คัดลอก URL แล้ว
“อภิมหาแผ่นดินไหว” ร่องน้ำลึกนันไก คืออะไร กระทบญี่ปุ่นอย่างไร ทำไมวิกฤติ

“อภิมหาแผ่นดินไหว” ร่องน้ำลึกนันไก คืออะไร กระทบญี่ปุ่นอย่างไร ทำไมวิกฤติ

หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.1 บริเวณนอกชายฝั่งจังหวัดมิยาซากิของญี่ปุ่นเมื่อบ่ายวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น ได้ออกมาเตือนถึงความเป็นไปได้ในการเกิด “แผ่นดินไหวขนาดใหญ่” ที่มาขนาด M8-M9 ในพื้นที่ 29 จังหวัดของญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ทางการญี่ปุ่นได้ออกมาแจ้งเตือนประชาชนถึงเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ตามแนวร่องลึกน้ำนันไก กลายเป็นที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลกในฐานะของ “อภิมหาแผ่นดินไหว” ที่อาจจะเกิดขึ้น และนั่นจะกลายเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น

1927 Kita-Tango Earthquake damage at Mineyama
(present-day “Kyotango City”)

ร่องน้ำลึกนันไกคืออะไร?

ร่องน้ำลึกนันไก เป็นร่องน้ำลึกใต้ทะเลยาวประมาณ 800 กิโลเมตร ตามแนวแผ่นเปลือกโลกระหว่างอ่าวซูรูงะในจังหวัดชิซูโอกะและทะเลเฮียวงานาดะนอกชายฝั่งเกาะคิวชู

บริเวณนี้ นับเป็นสถานที่ที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในระดับ 8 ถึง 9 ในทุก ๆ 1-2 ศตวรรษ ซึ่งแผ่นดินไหวในระดับที่เรียกว่า “megathrust quakes” นี้ มักจะก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ และพัดเข้าถล่มตามแนวชายฝั่งของญี่ปุ่น

โดยในปี ค.ศ. 1707 เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ตามแนวร่องน้ำลึกนันไก และทำให้แผ่นดินไหวในครั้งนั้น ถือเป็นเหตุแผ่นดินไหวใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศญี่ปุ่นเท่าที่เคยมีบันทึกไว้

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ภูเขาไฟฟูจิปะทุขึ้น ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของภูเขาไฟฟูจิที่มีรายงานการปะทุ และสงบลงจนถึงปัจจุบัน

ภายหลังจากนั้น ก็มีเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ในปี ค.ศ. 1854 จำนวน 2 ครั้ง ปีค.ศ. 1944 จำนวนหนึ่งครั้ง และอีกหนึ่งครั้งในปี ค.ศ. 1946

ญี่ปุ่นประเมินความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นซ้ำ

รัฐบาลญี่ปุ่นเคยประเมินไว้ว่า มีความเป็นไปได้ราว 70-80% ที่อาจจะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8-9 แมกนีจูดในช่วง 30 ปีข้างหน้า อาจเกิดคลื่นสึนามิสูงกว่า 10 เมตรพัดถล่มชายฝั่งทะเลด้านมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น หรือหากรุนแรงที่สุด อาจจะเกิดคลื่นสึนามิสูงได้ถึง 30 เมตร ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารโดยตรงแล้ว อาจจะทำให้หลายเมืองของญี่ปุ่นต้องเผชิญกับสภาพน้ำท่วมหลังสึนามิอีกด้วย

ผลกระทบที่อาจจะส่งผลให้มีบ้านเรือนได้รับความเสียหายราว 2 ล้านหลังคาเรือน ถูกทำลาย และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2.3 แสนราย หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ยอดผู้เสียชีวิตอาจจะสูงถึงกว่า 3 แสนรายในพื้นที่ 30 จังหวัดตั้งแต่คันโตถึงคิวชู ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 220 ล้านล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทยคือกว่า 57 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2 เท่าของงบประมาณของประเทศญี่ปุ่น

Yurakucho Station shortly after the Great Kantō earthquake of 1923.

หากเตรียมพร้อมช่วยลดผลกระทบลงได้มาก

ทางการญี่ปุ่นได้ออกมาประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วง 7 วันหลังจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.1 เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทางการญี่ปุ่นประเมินว่า หากสามารถอพยพผู้คนได้ก่อนที่สึนามิจะพัดถล่มชายฝั่ง จะช่วยลดการเสียชีวิตได้มากถึง 80%

รวมถึงการปรับปรุงสภาพอาคารต่าง ๆ ให้รองรับแผ่นดินไหว จะช่วยให้ความเสียหายจากอาคารถล่ม หรือไฟไหม้ลดลงได้อีก

โดยรัฐบาลญี่ปุ่นย้ำถึงการเตรียมพร้อม และไม่ตื่นตระหนกหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น ซึ่งขอให้ประชาชนเตรียมตัว ตั้งแต่การจัดเก็บที่พัก สิ่งของใช้ เฟอร์นิเจอร์ให้ปลอดภัย ไม่ร่วงหล่นหรือล้มลงมาทำอันตรายกับผู้พักอาศัย

ซึ่งหากเหตุอภิมหาแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ญี่ปุ่นประเมินว่า ผู้คน 9.5 ล้านคนต้องอพยพ ไปอยู่ตามศูนย์พักพิง สถานที่หลบภัย หรือบ้านญาติในจังหวัดอื่น ๆ ที่ปลอดภัย

