หากคุณตกอยู่ในสถานการณ์ค้างชำระผ่อนรถเกิน 3 เดือน และได้รับการแจ้งเตือนจากทางธนาคาร นั่นหมายความว่ารถที่คุณซื้อผ่อนกับทางไฟแนนซ์ จะมีโอกาสสูงที่จะถูกยึดคืน ซึ่งจะไม่ได้มีแค่เสียรถอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจจะทำให้คุณเสียโอกาสดี ๆ อย่างมหาศาลเลยทีเดียว
แต่ก่อนที่คุณจะถูกยึดรถ ยังมีวิธีที่คุณสามารถขอผ่อนผันเพื่อไม่ให้ถูกยึดรถได้ รวมทั้งยังได้โอกาส และยังมีวิธีที่ดีกว่าที่คุณไม่จำเป็นต้องรอนับถอยหลังถูกยึดรถโดยเปล่าประโยชน์
อ่านบทความเพิ่มเติม
- จะเกิดอะไรขึ้นหากเผลอเติม ‘น้ำมันเครื่อง’ เกินขีดบน?
- วิธีถนอมผ้าเบรกที่คุณทำได้ไม่ยาก ช่วยคุณทั้งประหยัด และอุ่นใจ
- อยากได้รถมาใช้แต่ติด ‘เครดิตบูโร – แบล็คลิสต์’ ถ้าจะออกรถทำได้หรือไม่?
ผลกระทบของการถูกยึดรถ
มีประวัติเสียเครดิต: เมื่อผู้เช่าซื้อทำสินเชื้อกู้ไฟแนนซ์เพื่อซื้อรถ ประวัติของคุณจะถูกส่งไปยังเครดิตบูโรทันที และหากคุณมีประวัติค้างชำระจนถูกยึดรถแล้ว คุณก็จะติดแบล็คลิสต์เครดิตบูโร หมายความว่าเครดิตธุรกรรมทางการการเงินของคุณจะเสียทันที ซึ่งคุณไม่สามารถกู้เงินธนาคาร และค้ำประกันให้ใครได้ และถึงแม้จะผ่าน 3 ปี การขอสินเชื่อต่าง ๆ หรือการกู้เงินก็จะยากขึ้น
ต้องจ่ายค่าผ่อนต่อแม้ถูกยึดรถแล้ว: รถที่ถูกธนาคารหรือไฟแนนซ์ยึดไป จะถูกขายทอดตลาดเป็นรถมือสอง (ซึ่งคุณจะได้ราคาขายที่ต่ำมาก) แล้วหากคุณยังมีหนี้คงเหลือเท่าไร ทางไฟแนนซ์ก็จะเรียกจ่ายส่วนต่างจากคุณเพิ่มด้วย อีกทั้งก็อาจจะมีค่าชดใช้เมื่อเกิดความเสียหายอีกด้วย
สิ่งที่เจ้าของรถต่อรองได้ก่อนถูกยึดรถ
4 เดือนแห่งการต่อรอง: ไฟแนนซ์จะสามารถยึดรถได้ก็ต่อเมื่อผู้เช่าซื้อเดิมค้างชำระค่างวดนานเกินกว่า 4 เดือนขึ้นไป (แบ่งเป็น 3 เดือนที่ผิดนัดชำระ และ 1 เดือนเตือนก่อนยึดรถ) ซึ่งถ้าไฟแนนซ์ยึดรถก่อนเวลาที่กำหนดจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 (คุ้มครองเกี่ยวกับสัญญา) ซึ่งในช่วงระยะเวลา 3 – 4 เดือน ดังกล่าว ผู้เช่าซื้อเดิมสามารถเรียกตำรวจมาเป็นพยาน เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟแนนซ์บังคับ หรือข่มขู่ได้
ปรับปรุงโครงสร้างหนี้: หากคุณยังคงมีความจำเป็นที่จะใช้รถ แต่มีเหตุผลพอที่ทำให้ต้องค้างชำระค่างวดในระยะเวลาหนึ่ง ทางไฟแนนซ์ก็จะแนะนำมาตรการ “ปรับปรุงโครงสร้างหนี้” ด้วยการนำยอดหนี้ที่เหลือมาคำนวณ และขยายระยะเวลาผ่อนรถออกไป ซึ่งจะทำให้ยอดผ่อนในแต่ละเดือนลดลง แม้ว่าจะส่งผลให้ต้องใช้ระยะเวลาผ่อนนานขึ้น ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่ก็จะช่วยให้การจ่ายค่างวดไหลลื่นยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการถูกยึดรถ และเสียเครดิตบูโรในระยะยาว
เปลี่ยนสัญญา-ขายดาวน์ให้ผู้อื่น: วิธีนี้ผู้เช่าซื้อเดิมสามารถเปลี่ยนสัญญาให้ผู้อื่นได้ผ่อนต่อได้ หากยอดหนี้ที่เหลือต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งวิธีนี้ผู้เช่าซื้อเดิม และผู้ที่ทำสัญญาใหม่จะต้องติดต่อกับทางไฟแนนซ์เพื่อเปลี่ยนสัญญา และขายดาวน์ให้ผู้อื่นครอบครองต่อ ซึ่งวิธีนี้แม้จะทำให้คุณเสียรถ แต่ก็จะไม่เสียเครดิตบูโร และยังได้เงินดาวน์มาเป็นเงินก้อนจำนวนหนึ่งได้ และผู้ที่ทำสัญญาใหม่ก็จะสามารถผ่อนรถได้ในราคาที่ถูกลง
