ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ แต่ในบางครั้งคุณอาจจะต้องเผชิญกับภาวะที่สูญเสียความสุข รู้สึกเฉยชา จนไม่อยากทำอะไร ชีวิตไร้ซึ่งสีสัน โดยที่คุณก็อาจไม่รู้ตัว ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนของ “ภาวะสิ้นยินดี” เป็นภาวะทางจิตเวชที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ขอนำเกร็ดความรู้จาก แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH- Bangkok Mental Health Hospital มาให้ทุกคนได้รู้จักภาวะนี้กัน เพื่อจะได้สังเกตตนเองหรือคนใกล้ตัว และหาทางรักษาได้ถูกต้อง
ภาวะสิ้นยินดี เกิดจากสาเหตุอะไร?
ภาวะสิ้นยินดี มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในสมอง เนื่องจากสมองจะหลั่งสารแห่งความสุข หรือ ฮอร์โมนโดปามีนออกมา เมื่อทำในสิ่งที่ชอบ แต่คนที่มีภาวะสิ้นยินดี สมองจะไม่มีการหลั่งสารโดปามีน จึงทำให้รู้สึกไม่มีความสุขเวลาทำกิจกรรมที่ตัวเองเคยชอบ เป็นอาการผิดปกติทางจิตเวชที่ผู้ป่วยจะเฉยชาต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง ส่งผลให้ ไม่มีความสุข ไม่มีความสนุก ไม่มีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวัน ทั้งที่เมื่อก่อนสิ่งต่าง ๆ รอบตัวสามารถสร้างความสุขให้กับตัวเองได้ เช่น การไปดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยวกับคนรัก
ซึ่งสามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคเครียดหลังจากได้ประสบกับเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือในบางครั้งก็เป็นผลจากโรคทางกาย เช่น โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดทางสมอง ซึ่งอาการของภาวะนี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
อาการของภาวะสิ้นยินดี
- ไม่ชอบเข้าสังคม
- ไม่รู้สึกสุข ไม่รู้สึกเศร้า
- ความสุขจากกิจวัตรประจำวันลดลง
- ความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวลดน้อยลง
- สนใจงานอดิเรกที่เคยทำก่อนหน้านี้น้อยลง
- เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง หมดกำลังใจ
- ไม่ตื่นเต้นที่จะออกไปเที่ยวกับเพื่อนอีกต่อไป
- ความต้องการทางเพศลดลง
- ไม่อยากได้รับความช่วยเหลือจากใคร
- ไม่อยากฟังเรื่องราวคนอื่น
ภาวะสิ้นยินดีจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ภาวะสิ้นยินดีทางสังคม (Social Anhedonia) ผู้ป่วยจะไม่อยากพบเจอ พูดคุย ไม่ได้ต้องการสร้างสัมพันธ์กับบุคคลใด
- ภาวะสิ้นยินดีทางร่างกาย (Physical Anhedonia) ผู้ป่วยจะไม่มีความรู้สึกเพลิดเพลินกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ไปกินอาหาร ไปดูหนัง ก็ไม่ได้แฮปปี้เหมือนที่เคย
การรักษาภาวะสิ้นยินดี
ไม่มีการรักษาเฉพาะเจาะจง ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยว่ามีภาวะอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น
หากมีภาวะซึมเศร้า แพทย์ก็จะจ่ายยาต้านซึมเศร้าพร้อมกับการให้ดูแลสุขภาพกาย ขณะเดียวจิตแพทย์ก็จะให้คำแนะนำในการหากิจกรรมที่ตัวเองทำแล้วมีความสุข เช่น ฟังเพลง, ทำกิจกรรมกับคนรัก, กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ, เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม โดยเลือกเข้าสังคมที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ
และควรหมั่นสังเกตอาการตัวเอง ว่าอะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นความเครียด พยายามปรับวิถีชีวิตเพื่อลดความเครียดเท่าที่ทำได้, เขียนบันทึกประจำวัน ที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างน้อยวันละ 1 เรื่อง ไม่จำเป็นต้องเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่ อาจเป็นความสุขเล็กๆ เช่น วันนี้ได้กินอาหารอร่อย และการออกกำลังกาย เพราะการทำกิจกรรมทางกาย ร่างกายจะหลั่งสารโดปามีนกระตุ้น “ความสุข” ให้แก่สมอง