ผ้าเบรก หนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างมากสำหรับระบบเบรกทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ รวมถึงเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ที่ต้องมีการเปลี่ยนบ่อยเพื่อให้การจับจานเบรก หรือผนังดรัมเบรกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผ้าเบรกจะสึกหรอเร็วขึ้นได้ได้ตามพฤติกรรมการขับขี่ และการดูแลรักษาที่ไม่ถูกต้อง หรือปล่อยปะละเลย ซึ่งนอกจากจะต้องเปลี่ยนผ้าเบรกบ่อยขึ้นโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายต่อระบบเบรก และก่อให้เกิดอันตรายได้
แต่การดูแลรักษาผ้าเบรกนั้นไม่ยากอย่างที่คิด ซึ่งมีทริกง่าย ๆ มาให้ผู้ใช้รถได้ศึกษากัน ดังนี้
เลี่ยงการเหยียบเบรกกระทันหันไม่ให้บ่อยเกินไป
หากผู้ที่ขับขี่รถ ทำการเหยียบเบรกกระทันหัน ระบบ ABS จะทำการจับจานเบรกแรง และถี่เกินไป ซึ่งจะส่งผลต่อการกินผ้าเบรกมากขึ้น วิธีหลีกเลี่ยงการเหยียบเบรกฉุกฉินก็คือการขับรถด้วยความเร็วไม่สูง และระมัดระวังทุกครั้งที่ขับขี่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ขับขี่มีจังหวะในการเบรกที่เหมาะสม
หลีกเลี่ยงการเหยียบเบรกแช่
การเหยียบเบรกแช่เพื่อรักษาความเร็ว หรือช่วยชะลอรถในกรณีที่ขึ้นหรือลงเนิน ผู้ขับขี่ควรคำนึงถึงการสะสมความร้อนของจานเบรก และผ้าเบรกที่ไม่สามารถระบายออกได้ทัน ซึ่งจะส่งผลต่อความเสียหายของผ้าเบรก และจานเบรก หากเลี่ยงขึ้นหรือลงเนินไม่ได้ ควรขับรถด้วยเกียร์ต่ำ และค่อย ๆ เหยียบเบรกเสริมเพื่อช่วยชะลอความเร็ว
ลดการบรรทุกของหนัก
การที่มีของอยู่ในรถมากมายโดยไม่จำเป็น ส่งผลเสียหลาย ๆ อย่าง รวมถึงภาระในการทำงานของเบรกก็เพิ่มมากขึ้น เป็นไปได้ควรคัดของที่ไม่จำเป็นออกจากรถเพื่อช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมความเร็ว และหยุดรถได้ดีขึ้น ระบบเบรกก็ทำงานเบาลง
ล้างรถทั้งที ควรล้างจานเบรกด้วย (สำหรับรถที่มีดิสก์เบรก)
หากคุณมีโอกาสที่จะได้ล้างรถ หรือเช็คสภาพเบื้องต้น ควรตรวจสอบสภาพของผ้าเบรก และความสะอาดของจานเบรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจานเบรกมีการสะสมทั้งฝุ่น และโคลนดินเป็นเวลานานจนมีความแข็ง ก็จะส่งผลต่อการกินผ้าเบรกมากขึ้นเมื่อเหยียบเบรก จึงเป็นส่วนที่ต้องทำความสะอาดควบคู่ด้วย รวมถึงหากเช็คผ้าเบรกแล้วสึกหรอมากก็จะได้วางแผนเปลี่ยนผ้าเบรกแต่เนิ่น ๆ
ตรวจสอบชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เช่น ลูกยางกันฝุ่น, ลูกยางแม่ปั๊มเบรก, ลูกยางลูกสูบเบรก ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่หมั่นดูแลรักษา และทำความสะอาดควบคู่ด้วย รวมถึงเช็คสภาพว่ามีการฉีกขาด รั่ว หรือมีภาพไม่สมบูรณ์ด้วยหรือไม่ เพราะหากเกิดการชำรุด ก็จะส่งผลต่อความเสียหายต่อระบบเบรก และผ้าเบรกที่จะเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
เติมลงยางให้มีปริมาณที่เหมาะสม
แม้ยางรถยนต์อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับระบบเบรกโดยตรง แต่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผ้าเบรกอายุสั้นอันเนื่องจากแรงดันลมยางที่อ่อน หรือแข็งเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการขับขี่ ดังนั้นควรเติมลมยางในปริมาณที่คู่มือรถ หรือสติ๊กเกอร์ตรงคานประตูรถเพื่อช่วยให้รถสามารถวิ่งได้ราบรื่น และลดการทำงานหนักของระบบเบรก
แม้ว่าผ้าเบรกจะเป็นชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ต้องเปลี่ยนใหม่อยู่เสมอ แต่การปรับพฤติกรรมการขับขี่ แลพทำความเข้าใจต่อชิ้นส่วนและระบบเบรกอย่างถ่องแท้ นอกจากจะช่วยถนอมอายุ และเนื้อผ้าเบรกให้ใช้งานได้ยาวนานแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และยังรักษาชิ้นส่วนระบบเบรกที่เกี่ยวข้องไม่ให้เสียหายตามเป็นลูกโซ่จนส่งผลต่อค่าซ่อมแซมบานปลายที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