แต่วิธีนี้ผู้ที่จะรับสัญญาต่อต้องมีเครดิตที่ดีกว่า และการทำการเปลี่ยนสัญญาควรมีความชัดเจนด้านเอกสาร ตัวรถ และกระทำต่อหน้าไฟแนนซ์พร้อมกัน ห้ามทำการเปลี่ยนสัญญาด้วยกันเอง เพราะมีโอกาสที่ผู้รับสัญญาทำการเชิดรถ และเงินหนีออกไป ซึ่งผู้เช่าซื้อเดิมก็จะต้องรับผิดชอบทุกกรณี
เจรจาไฟแนนซ์แต่เนิ่น ๆ ดีกว่าต้องขึ้นศาล: สำหรับผู้เช่าซื้อเดิมที่ยังค้างค่างวดไม่นาน หากรู้ว่าในอนาคตอาจจะไม่สามารถจ่ายได้ทั้งหมด ก็สามารถเจรจากับทางไฟแนนซ์เพื่อขอคำปรึกษาในการผ่อนผัน หรือปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ หรืออาจจะจ้างทนายเพื่อช่วยเจรจา และหาทางออกได้ เพราะหากถึงเวลาทางไฟแนนซ์ได้ประกาศยึดรถ หรือส่งหมายศาลไป และหากถึงที่สุด ไฟแนนซ์มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย อันเกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สินเป็นค่าขาดประโยชน์ หรือการใช้ทรัพย์ที่ผิดปกติ หรือความสูญเสียหรือบุบสลาย ที่เป็นความผิดของผู้เช่าซื้อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา561,562,573,574
ขณะเดียวกันผู้เช่าซื้อยังมีสิทธิต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยแสดงให้ศาลเห็นว่าค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ซึ่งศาลใช้ดุลยพินิจลดลงได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 โดยทั่วไปศาลจะลดค่าเสียหายลงร้อยละ 30 ของทุนทรัพย์ที่ฟ้อง
ส่วนเงินดาวน์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการชำระค่างวด ไฟแนนซ์มีสิทธิ์ริบได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 574
หากไม่อยากให้บานปลายถึงโรงถึงศาล ควรเจรจาไฟแนนซ์ไว้แต่เนิ่น ๆ และพยายามให้ติดต่อซึ่งกันและกันไว้จะดีที่สุด
คืนรถแก่ไฟแนนซ์ก่อน: หากภายใน 3 เดือนคุณไม่สามารถชำระค่างวดได้ไหว การคืนรถแก่ไฟแนนซ์ก่อนสัญญา ก็เป็นอีกวิธีที่ผู้เช่าซื้อสามารถยุติการครอบครองรถได้โดยไม่ต้องเสียค่าส่วนต่างจากการขายทอดตลาดในราคาที่ต่ำกว่าได้เนื่องจากไม่ผิดสัญญา และจะทำให้ไม่เสียประวัติ ซึ่งหากรถมีความเสียหายผู้เช่าซื้อเดิมก็จะต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนหนึ่งด้วย
แต่การที่จะส่งมอบรถคืนแก่ไฟแนนซ์ก่อนยึดรถควรถ่ายรูปรถยนต์ และประเมินสภาพรถไว้ อีกทั้งต้องมีหลักฐานการคืนเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
แม้ว่าบางคน หรือบางสถานการณ์ อาจทำให้การผ่อนค่างวดรถเป็นไปอย่างยากลำบาก ผู้เช่าซื้อเดิมก็มีสิทธิ์ที่จะรักษาความเป็นเจ้าของรถไว้ได้หากได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมจากไฟแนนซ์เพื่อร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสม และยังช่วยให้ผู้เช่าซื้อมีโอกาสใช้งานรถได้ หรือหากต้องเสียรถไปก็จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด