จำนวนมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ หรือสแกมเมอร์ (Scammer) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นภัยคุกคามอย่างมาก เพราะในปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ ขอแนะนำผู้หางานให้ ‘ตั้งการ์ดพร้อมรับมือ’ และรู้เท่าทัน โดยสังเกตความแตกต่างระหว่างมิจฉาชีพออนไลน์กับเว็บไซต์หางานที่น่าเชื่อถือ ดังต่อไปนี้
1.ยื่นข้อเสนอที่มากเกินกว่าความเป็นจริง
การได้รับเงินจำนวนมากจากการทำงานง่าย ๆ คงเป็นสิ่งที่คนทำงานทุกคนใฝ่ฝัน อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้ว ‘ข้อเสนองาน’ เหล่านี้มักจะเป็นงานจากมิจฉาชีพ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะถูกดึงดูดด้วยข้อเสนอสวยหรูที่จะได้ทำงานที่ดูง่ายและได้ค่าตอบแทนสูง ซึ่งเป็นแพ็กเกจที่ผู้ที่กำลังมองหางานพาร์ทไทม์ มีประสบการณ์ทำงานยังไม่มากหรือยังไม่มีประสบการณ์มักมองหา
ข้อแนะนำ : งานที่ได้ค่าตอบแทนสูงมักเป็นงานของผู้ที่มีประสบการณ์มากหรือมีระดับความเชี่ยวชาญสูงแล้ว หากคุณต้องการงานที่ให้เงินเดือนสูง คุณสามารถหาประสบการณ์ในการทำงานเพิ่ม หรือพัฒนาทักษะที่มีอยู่เพื่อเพิ่มเติมคุณสมบัติให้เหมาะสมกับงานในระดับที่สูงขึ้น ผู้หางานควรตระหนักเสมอว่าไม่มีงานใดที่จะให้
ค่าตอบแทนที่สูงมากด้วยวิธีที่ง่ายดาย โดยเฉพาะความก้าวหน้าในหน้าที่การงานนั้น ควรได้มาจากความขยัน มุ่งมั่น ทักษะ และความสามารถที่สอดคล้องกับตำแหน่งงาน
สำหรับประกาศงานที่ต้องไปทำงานต่างประเทศ ผู้หางานควรระมัดระวังเป็นพิเศษและพิจารณาว่า “ค่าตอบแทนที่ได้รับเสนอมานั้น สมเหตุสมผลมากน้อยเพียงใดกับตำแหน่งงานในประเทศดังกล่าว” เพราะหากข้อเสนอดีมากจนเกินไป ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ใช่เป็นตำแหน่งงานจริง
2.ผู้ประกอบการใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการติดต่อ
หากผู้ประกอบการติดต่อคุณผ่านทางโซเชียลมีเดีย คุณควรเริ่มสงสัยและตั้งคำถาม เพราะโดยทั่วไปแล้วผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยชอบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะติดต่อผู้สมัครงานผ่านทางอีเมล โทรศัพท์ หรือแอปพลิเคชันสำหรับส่งข้อความ ที่สามารถแสดงตัวตนที่แท้จริงขององค์กรได้ ในบางกรณีผู้ประกอบการอาจเลือกติดต่อผ่านโซเชียลมีเดียในช่วงแรก แต่ท้ายที่สุดแล้วก็มักจะเปลี่ยนไปใช้วิธีการที่เป็นทางการมากขึ้นในการเจรจาครั้งต่อ ๆ ไป
หากผู้ประกอบการเลือกส่งข้อความผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นหลักและไม่มีช่องทางการติดต่ออื่น ๆ
พฤติการณ์เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนแรกเริ่มว่าคุณควรเลิกสนใจข้อความแจ้งเตือนเหล่านี้ โดยหากเริ่มสงสัยเกี่ยวกับองค์กรดังกล่าว แนะนำให้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ประกอบการและองค์กรที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะมีตัวตนในโลกออนไลน์เสมอ หากคุณลองค้นหาและไม่เจอข้อมูลองค์กร ก็มีความเป็นไปได้ว่าเป็นมิจฉาชีพ ในบางกรณี สแกมเมอร์บางรายได้เริ่มพัฒนาการหลอกลวง
ให้แยบยลขึ้น โดยสร้างเว็บไซต์บริษัทปลอมขึ้นมา รวมถึงมีการใช้คำศัพท์และรูปภาพสต๊อกที่ไม่ได้มีการระบุชัดเจนว่าเป็นขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง
หากผู้ประกอบการอ้างว่ามีความเกี่ยวข้องกับองค์กรอื่น คุณสามารถตรวจสอบบนเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียขององค์กรที่ถูกกล่าวอ้างว่าได้มีการลงประกาศรับสมัครงานดังกล่าวเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวอ้างด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ คุณยังสามารถส่งข้อความหรืออีเมลถึงองค์กรหรือตัวแทนขององค์กรที่ถูกกล่าวอ้างเพื่อสอบถามและยืนยันว่าตำแหน่งงานที่เปิดรับนั้นมีการเปิดรับจริงหรือไม่ได้อีกด้วย
3.องค์กรที่เปิดรับสมัคร ส่งอีเมลที่น่าสงสัยมาให้
การติดต่อผ่านทางอีเมลไม่ได้เป็นการยืนยันว่าผู้ประกอบการหรือองค์กรนั้น ๆ น่าเชื่อถือเสมอไปเช่นกัน โดยผู้หางานอาจต้องพิจารณาเนื้อหาของอีเมลประกอบควบคู่เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการหรือองค์กรดังกล่าวไม่ใช่มิจฉาชีพ
หากอีเมลนั้น ๆ ถูกส่งมาจากอีเมลส่วนตัวหรืออีเมลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นตัวแทน ผู้หางานควรตระหนักว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ข้อเสนองานนั้นอาจจะไม่ใช่ของจริง
นอกจากนี้ ผู้หางานยังสามารถสังเกตมิจฉาชีพได้จากวิธีการเขียนอีเมล หากเนื้อหาไม่ได้ถูกเขียนขึ้นอย่างมืออาชีพและมีข้อผิดพลาดทางไวยากรณ์มากมาย มีความเป็นไปได้ว่าข้อเสนอเหล่านั้นอาจเป็นของปลอม เราแนะนำให้คุณตรวจสอบเสมอว่าใครคือผู้ที่ส่งอีเมลมาให้ หากเป็นผู้ประกอบการจริง คุณจะเจอข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์ของบริษัท
4.ผู้ประกอบการขอข้อมูลส่วนตัวของคุณเกินความจำเป็น
ผู้ประกอบการหรือองค์กรทั่วไปจะสนใจเฉพาะข้อมูลในเรซูเม่ของคุณเท่านั้น อาทิ ประสบการณ์การทำงาน วุฒิการศึกษา สิ่งที่คุณเชี่ยวชาญ และข้อมูลส่วนตัวขั้นพื้นฐานของคุณ นอกเหนือจากนั้น ผู้ประกอบการหรือองค์กรไม่มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ อาทิ รายละเอียดบัญชีธนาคารหรือหมายเลขประกันสังคม โดยข้อมูลเหล่านี้ผู้หางานสามารถเปิดเผยได้ก็ต่อเมื่อบริษัทจ้างงานคุณแล้วเท่านั้น
ผู้ประกอบการหรือองค์กรที่ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณเกินกว่าความจำเป็น อาจมีจุดประสงค์อื่นแอบแฝงที่ไม่ใช่การจ้างงาน เราแนะนำให้คุณระวังประกาศงานหรือข้อเสนองานที่ต้องใช้ข้อมูลส่วนตัวที่คุณอาจไม่สะดวกใจที่จะแบ่งปันเอาไว้
5.คุณได้รับข้อเสนองานทันที โดยที่ไม่ต้องส่งใบสมัคร
หากมีคนติดต่อคุณผ่านช่องทางออนไลน์และเสนองานให้ทันที ให้ตระหนักไว้ก่อนว่าเป็นสัญญาณอันตราย โดยปกติแล้ว การเสนองานจะเกิดขึ้นหลังจากการกรอกสมัครงานอย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่การส่งเรซูเม่ และ จดหมายสมัครงาน ตลอดจนการสัมภาษณ์งานอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ไม่มีตำแหน่งงานที่น่าเชื่อถือใดถูกเสนอผ่านทางอีเมลหรือโซเชียลมีเดียในทันทีโดยไม่มีการพิจารณาปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง
สแกมเมอร์บางรายอาจอ้างว่าพบเห็นข้อมูลหรือผลงานของคุณผ่านทางออนไลน์และเห็นว่าคุณมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับงานนี้ ซึ่งแม้ว่าอาจจะเป็นเรื่องจริง แต่การที่ผู้ประกอบการหรือองค์กรไม่ต้องการสัมภาษณ์
คุณเพิ่มเติม แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการค้นหาพนักงานที่มีความสามารถอย่างจริงจัง ทั้งนี้ การจ้างงานพนักงานเป็นกระบวนการที่มักใช้เวลานานหลายสัปดาห์ ซึ่งในทางกลับกัน หากเป็นมิจฉาชีพ พวกเขามักจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว
6.ขอให้คุณชำระเงินเมื่อสมัครงาน
ในปีที่ผ่านมา สแกมเมอร์ได้หลอกลวงเหล่าผู้หางานมากมาย ทำให้เกิดการเสียทรัพย์และสูญเงินไปเป็นจำนวนกว่าหลายล้านบาท พวกเขามักโน้มน้าวเหยื่อให้จ่ายเงินโดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของงาน เพื่อแลกกับเงินจำนวนที่มากกว่าในอนาคต
การที่ผู้ประกอบการถามหาเงินจากผู้หางาน ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณของมิจฉาชีพที่เห็นได้ชัดที่สุด หากผู้หางานต้องจ่ายเงินเพื่อสมัครงานนั้น ๆ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจถูกหลอก และถ้าคุณได้เผชิญกับมิจฉาชีพเหล่านี้ เราแนะนำให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพเหล่านี้กระทำผิดต่อไปได้อีก
นอกจากนี้ ผู้หางานไม่ควรให้ข้อมูลบัตรเครดิตกับเว็บไซต์สมัครงานที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะโดยทั่วไปแล้ว การสมัครงานออนไลน์มักไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
วิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงสแกมเมอร์
คือการใช้บริการแหล่งข้อมูลงานออนไลน์ที่น่าเชื่อถือที่สุดเท่านั้น หากคุณพบประกาศงานที่น่าสงสัย เช่น รายละเอียดงานที่ทางบริษัทแจ้งให้ทราบระหว่างการสัมภาษณ์ แตกต่างจากประกาศงานเป็นอย่างมาก โปรดติดต่อที่ 02-670-0700 หรือ cs@jobsdb.co.th เพื่อให้ทีมงานดำเนินการในทันที
ที่มา : จ๊อบส์ดีบี (JobsDB)