ประเด็น ‘เรือดำน้ำ’ ถูกกลับมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอีกครั้ง หลังทางรัฐบาลไทยเตรียมแผนที่จะเปลี่ยนจากเรือดำน้ำ เป็น ‘เรือฟริเกต’ เนื่องจากติดปัญหาคาราคาซังเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ กระทั่งเลยกำหนดส่งมอบตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา
‘ดีลเรือดำน้ำ’ ถูกพูดถึงอย่างมากนับตั้งแต่ ครม.ประยุทธ์ อนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำรวม 36,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2560 จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมาก และแน่นอนว่าย่อมมีความเห็นต่างเกิดขึ้น
ซึ่งมาถึงจนปัจจุบันโครงการเรือดำน้ำลำยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากติดปัญหาเรื่อง ‘ขาดเครื่องยนต์’ ถึงแม้ทางการจีนจะหาทางออกเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำที่ทางเยอรมันไม่ขายให้นั้น โดยการเสนอใช้เครื่องยนต์จีนแทน แต่สุดท้ายทาง ครม.เศรษฐา ได้ปัดตกในส่วนของเครื่องยนต์จีนไป
ย้อนดูโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ
โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย ตามโครงการจะจัดซื้อทั้งหมด 3 ลำ งบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท ใช้ปกป้องผลประโยชน์ทางทะเล ลำแรกใช้ปฏิการในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย ลำที่สองปฏิบัติการฝั่งอันดามัน ส่วนอีก 1 ลำใช้เป็นหมุนเวียนสับเปลี่ยนการปฏิบัติงาน ซึ่งคาดการว่าเรือดำน้ำลำแรกจะมีการส่งมอบในช่วงปลายปี 2567
โดยทางกองทัพเรือไทย ได้มีการเซ็นสัญญาจ้างสร้างเรือดำน้ำลำที่ 1 ร่วมกับทางรัฐบาลจีนเมื่อช่วงเดือน พ.ค.2560 แบบรัฐต่อรัฐ หรือ G2G ด้วยงบประมาณ 13,500 ล้านบาท ซึ่งเป็น เรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า รุ่น yuan class S26T แบ่งชำระเงินเป็น 7 ปี รวม 17 งวด ประเดิมงวดแรกปี 2560 จำนวน 700 ล้านบาท ส่วนปีที่ 2561-2566 จะชำระเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท
ซึ่งมีมีจุดเด่นในเรื่องการซ่อนพราง สามารถอยู่ใต้น้ำได้นานกว่าเรือดำน้ำแบตเตอรี่เดียวถึง 5 เท่า ในส่วนของระบบอาวุธ มีทั้งตอร์ปิโดที่สามารถยิงจากท่อตอร์ปิโด 6 ท่อ และสามารถยิงจากใต้น้ำสู้พื้นน้ำ หรือ บนฝั่งได้เช่นกัน รวมไปถึงระบบความปลอดภัยต่าง ๆ ที่ถูกออกแบบระบบมาเป็นอย่างดีเพื่อความปลอดภัยต่อการใช้งาน
อย่างไรก็ตามในสัญญาดังกล่าวแล้ว ในการสร้างเรือดำน้ำของจีน จะต้องใช้เครื่องยนต์ MTU-396 จากเยอรมัน แต่ปรากฏว่าทางเยอรมันประกาศไม่ส่งเครื่องยนต์เรือดำน้ำให้ เนื่องจากการมาตรการการคว่ำบาตรของทางฝั่งยุโรปในการส่งอาวุธในกับทางการจีน ซึ่งทางจีนเองก็ได้พยายามหาทางออกด้วยการเสนอใช้เครื่องยนต์ที่ผลิตโดยจีน คือ รุ่น CHD620
แต่ภายหลังทางรัฐบาลเศรษฐาได้เข้ามาบริหารประเทศเมื่อช่วง ส.ค.2566 ก็ได้มีมติที่ประชุม ครม. ไม่รับข้อเสนอเกี่ยวกับเครื่องยนต์จีน จนกลายเป็นประเด็นที่ว่าจะเกิดการยกเลิกสัญญาไปหรือไม่ และจะมีทางออกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
เปลี่ยนจากเรือดำน้ำ เป็น ‘เรือฟริเกต’
ประเด็นการเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็น ‘เรือฟรืเกต’ นั้น นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงว่า แผนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น มาจากความไม่ชัดเจนเรื่องเรือดำน้ำ ที่ทางจีนไม่สามารถทำได้ตามสัญญาที่มีการลงนามไว้ ซึ่งการเซ็นสัญญาข้อตกรัฐดังกล่าว เป็นสัญญาที่หากเกิดปัญหาขึ้นสามารถเจรจาถึงข้อตกลงกันใหม่ได้
ซึ่งด้วยเหตุผลเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำดังกล่าว จึงจำเป็นต้องหาทางออกที่ดีที่สุด โดยทางกองทัพเรือเสนอมาว่า หากไม่ใช่เรือดำน้ำจึงเสนอทางเลือกให้ คือ ข้อแรก คือ เลือกฟริเกต / ข้อสอง คือ เรือโอพีวี ทางรัฐบาลจึงบอกว่าเอาเป็นเรือฟริเกตดีกว่า
พร้อมจะพยามทำให้ไทยไม่เสียประโยชน์ และจะต้องเจรจาให้ถึงที่สุด ทั้งเรื่องลดราคาและเงื่อนไขต่าง ๆ โดยเราต้องเจรจาให้ได้ประโยชน์ที่สุด อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ต้องได้ข้อสรุปก่อนหมดสัญญาในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งหากทางฝั่งจีนพร้อมเจรจาก็จะมีการเสนอการเปลี่ยนแปลงข้อตกลง
เรือฟริเกต คืออะไร
เรือฟริเกต (frigate) สามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติ คือบนผิวน้ำ ใต้น้ำ และอากาศ จัดว่าเป็นเรือรบหลักของกองทัพเรือโดยทั่วไป ซึ่งกองทัพเรือไทยนั้น มีเรือฟริเกต อยู่ทั้งหมด 4 ลำ
เรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เรือฟริเกตที่กองทัพเรือใช้ประจำการอยู่ในขณะนี้ เป็นเรือชุดที่ต่อขึ้นเพื่อทดแทนเรือฟริเกตชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งปลดปลดประจำการในปี พ.ศ. 2560
สามารถปฏิบัติการได้ในสภาวะแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนทางเคมี ชีวะ รังสี และนิวเคลียร์ สามารถทนทะเลได้ในระดับ 8 ความสูงคลื่นประมาณ 12 เมตร ทำความเร็วได้สูงสุด 30 นอต มีระยะในการปฏิบัติการไกล 4,000 ไมล์ทะเล ปฏิบัติการต่อเนื่องได้ 21 วัน ใช้กำลังพลปฏิบัติงานทั้งหมด 141 นาย โดยมีนายทหารระดับนาวาเอก เป็นผู้บังคับการเรือ
โดยเรือมีการออกแบบให้ใช้เทคโนโลยีในการล่องหน (ตรวจจับได้ยาก) สามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติคือ ผิวน้ำ ผ่านระบบอำนวยการรบที่สามารถปฏิบัติการร่วมกับเรือลำอื่น ๆ ของกองทัพเรือเพื่อปฏิบัติการในรูปแบบของกองเรือ รวมถึงปฏิบัติการร่วมกับอากาศยานทั้งของกองทัพเรือและกองทัพอากาศเองในการโจมตีเรือผิวน้ำ ใต้น้ำ ผ่านการตรวจจับเป้าหมายใต้น้ำด้วยโวนาร์ลากท้ายและโซนาร์ใต้ลำเรือ
และต่อต้านทำลายด้วยตอร์ปิโด หรืออาวุธระยะไกล และทางอากาศ ผ่านเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกล 3 มิติ และเรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลางสำหรับค้นหาอากาศยานและตรวจจับพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเรือและอากาศยานที่ร่วมการปฏิบัติการรบ และโจมตีด้วยขีปนาวุธหรือปืนประจำเรือ
เรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช มีการติดตั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ ขีปนาวุธต่อต้านเรือดำน้ำแบบ VL ASROC (Vertical Launch Anti-Submarine Rocket) หรือ แอสร็อก ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศแบบ ESSM (Evolved SeaSparrow Missile) จากแท่นยิงขีปนาวุธแนวดิ่งแบบ Mk.41 VLS อาวุธปืนประจำเรือคือปืนใหญ่เรือแบบออโตเมราล่า 76/62 คาลิเบอร์ อาวุธปล่อย่อต้านเรือผิวน้ำแบบ อาร์จีเอ็ม-84ดี ฮาร์พูน และอากาศยานปีกหมุนประจำเรือสำหรับการปฏิบัติการต่อเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำ
กองเรือฟริเกต ของ กองทัพเรือไทย
เรือฟริเกตที่ประจำการในกองทัพเรือไทยนั้น แบ่งออกเป็นกองเรือฟริเกตที่ 1 และกองเรือฟริเกตที่ 2
กองเรือฟริเกตที่ 1
มีหน้าทีจัดและเตรียมกำลังสำหรับการปฏิบัติการรบผิวน้ำ ปราบเรือดำน้ำ และป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งมีการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ อาทิ จัดส่งเรือออกปฏิบัติราชการ ในทัพเรือภาคที่ 1 2 และ 3 ตามแผนการใช้เรือ โดยมี การปฏิบัติการลาดตระเวนคุ้มครอง เรือประมง การป้องกันการกระทำผิดกฎหมายในทะเล การป้องกันฐานขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่หัวเมืองชายทะเลและการลาดตระเวนร่วมกับ ทร.เวียดนาม และ มาเลเซีย
การฝึกอบรมกำลังพล เพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์ให้สามารถปฏิบัติราชการ ตามหน้าที่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ , ดูแลบำรุงรักษาเรือและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อม ปฏิบัติราชการตลอดเวลา รวมถึงฝึกการปฏิบัติงานต่าง ๆ ในทะเลทางยุทธวิธี และสาขาการปฏิบัติต่าง ๆ กับกองเรือต่าง ๆ ในกองทัพเรือและกับกองทัพเรือของมิตรประเทศเพื่อให้มีขีดความสามารถ และความชำนาญในการทำการรบ รวมทั้ง มีการพัฒนา อยู่ตลอดเวลา
กองเรือฟริเกตที่ 2
กองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 โดยกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติให้กองทัพเรือปรับโครงสร้างหน่วยกำลังรบใหม่ โดยจัดแบ่งกองเรือตามประเภทจากเดิม 4 กองเรือ เป็น 9 กองเรือ ต่อมา กองทัพเรือได้รับมอบเรือฟริเกตชุด เรือหลวงเจ้าพระยา ซึ่งต่อจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวน 4 ลำ คือ เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงบางปะกง เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงสายบุรี
โดย เรือหลวงเจ้าพระยา ได้เดินทางถึงประเทศไทยเป็นลำแรก เมื่อเดือนเมษายน 2535 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จ ฯแทนพระองค์ ทรงเจิมเรือชุด เรือหลวงเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2535
ดังนั้น เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ข้าราชการในกองเรือฟริเกตที่ 2 จึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันคล้ายวันสถาปนาหน่วยตลอดมา และในปี 2537 กองทัพเรือได้รับมอบ เรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงตากสิน โดยให้สังกัดกับกองเรือฟริเกตที่ 2
มีหน้าที่ในการจัดและเตรียมกำลังสำหรับการปฏิบัติการผิวน้ำการปราบเรือดำน้ำ และการป้องกันภัยทางอากาศ ตั้งแต่ก่อตั้งเป็นต้นมา กองเรือฟริเกตที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างสมบูรณ์ จนเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญ
อาทิ การจัดเรือปฏิบัติราชการกองเรือภาค ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน การจัดกระบวนเรือคุ้มกัน เรือหลวงจักรีนฤเบศร ในการเดินทางจากประเทศสเปนกลับมายังประเทศไทย การฝึกภาคปฏิบัติในทะเลของนักเรียนนายเรือ จากภารกิจที่ได้รับมอบหมายที่ผ่านมาทำให้กำลังพลของกองเรือฟริเกตที่ 2 มีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะการปฏิบัติงานในทะเล
…
ข้อมูล :
- กองทัพเรือ
- กระทรวงกลาโหม