คัดลอก URL แล้ว
ทำไมเดินแล้วรู้สึกเมื่อยเท้า ระวัง! ภาวะเท้าแบน กำลังเล่นงานคุณอยู่

ทำไมเดินแล้วรู้สึกเมื่อยเท้า ระวัง! ภาวะเท้าแบน กำลังเล่นงานคุณอยู่

คุณเคยได้ยินคำว่า “ภาวะเท้าแบน” มั้ย? เคยลองสังเกตบ้างหรือเปล่าว่าลักษณะรูปเท้าของเราเป็นอย่างไร ทำไมเดินแล้วรู้สึกเมื่อย ในขณะที่คนอื่นไม่เป็นอะไรเลย อาการนี้แหละที่กำลังบอกคุณว่า ภาวะเท้าแบน มาเยือนซะแล้ว!!

เท้าแบน (Flat Feet) สังเกตได้ง่ายๆ คือ เมื่อลุกขึ้นยืนฝ่าเท้าจะราบแนบไปกับพื้นทั้งหมด หรือภาวะเท้าแบนเกิดขึ้นตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก เนื่องจากฝ่าเท้าของเด็กมีไขมันและเนื้อเยื่ออ่อน ทำให้มองเห็นอุ้งเท้าตรงฝ่าเท้าได้ไม่ชัด แต่เมื่อโตขึ้นช่องโค้งก็จะค่อยๆ ปรากฏขึ้นมา บางคนอาจได้รับการถ่ายทอดลักษณะดังกล่าวมาทางพันธุกรรม นอกจากนี้ ภาวะเท้าแบนอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือเสื่อมสภาพไปตามอายุ

เท้าแบนเกิดจากความผิดปกติของเท้าที่มีโครงสร้างผิดปกติไป และโครงสร้างของเส้นเอ็นที่คล้องอยู่บริเวณอุ้งเท้า ทำให้เท้าไม่ปกติ ไม่สมดุลพอดี จึงส่งผลให้เท้าที่ควรพัฒนาขึ้นตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ไม่มีความโค้งของอุ้งเท้าจากที่ควรเป็น สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ชัดตอนอายุ 1 ขวบขึ้นไป ว่ามีความโค้งของอุ้งเท้าหรือไม่ และชัดเจนมากขึ้นตอนอายุ 8-9 ขวบ

รูปแบบเท้ามี 3 ลักษณะ

  1. Normal arch เท้าปกติ จะสามารถมองเห็นอุ้งเท้าชัดเจน
  2. Flat arch เท้าแบน อุ้งจะไม่มีหรือมีน้อย เท้าแบนราบติดพื้น คนกลุ่มนี้จะค่อนข้างมีปัญหาทางด้านการเดิน
  3. High arch เท้ามีอุ้งเท้าสูง คือ มีอุ้งเท้าเยอะเกินไป

คนเท้าแบนจะต้องใช้ชีวิตผิดจากคนทั่วไปหรือไม่?

ระหว่างคนเท้าแบนกับคนเท้าปกตินั้นไม่ต่างกัน เพียงแต่ต้องเลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับรูปแบบเท้า เพื่อให้เกิดความสมดุลในการเดิน โดยอาจจะใส่รองเท้าเพื่อสุขภาพ ควรเว้นรองเท้ามีส้นสูง จะทำให้การถ่ายโอนน้ำหนักเปลี่ยนไป ไม่ต้องใส่รองเท้าส้นสูง ถ้าจำเป็นต้องใส่ออกงานไม่ควรสูงเกิน 1 นิ้ว

ควรพบแพทย์หากมีอาการเหล่านี้

สำหรับผู้ที่ประสบภาวะเท้าแบนไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา หากไม่ได้มีอาการเจ็บปวดใดๆ ที่เท้า แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดภาวะเท้าแบนควรไปพบแพทย์หากมีอาการดังนี้

  1. รู้สึกเจ็บฝ่าเท้า แม้จะสวมรองเท้าที่ใส่สบายและรองรับเท้าแล้ว
  2. รู้สึกเจ็บที่อุ้งเท้าและส้นเท้า
  3. ฝ่าเท้าด้านในบวมขึ้น
  4. ยืนไม่ค่อยได้ หรือเคลื่อนไหวทรงตัวบนเท้าลำบาก
  5. เจ็บหลังและขา
  6. รองเท้าที่เคยสวมได้ ไม่สามารถสวมได้ และชำรุดเร็วเกินไป
  7. เท้าแบนมากยิ่งขึ้น
  8. ฝ่าเท้าอ่อนแรง รู้สึกชา หรือเกิดอาการฝ่าเท้าแข็งฃ

สาเหตุของภาวะเท้าแบน

สาเหตุมาจากการใช้งานหนัก เช่น ยืนนานๆ หรือเดินมาก จะรู้สึกปวดบริเวณอุ้งเท้า ส้นเท้าและข้อเท้าด้านใน หากเป็นมากขึ้นอาจยืนเขย่งปลายเท้าไม่ได้ เมื่อเท้าผิดรูปจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยการรักษา มุ่งเน้นการป้องกันไม่ให้มีการผิดรูปเกิดขึ้น ควบคุมน้ำหนัก ปรับกิจกรรม ใช้อุปกรณ์เสริมในรองเท้าและปรับรองเท้า อาจรับประทานยาหรือทำกายภาพบำบัดร่วม

อาการเท้าแบนนั้นอาจไม่ได้ส่งผลร้ายแรง ถ้าเรารู้จักดูแลตนเองไม่ปล่อยให้น้ำหนักมากเกินไป เท้าของเราก็จะไม่ต้องรับน้ำหนักมากขึ้น และการออกกำลังกายของคนเท้าแบนนั้นก็ไม่ได้มีข้อแตกต่างจากคนเท้าปกติ แต่ต้องเลือกรองเท้าให้เหมาะสม หากมีอาการบอบช้ำแนะนำให้เอาเท้าแช่น้ำอุ่น 5-10 นาที ก่อนนอนก็จะช่วยลดอาการปวดได้ และการมีสุขภาพที่ดีไม่ได้เกิดจากการดูแลรักษาเท้าเพียงอย่างเดียว ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายให้เพียงพอ เท่านี้สุขภาพกายใจก็จะมีความสมดุลมากขึ้น

ที่มา : ชมนภัส วังอินทร์ team content www.thaihealth.or.th / รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง