ผ่านไปต่ำไม่กว่า 3 เดือนแล้ว หลังการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งหนึ่งในประเด็นทางการเมืองที่สำคัญ คงหนีไม่พ้นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่หลายพรรคการเมืองแสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยรัฐบาลเศรษฐา ได้แต่งตั้งมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธาน คณะกรรมการศึกษาแนวทางจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เป็นที่ทราบกันดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญและละเอียดอ่อนอย่างมาก ซึ่งหลายฝ่ายโดยเฉพาะทางพรรคก้าวไกล และภาคประชาชน ได้แสดงเจตนารมณ์ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอดเช่นกัน และผลักดันแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจาก สสร.
ซึ่งล่าสุด นายภูมิธรรม ในฐานะประธาน คณะกรรมการศึกษาแนวทางจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แถลงผลการประชุมครั้งที่ 3 ถึงความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าว จนมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นว่า การผลักดันทำประชามติครั้งนี้ เป็นการ ‘มัดมือชก’ หรือไม่?
3 ขั้นตอนจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายภูมิธรรม ในฐานะประธาน คณะกรรมการศึกษาแนวทางจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้เปิดเผยว่า ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะแบ่งการทำประชามติเป็น 3 ขั้น โดยจะทำ 1 ปี ต่อ 1 ครั้ง แบ่งเป็นขั้นตอน ดังนี้
การทำประชามติครั้งที่ 1
- “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”
การทำประชามติครั้งที่ 2
- วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมารา 256(8) ซึ่งจะมีการสอบถามที่มาของ ส.ส.ร. และองค์ประกอบอื่น
การทำประชามติครั้งที่ 3
- ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ร่างเสร็จแล้ว
โดยกระบวนการทั้งหมดจะเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ในการจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้นเดือน ม.ค.67 ในเฉพาะคำถามแรก
เสียงสะท้อน กับคำถามที่ 1 ในการทำประชามติ
ความเห็นจาก นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. มองว่า คำถามแรก คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” นั้น
เป็นคำถามที่ไม่จำเป็นต้องถาม และสามารถยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเปิดกว้างนำไม่สู่การทำประชามติไม่ผ่านด้วยเช่นกัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผู้ลงประชามติ ที่เห็นว่าควรแก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งนั้นจะยิ่งเปิดกว้างให้ ‘ไม่เห็นชอบ’ ได้มาก
เช่นเดียวกับ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม โฆษกพรรคก้าวไกล ที่มองว่า กรณีแค่คำถามแรกในการทำประชามตินั้น เป็นการทำประชามติที่ไม่เปิดกว้าง ซึ่งมีแค่ ‘เห็นด้วย’ และ ‘ไม่เห็นด้วย’ ซึ่งหากเสียงส่วนใหญ่ลงว่า ไม่เห็นด้วย และประชามติไม่ผ่าน ก็จะนำไปสู่การปิดประตูในการแก้ไขรัฐธรรมด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้นายสมชาย แสวงการ สว. ได้หารือในที่ประชุมวุฒิสภา ต่อข้อกังวลในการจัดทำประชามติถึง 3 ครั้ง ว่าอาจจะมีการใช้งบประมาณกว่า 1.5 หมื่นล้าน ทั้งการจัดทำประชามติ และการเลือกตั้ง ส.ส.ร. รวมไปถึงแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดอื่น ๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนของทางรัฐบาล
ไม่มีอะไรชัดเจน เกี่ยวกับการแก้ รธน.
เกี่ยวกับเรื่องนี้ iLaw ได้แสดงความเห็นว่าตลอดระยะเวลาที่มีการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมานั้น กลับสร้างคำถามมากกว่าคำตอบ ทั้งการจัดทำประชามติ ถึง 3 ครั้ง ถึงจะได้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ
หรือแม้แต่การทำประชามติครั้งแรก ในคำถามเห็นชอบหรือไม่ในการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นธงที่พรรคเพื่อไทย ประกาศตัวไว้ชัดเจนก่อนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลว่าจะไม่แตะหมวดดังกล่าว ทำให้ทิศทางการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมีแค่หนทางเดียวคือ ต้อง เห็นด้วย ?
ยิ่งไปกว่านั้นในส่วนของการสรรหา สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงเท่านั้น แต่ทางคณะกรรมการฯ ก็ยังไม่มีคำถามในเรื่องนี้ และโยนให้เป็นส่วนของสภาฯ พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้
ประชามติ คืออะไร?
ประชามติ (Referendum) ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายถึง
“มติของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่แสดงออกในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือที่ใดที่หนึ่ง และมติของประชาชนที่รัฐให้สิทธิออกเสียงลงคะแนนรับรองร่างกฎหมายสำคัญที่ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแล้ว หรือให้ตัดสินปัญหาสำคัญในการบริหารประเทศ”
ในทางรัฐธรรมนูญ หมายถึง “กระบวนการในการแสดงความเห็นของประชาชนด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อตัดสินใจว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ก่อนที่จะนำมติหรือการตัดสินใจนั้นออกเป็นกฎหมายหรือนำไปปฏิบัติเพื่อบังคับใช้เป็นการทั่วไป”
ประเทศไทยเคยมีการนำเอาการออกเสียงประชามติมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ. 2492 ฉบับ พ.ศ. 2511 ฉบับ พ.ศ. 2517 ฉบับ พ.ศ. 2540 และฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 โดยสามฉบับแรกกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียงประชามติในกรณีที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น
ส่วนฉบับ พ.ศ. 2540 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสามารถขอให้ประชาชนออกเสียงประชามติในเรื่องที่อาจกระทบถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่เคยมีการดำเนินการออกเสียงประชามติตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้จนกระทั่ง พ.ศ. 2550 ที่มีการออกเสียงให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
…
ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ฝ่ายคาดว่าในปีหน้าที่จะถึงนี้ อาจเป็นประเด็นการเมืองที่สำคัญ ซึ่งต้องจับตามองว่าท้ายที่สุดแล้วการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเศรษฐา จะเดินหน้าได้หน้ากรอบวาระหรือไม่