวิตเพื่อดำรงชีพหาเลี้ยงครอบครัวกันต่อไป
ซึ่งการเปิดศักราชใหม่ในปี 2567 ประเด็นทางการเมืองที่กำลังเป็นที่พูดถึง คงหนีไม่พ้นเรื่องการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 หรือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ที่กำลังเข้มข้นอยู่ในสภา
โดยกรอบเวลาการอภิปรายกำหนดไว้ระหว่างวันที่ 3 -5 มกราคมนี้ รวม 43 ชั่วโมง ประธานของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้รับจัดสรรเวลาที่ 3 ชั่วโมง คณะรัฐมนตรี รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ฝ่ายละ 20 ชั่วโมง โดยแบ่งตามวันและเวลา ดังนี้
- วันที่ 3 มกราคมนี้ เริ่มเวลา 09.30 น. – 00.30 น. รวมเวลา 15 ชั่วโมง
- วันที่ 4 มกราคม เริ่มประชุมเวลา 09.00 น. – 00.30 น. รวมเวลา 15 ชั่วโมง 30 นาที
- วันสุดท้ายวันที่ 5 มกราคม เริ่มประชุมเวลา 09.00 น. – 21.30 น. ใช้เวลา 12 ชั่วโมง 30 นาที และลงมติเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาพิจารณาก่อนนำกลับเข้าสู่การพิจารณา ในวาระ 2 และวาระ 3 โดยมีกรอบเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน
ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องถือได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศอย่างมาก เพราะนั้นหมายถึงงบประมาณที่จะนำมาบริหารประเทศในหลาย ๆ มิติ
ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 67
โดยร่างฉบับดังกล่าว เป็นไปตามที่ทางคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ในวาระแรก โดยมีวงเงินงบประมาณ 3,480,000 ล้านบาท และมีงบกลางจำนวนกว่า 606,000 ล้านบาท ตามยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่
- ด้านความมั่นคง
- ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
- ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
- ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
- ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
คาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2567
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประเมินไว้ว่า เศรษฐกิจในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 – 3.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการส่งออก การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากการลดลงของแรงขับเคลื่อนด้านการคลัง ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคการเกษตร ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ท่ามกลางความเสี่ยงจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง
โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7 – 2.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.5 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ทั้งนี้ตัวเลขการประเมินข้างต้นอาจถูกกระทบโดยปัจจัยที่คาดไม่ถึงในอนาคต เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ราคาพลังงานที่ผันผวน การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และปัจจัยอื่น ๆ ในอนาคต
5 อันดับกระทรวง ได้งบประมาณสูงสุด
วงเงินงบประมาณ 3,480,000 ล้านบาท ที่ประกอบไปด้วย 6 ด้านนั้น จะถูกจัดสรรตามที่แต่ละกระทรวงได้มีการเสนอขึ้นมาต่อ ครม. โดย 5 อันดับกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด ได้แก่
- กระทรวงมหาดไทย กว่า 353,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนกว่า 27,000 ล้านบาท
- กระทรวงศึกษาธิการ กว่า 328,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 ล้านบาท
- กระทรวงการคลัง กว่า 327,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 42,000 ล้านบาท
- กระทรวงกลาโหม กว่า 198,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 3,800 ล้านบาท
- กระทรวงคมนาคม จำนวนกว่า 183,000 ล้านบาท ได้งบเพิ่มขึ้นกว่า 3,300 ล้านบาท
รายรับและงบประมาณรายจ่าย
ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิจำนวน 2,912,800 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 จากปีก่อนและหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 125,800 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,787,000 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,787,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 693,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับ จำนวน 3,480,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย
จากการเพิ่มขึ้นของประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะทำให้รัฐมีรายได้ 2,787,000 ล้านบาท หรือเพิ่มกว่าร้อยละ 11.9 ทำให้รัฐบาลมีการกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณลดลงจากปีงบประมาณที่ผ่านมา และสามารถตั้งงบประมาณชำระคืนต้นเงินกู้ การชดใช้เงินคงคลัง และการตั้งงบประมาณรายจ่ายลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้