“แสงแดดมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน แต่หากได้รับแสงแดดปริมาณมากเกินไป หรือนานกว่า 15 นาที รังสียูวีในแสงแดดก็สามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมทั้งผิวหนัง ดวงตา และก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง โดยแสงแดดก่อให้เกิดผลกระทบดังนี้
ในระยะสั้นจะทำให้เกิดอาการผิวคล้ำ (Tanning) โดยอาการผิวคล้ำจะแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับคือ
- การเกิดผิวคล้ำโดยทันที (Immediate Pigment Darkening, IPD)
- การเกิดผิวคล้ำขึ้นทีหลัง (Delayed Tanning, DT) ภายหลังที่ผิวหนังสัมผัสกับแสงแดด ซึ่งสามารถหายได้เองโดยธรรมชาติ
อาการผิวไหม้แดด จะเกิดหลังโดนแดดประมาณ 2-6 ชั่วโมง ในบางรายอาจมีอาการปรากฏให้เห็นหลังโดนแดดเพียง 30 นาที ความรุนแรงของอาการผิวไหม้แดดจะขึ้นอยู่กับปัจจัยร่วมต่างๆ อาทิ สภาพผิว ระดับความเข้มของแสงแดด และระยะเวลาที่ผิวหนังสัมผัสกับแสงแดด โดยจะมีอาการแตกต่างกัน สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ
· ผิวไหม้แดดเล็กน้อย ผิวจะมีอาการแดง บางรายมีอาจมีอาการเจ็บปวดเล็กน้อย เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง ผิวบริเวณที่ไหม้แดดจะลอก เนื่องจากกระบวนการผลัดเซลล์ผิวหนัง
· ผิวไหม้แดดปานกลาง ผิวจะมีอาการไหม้ แสบ คัน บางรายอาจมีอาการบวมแดง แสบ รวมถึงเกิดอาการผิวคล้ำ
· ผิวไหม้แดดรุนแรง ผิวจะมีอาการไหม้แดดอย่างรุนแรง ปวดแสบปวดร้อน เกิดเป็นตุ่มน้ำร่วมกับอาการคัน และอาจต่อการเกิดโรคเพลียความร้อน (Heat exhaustion) และโรคลมแดดหรือฮีตสโตรก (Heat stroke) โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ
คนที่มีผิวขาวอาจเกิดอาการผิวไหม้ได้ง่ายกว่าคนเข้ม
ปกติแล้วผิวหนังจะมีกลไกปกป้องผิวจากแสงแดด โดยจะสร้างเม็ดสีผิวหรือเมลานิน (Melanin) ทำให้ผิวมีสีน้ำตาลแดงจนถึงสีดำขึ้นมา ทำหน้าที่เหมือนแผ่นกรองแสง ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดและรังสียูวี โดยร่างกายจะผลิต เมลานินได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ คนที่ผิวผลิตเมลานินได้น้อยหรือคนที่มีผิวขาว เมื่อสัมผัสกับแสงแดดผิวก็อาจจะเกิดอาการผิวไหม้ได้ง่ายกว่าคนที่ผลิตเมลานินได้มากกว่าหรือคนที่มีผิวเข้มกว่า ส่วนระยะเวลาที่ผิวไหม้แดดจะหายกลับมาเป็นปกตินั้นขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ ดังนี้
· ระดับที่ไม่รุนแรง อาการปวดและแดงจะลดลงภายใน 3-5 วัน อาจมีอาการผิวลอกในช่วงวันสุดท้าย เนื่องจากมีการผลัดเซลล์ผิวเพื่อสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาทดแทน
· ระดับรุนแรงปานกลาง ยังคงมีอาการเจ็บปวด ผิวบวมแดง และแสบร้อนเมื่อสัมผัสโดน ต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในการฟื้นฟูให้ผิวกลับมามีสภาพปกติ และผิวอาจลอกหลังจากหายเป็นปกติแล้วประมาณ 2-3 วัน
· ระดับรุนแรงมาก ยังคงมีอาการแดงมาก แสบร้อน มีตุ่มน้ำ (second degree sunburn) เกิดขึ้น ต้องใช้เวลารักษามากกว่า 2 สัปดาห์จนกว่าสภาพผิวจะฟื้นฟูเป็นปกติขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละบุคคล
วิธีดูแลผิวหลังจากเกิดอาการ ผิวไหม้แดด
หากอาการผิวไหม้แดดในระดับที่ไม่รุนแรง ซึ่งผิวใหม่ที่ขึ้นมานั้นจะยังมีสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอ แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีตุ่มน้ำขนาดใหญ่และอาจต้องเจาะให้น้ำออก ควรใช้เข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อและทำการล้างแผลให้สะอาดก่อนด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์สำหรับล้างแผล โดยเลือกเจาะบริเวณขอบของแผลและปล่อยให้น้ำข้างในไหลออกมาให้หมด จากนั้นควรทายาฆ่าเชื้อรูปแบบครีมขี้ผึ้ง (Topical Antibiotic Ointments) เพื่อป้องกันแผลไม่ให้ติดเชื้อ และเลือกเครื่องแต่งกายที่ไม่แน่นจนเกินไปเพื่อลดการเสียดสี
นอกจากนี้ยังสามารถใช้วิธีต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการได้ อาทิ
- ใช้ผ้าเย็นหรือผ้าชุบน้ำประคบลงบนผิว ควรหลีกเลี่ยงน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นจัด
- หลีกเลี่ยงการขัดถูผิว แต่ให้ใช้วิธีการซับอย่างเบาๆ มือแทน
- ทาครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ คาลาไมน์ หรือชิโซะ เพื่อบรรเทาอาการแห้งและสูญเสียน้ำ ควรทาทันทีหลังอาบน้ำเสร็จขณะที่ตัวหมาดๆ
- มาส์กหน้าเพื่อฟื้นฟูสภาพผิวให้สว่างใส อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แนะนำให้เลือกมาส์กที่มีส่วนผสมของสารสกัดธรรมชาติที่มีคุณสมบัติในการคืนความกระจ่างใสสู่ผิว อาทิ สารสกัดจากผลองุ่น (Grape extract) และสารสกัดจากรากหม่อน (Mulberry root extract) หรือกลุ่มที่เพิ่มความชุ่มชื้นสู่ผิว อาทิ สารสกัดจากพืชทะเลทราย (Ougon extract), สารสกัดจากทีฮาโลส (Trehalose extract) หรือสารสกัดที่ช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวอ่อนๆ อย่าง AHA หรือกรดผลไม้ที่อ่อนโยน รวมถึงสารสกัดที่สามารถลดเลือนริ้วรอยได้
- ดื่มน้ำเปล่าเพื่อชดเชยและป้องกันการสูญเสียน้ำของร่างกาย
- หากมีตุ่มน้ำควรปล่อยตุ่มน้ำให้แตกเองตามธรรมชาติ และล้างหรือทำความสะอาดแผลที่แตกแล้วบ่อย ๆ หากใช้วิธีบรรเทาแล้วยังไม่ได้ผลควรไปพบแพทย์ทันที
- หลีกเลี่ยงการออกแดดจนกว่าผิวจะหายดี เพราะผิวไหม้แดดจะมีความบอบบางและไวต่อแสง ทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย”
ขอบคุณข้อมูลจาก : แพทย์หญิงกนกวรรณ เศรษฐพงศ์วนิช