เตรียมเช็คจุดสถานที่หลบภัยที่ใกล้ที่สุด พร้อมทั้งชุดอุปกรณ์สำหรับรับมือภัยพิบัติ เช่น น้ำดื่ม อาหารแห้ง ไฟฉาย วิทยุ และสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ รวมถึงช่องทางการติดต่อสมาชิกในครอบครัวไว้ด้วย หากเกิดเหตุการณ์ขึ้น

รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินว่า อาจจะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารราว 96 ล้านมื้อ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของการเตรียมรับมือภัยพิบัติ เนื่องจากมีรายงานว่า มีประชาชนราว 10% เท่านั้นที่เตรียมสำรองอาหารไว้นานพอกับระยะเวลา 10 วัน หากเกิดภัยพิบัติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเตรียมพร้อมไว้สำหรับ 3 วัน

ภาพวาดที่กล่าวถึงเหตุแผ่นดินไหว แผ่นดินไหวเซ็นโคจิ เมื่อปี ค.ศ. 1847

ความช่วยเหลืออาจจะไปไม่ถึง

ด้านหน่วยงานบรรเทาทุกข์ของญี่ปุ่น ได้ประเมินกันไว้ว่า ความช่วยเหลือ อาจจะต้องพึ่งพาเฮลิคอปเตอร์เป็นหลัก ในการช่วยเหลือ ลำเลียงผู้ประสบภัย หรือหน่วยกู้ภัยต่าง ๆ เนื่องจากเส้นทางจะถูกตัดขาดทั้งจากสึนามิ น้ำท่วมขัง หรือซากอาคารที่พังถล่ม

อย่างไรก็ตาม ทางการญี่ปุ่นได้กล่าวถึงความช่วยเหลือหลังภัยพิบัติ หากเกิดอภิมหาแผ่นดินไหวอาจจะล่าช้า ขึ้นอยู่กับพื้นที่ประสบภัย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จำนวนหน่วยดับเพลิง และชุดกูัภัยต่าง ๆ นั้นดูจะไม่เพียงพอต่อการรับมือภัยพิบัติในแต่ละพื้นที่ จะมีการระดมกำลังทหารจากหน่วยต่าง ๆ ภายใน 72 ชั่วโมง แต่ก็คาดว่า อาจจะมีเพียง 45% ของกองกำลังที่จะสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ และตัวเลขในความเป็นจริงอาจจะต่ำกว่านี้

แต่ความช่วยเหลือยังคงขึ้นอยู่กับระดับของความเสียหายที่เกิดขึ้น หน่วยดับเพลิงที่ตั้งอยู่ใจกลางภัยพิบัติ อาจจะปฏิบัติงานได้ไม่ทั่วถึง ทั้งจากอุปกรณ์ การขนส่ง รวมถึงอาหาร

นอกจากนี้ การจัดลำดับของความสำคัญ ความเร่งด่วนของการให้ความช่วยเหลือ อาจจะทำให้บางพื้นที่ได้รับความช่วยเหลือที่ล่าช้าออกไป หน่วยดับเพลิงราว 80% ยอมรับว่า การประเมินและจัดลำดับความสำคัญเหล่านี้ อาจจะทำให้บางพื้นที่ไม่ได้รรับการช่วยเหลือ โดยเฉพาะการร้องขอความช่วยเหลือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ที่อาจจะไม่ได้รับตรวจสอบ หรือดูแลมากเท่าที่ควร

ดังนั้น สิ่งที่ทางการญี่ปุ่นแนะนำคือ การให้ชาวญี่ปุ่นเตรียมพร้อม และพยายามช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งรวมไปถึง “ที่พักอาศัยชั่วคราว” ที่อาจจะไม่เพียงพอต่อการรับมือ

ซึ่งคาดว่า อาจจะมีความต้องการที่พักอาศัยชั่วคราวมากกว่า 1 ล้านยูนิตทั่วประเทศ และนั่นหมายถึงชาวญี่ปุ่นกว่า 3 ล้านคนจะไม่มีที่อยู่อาศัยชั่วคราว จนกว่า เมืองจะได้รับการฟื้นฟู

ภาพถ่ายเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น

เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจ “หยุดชะงัก”

จากสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบกันเป็นลูกโซ่และกลายเป็น “วิกฤติระดับชาติ” ความเสียหายคาดว่า จะมากกว่า 220 ล้านล้านเยน

พื้นที่อุตสาหกรรมที่อยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลแปซิฟิกตั้งแต่แถบคันโต ไปจนถึง คิวชู จะได้รับความเสียหาย อุตสาหกรรมเหล็ก รถยนต์ของญี่ปุ่นจะต้องหยุดชะงัก ยังไม่นับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ถนน ทางด่วน และรถไฟสายต่าง ๆ

แม้ว่า พื้นที่ทางด้านตะวันตกของญี่ปุ่นจะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะกระทบกับความเสียหายต่อเนื่องกันเป็นเหมือน “โดมิโนล้ม” ห่วงโซ่อุปทานต่าง ๆ จะชะงัก กลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน หรือกว่าที่ญี่ปุ่น จะกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้งอาจจะกินเวลานานได้ถึง 20 ปี


ที่มา –


ข่าวที่เกี่ยวข้อง