คัดลอก URL แล้ว
PM 2.5 กับปัญหาที่มากกว่าเรื่องของ ‘ฝุ่น’

PM 2.5 กับปัญหาที่มากกว่าเรื่องของ ‘ฝุ่น’

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ ที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘PM 2.5’ ถูกพูดถึงในทุกปีเมื่อเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนฤดูกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูหนาวเช่นนี้ จริง ๆ แล้วปัญหา PM 2.5 เกิดมาหลาย 10 ปี แล้ว แต่เป็นที่พูดถึงในประเทศไทย คือเมื่อช่วงปี 2562 ด้วยสถานการณ์ที่รุนแรงทั่วประเทศ ไม่เว้นแต่ในเมืองกรุง ทำให้สังคมเกิดการตื่นตัวกับปัญหา PM 2.5 อย่างมาก

ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทยที่เดียว ปัญหาดังกล่าวกลับกลายเป็นว่าในหลายประเทศทั่วโลก ต้องเผชิญปัญหานี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศอุตหกรรม ความแออัดทางด้านการจราจรต่าง ๆ ปัญหาหมอกควันไฟป่า อย่างในประเทศ สหรัฐฯ และอินเดีย เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยก็ถูกจัดอันดับในลำดับต้น ๆ ของโลก ที่เผชิญกับสถานการณ์ PM 2.5 ด้วยเช่นกัน

ในกรณีเคสศึกษาของ ‘หมอกฤตไท’ เจ้าของเพจ สู้ดิวะ ที่ถูกมะเร็งปอดระยะสุดท้ายคร่าชีวิตไป อันเนื่องมาจากต้องเผชิญอยู่ในสภาพอากาศที่ย้ำแย่ ที่มี PM 2.5 รายล้อมอยู่รอบตัว จนเป็นคำถามในสังคมว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้หรือจริง ?

แม้ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ภาครัฐ และเอกชน จะพยายามร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ PM 2.5 จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี แน่นอนว่าปัญหาที่ตามมานอกจากส่งผลกระทบต้องคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้ว ย่อมส่งผลกระทบไปถึงในหลายภาคส่วน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ลามกันไปเป็นทอด ๆ ที่มากกว่าแค่เรื่อง ‘ฝุ่น’ เสียแล้ว…

ฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM2.5 หรือชื่อเต็มคือ Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron เป็นฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็น 1 ใน 8 ตัว วัดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ซึ่งมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์

มันสามารถผ่านการกรองของขนจมูกและเข้าสู่ชั้นในสุดของปอดได้ แม้ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 จะไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกายแบบเฉียบพลัน แต่ต้องใช้เวลาสะสมนับ
สิบปีถึงจะแสดงผล อันตรายจากฝุ่น PM2.5 คือ มันสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางพาสารอื่น ๆ เข้าสู่ปอด ด้วยการให้สารเหล่านั้นมาเคลือบบนผิว ของมัน เช่น สารก่อมะเร็ง สารโลหะหนัก เป็นต้น

โดยปกติแล้วฝุ่น PM2.5 จะเกิดขึ้นมากในช่วงที่เปลี่ยนฤดูกาล จากฤดูหนาวสู่ฤดูร้อน ในช่วงปลายฤดูหนาวของทุกปี บริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมเป็นระลอก ๆ ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิลดลงโดยทั่วไป โดยมีอากาศเย็นถึงหนาว และหนาวจัดบางพื้นที่

แต่มีบางช่วงความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณดังกล่าว มีกำลังอ่อนลง จึงส่งผลให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนลง หรือมีลมสงบตามไปด้วย ประกอบกับมีการผกผันกลับของอุณหภูมิ (Inversion) ในระดับล่าง ส่งผลให้ระดับเพดานการลอยตัว และการกระจายตัวของฝุ่นละอองอยู่ในระดับต่ำ การไหลเวียนและถ่ายเทของอากาศไม่ดี จึงทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง หมอก และควัน ในบรรยากาศมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจัยที่ทำให้เกิด PM 2.5

สาเหตุของการเกิดฝุ่นละอองมีหลายปัจจัย เช่น โรงผลิตไฟฟ้า ควันท่อไอเสียจากรถยนต์ การเผาไม้ทำลายป่า เผาขยะ รวมถึงควันบุหรี่ด้วย ซึ่งปกติแล้วกิจกรรมต่างๆ ที่คนเราทำทุกวันก็ส่งผลให้เกิดฝุ่นละอองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่แหล่งต้นตอสำคัญของ PM2.5 ในบรรยากาศ คือ การเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์ และฝุ่นจากการก่อสร้าง

ตัวเมืองที่มีตึกสูงรายล้อมเหมือน “กรุงเทพ” จะมีลักษณะคล้าย ๆ แอ่งกระทะ เกิดการสะสมของเจ้าฝุ่นร้ายได้ง่าย ซึ่งปกติฝุ่นเหล่านี้จะลอยขึ้นไปในอากาศ ถูกลมพัดฟุ้งกระจายไป แต่ถ้าวันไหนที่อากาศนิ่ง ไม่ค่อยมีลมพัด ฝุ่นละอองจะไม่ฟุ้งกระจาย

ส่งผลให้ระดับความเข้มของฝุ่นในพื้นที่นั้น ๆ สูงมากขึ้นจนกลายเป็นระดับที่อันตรายต่อสุขภาพ และเจ้าฝุ่น ร้ายมักวนเวียนอยู่มากในช่วงกลางคืน แต่จะค่อยๆ จางหายไปเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นส่องสว่างในยามเช้า

กว่า 15 ปี ภาคเหนือ เผชิญ PM 2.5

ภาคเหนือประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 มานานกว่า 15 ปี แต่ละช่วงเพิ่มระยะเวลานานขึ้นเรื่อย ๆ จาก 2-3 เดือนเป็น 4-5 เดือน วิกฤตที่เพิ่มทวีความรุนแรงขึ้นในทุกปี จนทำให้จังหวัดเชียงใหม่ ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษฝุ่น PM2.5 สูงที่สุดในโลก ซึ่งสาเหตุมีหลายปัจจัยทั้งที่ควบคุมได้ และไม่สามารถควบคุมได้

สถิติจังหวัดภาคเหนือตอนบนมีพื้นที่เผาไหม้มากที่สุด ปี 2566 ระยะเวลา 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ได้แก่ แม่ฮ่องสอน 22.05%, ตาก 13%, ลำพูน 12.83%, ลำปาง 9.83%, น่าน 9.32%, เชียงใหม่ 8.50%, แพร่ 7.88%, พะเยา 6.85% และเชียงราย 5.08%

ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ทำให้เห็นว่า การเผาป่าภาคเหนือตอนบนยังไม่ลด

มาตรการคุมเข้ม PM 2.5 รัฐบาลเศรษฐา

ปัญหา PM 2.5 ในประเทศไทยปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ปัญหาดังกล่าว คือ จากภาคการเกษตร โดยทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมมือกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้มงวดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่การเกษตรที่เสี่ยงต่อการเผาไหม้ทั้งนาข้าว ข้าวโพดและอ้อย ต้องล็อคเป้า ต้องมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และขอความร่วมมือเกษตรไม่ให้มีการเผาเลยในช่วง 2 – 3 เดือนนี้ ซึ่งเป็นช่วงวิกฤต

โดยได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้มีมาตรการป้องกัน ควบคุม และบทลงโทษอย่างเข้มงวด และกระทรวงเกษตรฯ จะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการเผา โดยอาจจะพิจารณางดความช่วยเหลือจากภาครัฐหากมีการเผาในพื้นที่ เช่น นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท พื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ เช่น พื้นที่ สปก. พื้นที่ คทช. ต้องไม่มีการเผา

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนำผลการประเมินค่าฝุ่นละออง PM 2.5 มาเป็นการชี้วัดค่า KPI ของผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ ว่า ปัญหา PM2.5 ถือเป็นปัญหาใหญ่ โดยพื้นที่ที่มีปัญหาก็ต้องปรับปรุงสภาพอากาศให้ดีขึ้นซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจงาน

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเมืองกรุง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ต้นตอของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น คาดว่ามาจากรถยนต์พื้นที่ไหนที่มีการจราจรแออัดหนาแน่น บวกกับสภาพอากาศที่กดลงมามากทำให้อากาศไม่ถ่ายเท อัตราการไหลเวียนของอากาศจึงน้อย

โดยเฉพาะคนที่ใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลอายุเกิน 7 ปี ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 1 ล้านคัน รถเหล่านี้ถึงแม้จะผ่านการตรวจควันดำ แต่ก็ยังปล่อย PM 2.5 ออกมาจำนวนมาก

ทั้งนี้กรุงเทพมหานครก็มีมาตรการร่วมกับกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะออกมาตรการเพื่อดึงดูดใจคนที่ใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล และเครื่องยนต์เก่ามาเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองในราคาที่ถูกลง

แค่ต้นปี 66 พบผู้ป่วย 1.32 ล้านคน

ข้อมูลจากทางกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในช่วงต้นปี 66 จากการเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 5 มีนาคม 2566 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 ราย

โดยแค่เฉพาะสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มี.ค.66 พบผู้ป่วย 196,311 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ที่พบ 161,839 ราย กลุ่มโรคที่เจ็บป่วยสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 583,238 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 85,910 ราย,

กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 267,161 ราย เพิ่มขึ้น 35,878 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ 242,805 ราย เพิ่มขึ้น 36,537 ราย และโรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 ราย เพิ่มขึ้น 33,413 ราย

ปัญหาของฝุ่น แต่กระทบเศรษฐกิจ?

จากข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เมื่อปี 63 ได้วิเคราห์ว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงนั้น ในมิติของค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ ด้านการท่องเที่ยว และค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจอื่นที่อาจได้รับผลกระทบจากการที่ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

โดยมองว่า ผลทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในมิติดังกล่าวข้างต้นระหว่างวันที่ 5 ม.ค.- 5 ก.พ. 2563 คิดเป็นเม็ดเงินรวมราว 3,200–6,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับกรอบระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา แบ่งเป็น ค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ (ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ) 2,000-3,000 ล้านบาท โดยกว่า 75% เป็นค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว 1,000-2,400 ล้านบาท

เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติบางส่วนหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล และค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจอื่น เช่น ร้านอาหารข้างทาง สวนอาหาร ตลาดนัด 200-600 ล้านบาท โดยได้คำนึงถึงผลบวกที่อาจเกิดขึ้นต่อร้านค้าหรือร้านอาหารที่มีบริการจัดส่งถึงที่พักแล้ว


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง