คัดลอก URL แล้ว
มีแฟนขี้หึง ทำไงดี? จิตวิทยากับอาการหึงหวง ควรจัดการอย่างไร

มีแฟนขี้หึง ทำไงดี? จิตวิทยากับอาการหึงหวง ควรจัดการอย่างไร

มีแฟนขี้หึง บางคนอาจจะรู้สึกอึดอัด แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร แนะนำแนวทางข้อมูลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นแนวทางให้เข้าใจถึง ความหึงหวง ว่าคืออะไร ความหึงหวง กับความรัก ต่างกันไหม? มีการฝึกดูแลจัดการความหึงหวงอย่างไร การหึงหวงแบบไหนที่เข้าข่ายผิดปกติ และจะมีวิธีการรักษาได้หรือเปล่า ไปติดตามกันได้ในบทความนี้

ความหึงหวง คืออะไร?

ความหึงหวงเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในความสัมพันธ์ เมื่อไหร่ที่ความสัมพันธ์ถูกทำให้สั่นคลอน ความหึงหวงจึงเกิดขึ้น ซึ่งมักเกิดจากความรู้สึกอันหลากหลาย ทั้งความโกรธ ความเสียใจ ความกลัววิตกกังวล ความอับอายละอายใจ ความหึงหวงจึงเป็นความรู้สึกที่รุนแรงควบคุมได้ยาก โดยความหึงหวงมักจะเป็นสัญญาณเตือนว่าความสัมพันธ์ที่มีนั้นไม่ให้ความรู้สึกปลอดภัยและอาจจะบานปลายแย่ลงจนนำไปสู่ความรุนแรงหรือการล่วงละเมิดได้ อีกทั้งอารมณ์หึงหวงยังเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ใช่แค่กับคู่รัก อาจจะเกิดกับเพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง สิ่งของ ก็สามารถทำให้เกิดอารมณ์หึงหวงได้ หากสิ่งที่เป็นที่รักเหล่านั้นอาจจะถูกเอาไปจากเรา

ความหึงหวง กับ ความรัก ต่างกันไหม อย่างไร?

ความรัก คือความรู้สึกที่มีความเห็นอกเห็นใจ และความห่วงใยซึ่งเป็นอารมณ์ในเชิงบวก ในทางกลับกันความหึงหวงไม่ได้เกิดจากความรักแต่เป็นอารมณ์ด้านลบที่เกิดจากความกลัวว่าจะถูกแย่งบางสิ่งบางอย่างไปโดยเฉพาะความรัก

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความหึงหวง

คนที่ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง/low self esteem ความเหงาความโดดเดี่ยว คนที่มีนิสัยพฤติกรรมก้าวร้าว ความคาดหวังที่ไม่สมดุล การเติบโตการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม บุคลิกภาพแบบพึ่งพา

การฝึกดูแลจัดการความหึงหวง

1.กุญแจที่สำคัญที่สุด คือ self-awareness
ซึ่งเป็นการตระหนักรู้และรู้จักตัวเอง สามารถรับรู้เข้าใจทั้งความคิด อารมณ์ความรู้สึก ความต้องการความคาดหวัง รวมถึงเข้าใจว่าจะเกิดผลอย่างไร ทำให้เกิดการยอมรับและแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมตามมา
2.การสื่อสารพูดคุย
โดยการพูดออกไปอย่างตรงไปตรงมา โดยเลือกที่จะสื่อสารเน้นบอกความรู้สึกของตัวเอง แทนที่จะเป็นการไปจู่โจมหรือตำหนิอีกฝ่ายหรือการพูดอ้อมค้อม เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการปรับความเข้าใจกัน และอธิบายซึ่งกันและกัน มีการทำข้อตกลงร่วมกัน ช่วยกันหาจุดที่ละเลยและเสริมสร้างความสัมพันธ์กัน ซึ่งจะช่วยให้ความสัมพันธ์มีความสบายใจมากขึ้น
3.ยอมรับอารมณ์ความรู้สึก
ความหึงหวงเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อมีสิ่งกระตุ้นดังที่กล่าวมาเบื้องต้น แม้ความหึงหวงทำให้รู้สึกไม่ดี แต่หากมองให้ลึกลงไปแล้วนั้นความหึงหวง คือสัญญาณเตือนที่ดีว่าเรามีส่วนไหนภายในจิตใจที่ยังไม่ได้รับการเติมเต็มซ่อมแซมดูแล

4.ให้เวลากับการดูแลตนเอง
การหากิจกรรมอื่น ๆ เพื่อเปลี่ยนสิ่งโฟกัสและทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย หรือการขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจ แต่ถ้าหากสิ่งที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพจิตและการใช้ชีวิต การเข้ารับการดูแลโดยบุคลากรผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต จะสามารถช่วยให้ปรับและทำความเข้าใจภาวะทางจิตใจของตนเองได้ดีขึ้น

อาการหึงหวงแบบไหนที่เข้าข่ายผิดปกติ / มีวิธีรักษาไหม?

โรคจิตหลงผิดแบบคิดว่าคู่ของตนนอกใจ (Delusional disorder, jealous type) เป็นโรคที่เกิดจากความเชื่อหรือความคิดที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เรียกว่า อาการหลงผิด โดยมีอาการตั้งแต่หนึ่งเดือนขึ้นไป ส่วนชนิดของการหลงผิดมีหลายชนิด พบได้บ่อยที่สุด คือชนิดหวาดระแวง ซึ่งอาการหลงผิดต่าง ๆ จะส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตในหลายมิติ ในส่วนของอาการหลงผิดแบบคิดว่าคู่นอกใจ อาจส่งผลให้เกิดการทำร้ายร่างกาย และใช้ความรุนแรงนำไปสู่ปัญหาครอบครัวในที่สุด

วิธีการรักษา

จะเน้นไปที่สัมพันธภาพในการรักษา ความสัมพันธ์ที่ดีในการรักษาจะสามารถช่วยผู้ป่วยได้ดี โดยการรับฟังด้วยความเข้าใจ ไม่โต้แย้งคัดค้านอาการหลงผิดว่าไม่จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สนับสนุนความเชื่อของผู้ป่วย และอีกส่วนคือการรักษาด้วยยารักษาโรคจิต แต่หากอาการรุนแรงผู้ป่วยจะต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

ขอบคุณข้อมูลจาก: พญ.เต็มหทัย นาคเทวัญ จิตแพทย์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพจิต (Mental Health Center) โรงพยาบาลนวเวช

บทความแนะนำ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง