กลายเป็นปัญหาซ้ำซาก ที่มองแล้วจะไม่มีวันจบลงง่าย ๆ ในเร็ววัน กับประเด็น ‘เด็กช่างตีกัน’ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยค่านิยมที่ถูกปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่น เป็นวัฒนธรรมเสื่อมที่รุ่นพี่ทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน บางพวก บางกลุ่ม ที่นิยมความรุนแรง ส่งไม้ต่อให้รุ่นน้องต้องเดินเส้นทางผิด ๆ จนกลายเป็นนักเรียนนักเลง
ปัญหาเด็กช่างตีกัน จึงกลายเป็นสิ่งที่สังคมเอือมระอา เพราะหลายต่อหลายเหตุการณ์ ที่มาจากเด็กช่างตีกันมักจะมีชาวบ้านถูกลูกหลง จนบาดเจ็บและถึงขั้นเสียชีวิตก็มี ดังเช่นกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับ ‘ครูเจี๊ยบ’ ครูสอนวิชาคอมพิวเตอร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่มีการยิงกันของ ‘เด็กช่าง’
ซึ่งความคืบหน้าในคดีนี้ ทางตำรวจออกมาระบุว่า ผู้ก่อเหตุได้หลบหนีออกจากพื้นที่กรุงเทพไปแล้ว โดยขณะนี้ทราบตัวผู้ก่อเหตุแล้ว อยู่ระหว่างการตรวจสอบดีเอ็นเอ และสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมอย่างละเอียด
ปัญหาเด็กช่างตีกัน อาจเป็นขบวนการที่ตั้งมาเฉพาะ?
ข้อมูลจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เกี่ยวกับกรณีล่าสุด พบว่ามีการวางแผนมาเป็นอย่างดีและมีผู้เกี่ยวข้องมากกว่าสองคน เป็นลักษณะรวมกลุ่มวางแผน อย่างป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์คันที่ใช้ก่อเหตุพบว่าเป็นการลักขโมยมาซึ่งมีเจ้าทุกข์แจ้งความร้องทุกข์เอาไว้ในพื้นที่ สน. ดินแดง
หลังก่อเหตุมีการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายที่สวมใส่และมีการเปลี่ยนศรีรถจักรยานยนต์คันที่ใช้ก่อเหตุเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบติดตามของเจ้าหน้าที่ และกระบวนการทั้งหมดมีผู้อยู่เบื้องหลังคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ระหว่างพิสูจน์ทราบว่าเป็นศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันที่เรียนร่วมสถาบันเดียวกัน
ซึ่งมูลเหตุในครั้งนี้เป็นลักษณะค่านิยมของคนเฉพาะกลุ่มที่รวมตัวกันขึ้นมา เพื่อก่อเหตุกับ คู่อริต่างสถาบันกันซึ่งในคดีนี้ผู้ก่อเหตุและผู้ถูกยิงไม่ได้มีความขัดแย้งส่วนตัวกัน
สถาบันศึกษามีกติกาอยู่แล้ว?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวถึง การแก้ไขปัญหา ความขัดแย้งของอาชีวะต่างสถาบัน ว่าในส่วนของกระทรวงจะต้องดูแลสถานศึกษา โดยเฉพาะในสถานศึกษาที่มีปัญหานักเรียนตีกัน หรือรับน้องด้วยวิธี รุนแรง ซึ่งได้มีการออกระเบียบกฎเกณฑ์ทุกปี เพื่อมาบังคับใช้กับสถาบันการศึกษา แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางสถาบันด้วยว่าจะมีความแข็งแรงหรือไม่
ซึ่งตอนนี้เรื่องขยายรุกรามมากกว่าเรื่องระหว่างสถาบัน เพราะมีผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บ จึงกลายเป็นมิติทางสังคมที่ใหญ่ขึ้น ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกันดูแล ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเดียว ผู้ปกครองเองก็ต้องช่วยกันดูแลลูกหลานว่ามีอาวุธอยู่ในบ้านหรือไม่ รุ่นพี่และเพื่อนช่วยกันสอดส่องดูแล เชื่อว่าจะป้องกันได้ตั้งแต่ชั้นแรก
หากเด็กในสถาบันเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ผู้บริหารจะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยหรือไม่ รัฐมนตรีอุดมศึกษาฯ ระบุว่า ก่อเหตุต้องไปตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่าเด็กที่ก่อเหตุเป็นเด็กของสถาบันใด แต่ทุกสถาบันล้วนมีระเบียบและกฎเกณฑ์อยู่แล้ว
ปิด-ย้าย สถานศึกษา จะแก้ได้จริงหรือ?
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า หากต้องการจะแก้ปัญหาเรื่องศึก 2 สถาบัน ก็ให้ปิดโรงเรียนทั้ง 2 แห่งไปเลย หรือไม่ก็ย้ายทั้ง 2 สถาบันออกจากพื้นที่ไปอยู่ไกล ๆ
ซึ่งหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ปัญหายังคงมี คือ อาจารย์ที่ปกป้องลูกศิษย์เพราะกลัวจะโดนดำเนินคดี และให้รุ่นพี่ที่จบไปแล้วว่าเล่าแต่วีรกรรมไล่ตีกัน ปลูกฝังแนวคิดที่ผิดๆ ปัญหาระหว่างสถาบัน ฯ ทำให้รุ่นน้องจดจำแต่เรื่องที่ไม่ดี
ส่วนเหตุการณ์นี้เข้าข่ายเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพราะติดตามมายิง ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต
ไม่ใช่ทุกคนที่อยากใช้ความรุนแรง…
ปัญหาเด็กตีกันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกันมานับหลายสิบ ๆ ปี เป็นปัญหาฝังลึกลงไป และถูกถ่ายทอดจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง เพราะคำว่า ‘ศักดิ์ศรี’ กล่อมให้เกิดความเกลียดชังต่อสถาบันคู่อริ ก่อเกิดกลายเป็นปัญหาที่ไม่มีวันจบสิ้น
แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีเด็กนักษาเรียน นักศึกษา อีกจำนวนไม่น้อยที่เลือกเรียนสายอาชีวะ เพื่อหวังนำวิชาความรู้จากสถานศึกษา ไปต่อยอดเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา และนำไปใช้ในการประกอบอาชีพในภายภาคหน้า
จึงไม่แปลกที่หากมีเหตุการณ์เด็กตีกัน โดยเฉพาะสถาบันศึกษาที่มีชื่อปรากฏหน้าสื่อทุกครั้งที่ก่อปัญหา กลุ่มเด็กที่ตั้งใจเรียนจะโดนหางเลขไปด้วย เนื่องเพราะอยู่ในสถาบันนั้น ๆ ดั่งสำนวนสุภาษิต “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง” นั้นเอง