น้ำนมแม่ แหล่งอาหารหลักสำหรับทารก มีความสำคัญต่อพัฒนาการทางร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยได้เติบโตได้อย่างปกติและแข็งแรง และคุณแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว เป็นเวลา 4 – 6 เดือน ก่อนเริ่มให้อาหารเสริม และหากเป็นไปได้ควรกินนมต่อไปให้นานที่สุด แต่ในบางคนเจอกับภาวะน้ำนมน้อย ทำให้มีน้ำนมไม่เพียงพอ จึงทำให้มีการบริจาคน้ำนมแม่เกิดขึ้น หลายคนอาจจะสงสัยว่า น้ำนมแม่บริจาคได้มั้ย แล้วจะดีหรือไม่ดีอย่างไร ไปพบคำตอบกันค่ะ
น้ำนมแม่ บริจาคกันได้มั้ย?
อ้างอิงข้อมูลจาก แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคน้ำนมแม่ว่า
นมแม่จากการบริจาค มีความจำเป็นสำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนดหรือทารกน้ำหนักตัวน้อยผิดปกติ หรือเด็กป่วยโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องได้รับการผ่าตัดเกี่ยวกับลำไส้ โดยต้องเป็นนมแม่บริจาคที่ได้ผ่านกรรมวิธีตรวจและฆ่าเชื้อโรคแล้วอย่างมีมาตรฐาน ต้องมีระบบธนาคารน้ำนม (milk bank ) ที่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์และมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด
สำหรับคุณแม่ที่จะ บริจาคนม จำเป็นต้องได้รับการซักประวัติ และการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่าไม่มีการติดเชื้อ ไม่ใช้ยาหรือ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพน้ำนมที่บริจาค และนมที่ได้รับบริจาคจะต้องถูกตรวจสอบจากธนาคารน้ำนม มีการตรวจคัดกรองเชื้อโรคต่างๆ
ทั้งนี้ตามสื่อออนไลน์ที่หลายๆ คนอาจจะได้เห็นเกี่ยวกับเรื่องการนำเสนอความเห็นในการบริจาคน้ำนมแม่ให้กับแม่ที่ไม่มีน้ำนมที่เพียงพอที่จะเลี้ยงลูกนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นความตั้งใจดี แต่การแจกจ่ายกันเองเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำและไม่ถูกต้อง
น้ำนมแม่ VS น้ำแม่บริจาค ต่างกันมั้ย?
น้ำนมแม่จากเต้า มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต พัฒนาสมองและดีต่อสุขภาพของลูกน้อย เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับน้ำนมแม่บริจาคที่มาจากการบริจาคที่ถูกต้องตามมาตราฐานนั้น ในส่วนของสารอาหารจะมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เด็กยังได้รับประโยชน์จากคุณค่าสารอาหาร แต่ในส่วนของภูมิคุ้มกันมักสลายไปพอสมควรถ้าเทียบกับภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากนมแม่ของตัวเองโดยตรง
เด็กแรกเกิดควรให้กินนมแม่ของตนเองอย่างน้อยหกเดือนเพื่อช่วยสร้างภูมิต้านทานต่อต้าน เชื้อโรค และช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ อย่างไรก็ตาม กรมอนามัยเผยว่าไม่สนับสนุนการบริจาคนมให้กันเองโดยไม่มีการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อ เพราะอาจมีผลต่อสุขภาพของเด็ก ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ขั้นตอน การบริจาคน้ำนมแม่
สำหรับคุณแม่ที่ต้องการบริจาคน้ำนม ลองดูขั้นตอนกันไว้ก่อนดังนี้
- คุณแม่โทรติดต่อธนาคารนมแม่ โทร. 066-121-7747 เพื่อขอบริจาคน้ำนม
- นัดพบเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าตรวจเลือดและตรวจสุขภาพ หลักการเดียวกับบริจาคเลือด
- มาบีบน้ำนมที่ธนาคารนมแม่
- แบ่งใส่ขวดไซส์ L
- ลงเครื่องพาสเจอไรซ์
- แบ่งเข้าตู้ใส่ขวดละ 2 ออนซ์
- ตรวจมาตรฐาน
- วิเคราะห์สารอาหาร ผ่านเครื่องสารอาหาร
- เก็บเข้าตู้เย็นอุณหภูมิ -21
- ส่งให้ทารกที่จำเป็น
สรุป การบริจาคน้ำนมแม่ ทำได้มั้ย?
สามารถทำได้ แต่จะต้องทำให้ถูกต้องตามมาตราฐานความปลอดภัย ไม่ควรแจกจ่ายกันเอง โดยต้องโทรติดต่อธนาคารนมแม่และทำตามขั้นตอนเท่านั้น!
ที่มา : กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, rama.mahidol