ฝุ่น PM 2.5 มลพิษที่ลอยในอากาศ ปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นไม่จบในประเทศไทย ทั้งนี้ค่าฝุ่นมีค่าเกินมาตรฐานทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑล และอีกหลายจังหวัด ซึ่งมีผลกระทบอันตรายต่อสุขภาพทั้งทางเดินหายใจ ทางผิวหนัง คนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วยิ่งอาจจะมีอาการกำเริบหนัก ในที่นี้ขอพูดถึงผลกระทบทางผิวหนัง สำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางผิว เช่น ลมพิษ ยิ่งต้องระวัง อ่านวิธีที่ป้องกันที่ถูกต้องดังนี้
อากาศร้อนอบอ้าวกับโรคผิวหนัง
อากาศร้อนอบอ้าว แดดแรงเจิดจ้า ในช่วงนี้ มักจะทำให้สุขภาพผิวของมนุษย์เกิดปัญหาโรคต่างๆ ตามมาได้ เนื่องจากร่างกายมีการขับเหงื่อออกมามากกว่าปกติ อาจทำให้เกิดโรค ผดผื่นคัน ผดแดง ผดร้อน อาจจะมีอาการเป็นตุ่มแดงๆ ตุ่มใสๆ บริเวณ หน้าอก คอ หลัง โดยเฉพาะในกลุ่ม เด็กเล็ก คนเจ้าเนื้อ ผู้สูงวัย
ภูมิแพ้ผิวหนัง โรคลมพิษ ระวังกำเริบเมื่อเจอ ฝุ่น PM 2.5
และยิ่งในช่วงนี้มีปัญหา ฝุ่น PM 2.5 มลพิษที่ลอยในอากาศด้วย บวกกับอากาศร้อนๆ ในกลุ่มคนที่มีโรคทางผิวหนังเรื้อรังด้วยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งต้องระวังให้มากขึ้น เพราะจะยิ่งทำให้อาการกำเริบได้ เช่น
- กลุ่มที่ความต้านทานของผิวหนังน้อย เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ
- กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง เช่น ภูมิแพ้ผิวหนัง ลมพิษ สะเก็ดเงิน ฯ
ยกตัวอย่างผลงานวิจัย ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีผลกระทบกับผิวหนังของมนุษย์
- ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 ทำลายเซลล์ผิวหนังกำพร้าของมนุษย์โดยตรง ทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังที่มากขึ้น
- มีงานวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่า ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 เพียงแค่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สามารถกระตุ้นการอักเสบของผิวหนังได้แล้ว ซึ่งฝุ่นละอองนี้จะทำให้การทำงานของเซลล์ผิวหนังผิดปกติไป ทั้งในด้านกลไกการป้องกันของผิวหนังจากสิ่งแวดล้อมภายนอก และการซ่อมแซมผิวหนัง
- ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สามารถจับตัวกับสารเคมีและโลหะต่าง ๆ และนำพาเข้าสู่ผิวหนัง มีผลทำร้ายเซลล์ผิวหนัง และ กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคันที่ผิวหนัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคผิวหนังเดิมอยู่แล้ว เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน สิว ผมร่วง จะทำให้มีการระคายเคือง คันมากขึ้น ผื่นกำเริบมากขึ้นได้
- มีงานวิจัยในต่างประเทศถึงระยะเวลาของการสัมผัส ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่มีต่อเซลล์ผิวหนังมนุษย์โดยทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า เซลล์ผิวหนังมนุษย์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อสัมผัส ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ 2 ชั่วโมงขึ้นไป
- ในระยะยาวฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ต่อผิวหนังมนุษย์ พบว่า ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระที่สามารถส่งผลร้ายต่อเซลล์ผิวหนังมนุษย์ ทั้งในกระบวนการสร้างเซลล์ ซึ่งส่งผลต่อภาวะความชราของผิวหนัง รวมถึงจุดด่างดำบนชั้นผิวหนังด้วย
วิธีป้องกันผิวหนังจาก ฝุ่นละออง PM 2.5
หากต้องออกไปใช้ชีวิตประจำวันข้างนอก ไม่ว่าจะออกไปเรียน หรือไปทำงาน สำหรับผู้ที่มีโรคผิวหนังเรื้อรังอยู่แล้ว แนะนำดังนี้
- เว้นการออกไปในบริเวณที่มีปริมาณฝุ่นมลพิษปริมาณมาก
- หากจำเป็นต้องออกไปจริงๆ ให้สัมผัสให้สั้นที่สุด
- เลือกใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกาย ให้มิดชิด แต่ผ้าโปร่งเบาสบายระบายอากาศได้ดี เพราะอากาศร้อนด้วย หากยิ่งมีเหงื่อก็ยิ่งทำให้ร่างกายร้อนอบอ้าว ผิวหนังเกิดการอุดตันจากเหงื่อมากไปอีก
- ทาโลชั่นหรือครีมกันแดด ที่มีส่วนช่วยในการปกป้องผิวจากมลภาวะหรือฝุ่นละออง
- ชำระล้างทำความสะอาดผิวหนัง เมื่อกลับถึงที่พัก
อ้างอิงจาก : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล