กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ ในช่วงวันที่ 5-6 มีนาคม 2567 จะมีค่าดัชนีความร้อน หรือ Heat Index (อุณหภูมิที่คนรู้สึกได้ถึงอากาศร้อนในขณะนั้น) พบว่าอุณหภูมิสูงสุดช่วงดังกล่าว สูงถึง 51.4 องศาเซลเซียสโดยจะเกิดขึ้นที่ จ.ชลบุรี และใน กรุงเทพฯ 48.1 องศาเซลเซียส ซึ่งอยู่ในระดับอันตราย เพื่อความปลอดภัยขอแนะนำ วิธีป้องกันตัวเองจาก โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือ โรคลมแดด กันไว้ก่อน
โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือ โรคลมแดด คืออะไร?
โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือ โรคลมแดด เกิดจากความร้อนที่ร่างกายสร้างขึ้นและได้รับจากภายนอก ส่งผลให้ร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ กว่า 40 องศาเซลเซียส ถ้าปล่อยทิ้งไว้เกินกว่า 2 ชั่วโมง อาจทำให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายเป็นอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย แต่ถ้ารักษาถูกวิธีโอกาสรอดชีวิตมี 90%
ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายภาค ช่วงวันที่ 5-6 มีนาคม 2567 มีดังนี้
วันที่ 5 มีนาคม 2567
- ภาคเหนือ : จ.ตาก 39.9 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.นครราชสีมา 38.7 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
- ภาคกลาง : กรุงเทพฯ 48.1 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
- ภาคตะวันออก : จ.ตราด 50.6 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
- ภาคใต้ : จ.กระบี่ 42.5 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
วันที่ 6 มีนาคม 2567
- ภาคเหนือ : จ.ตาก 39.6 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.บุรีรัมย์ 39.4 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
- ภาคกลาง : กรุงเทพฯ 48.1 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
- ภาคตะวันออก : จ.ชลบุรี 51.4 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
- ภาคใต้ : จ.ภูเก็ต 48.3 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
อาการ โรคฮีทสโตรก
- หน้ามืด เมื่อยล้า อ่อนเพลียไม่มีแรง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หอบหายใจเร็ว ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วมาก
- อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รูขุมขนจะปิดจนไม่สามารถระบายเหงื่อได้
- ตัวร้อนมาก ผิวแดงจัด วัดอุณหภูมิได้มากกว่า 40 องศาเซลเซียส
- มีอาการสับสน หงุดหงิด พูดจาไม่รู้เรื่อง อาจถึงขั้นชักกระตุก เกร็ง และหมดสติไป
สัญญาณเตือนสำคัญ ฮีทสโตรก ที่อันตรายถึงชีวิต
- ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก
- ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ ปวดศีรษะ มึนงง
- หัวใจเต้นเร็ว
- เมื่อเกิดอาการดังกล่าวควรหยุดพักทันที หากดูแลรักษาไม่ทันท่วงทีอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
วิธีป้องกัน ฮีทสโตรก
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- สวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดรูป
- อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเท
- เลือกออกกำลังกายการช่วงเช้าหรือเย็น
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ใครที่เสี่ยงเป็นโรคฮีทสโตรก
- ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งในที่อากาศร้อนจัดเป็นเวลานานๆ เช่น กรรมกร เกษตรกร นักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก
- ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อดนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด
- ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด คนที่กินยาขับปัสสาวะ
การปฐมพยาบาล ฮีทสโตรก เบื้องต้น
- นำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม บริเวณที่อากาศเย็นหรืออากาศถ่ายเทได้สะดวก
- ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
- คลายเสื้อผ้าให้หลวม เพื่อให้ร่างกายระบายความร้อนได้เร็วขึ้น
- ใช้ผ้าชุบน้ำอุณหภูมิปกติ แล้วเช็ดตัว ซอกรักแร้ คอ ขาหนีบ และหน้าผาก เช็ดย้อนรูขุมขนเพื่อระบายความร้อน
- ใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หรือพัดแรงๆ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด
- หากยังไม่ฟื้นให้รีบโทร 1669 เพื่อนำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที