ไต้หวันเปิดตัวเรือดำน้ำที่ผลิตและต่อขึ้นภายจากอู่ต่อเรือของไต้หวันเอง ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในกิจการด้านการทหารของไต้หวัน และถือเป็นอีกหนึ่งในไม่กี่ชาติในเอเชียที่สามารถต่อเรือดำน้ำเพื่อใช้เองได้ ถือเป็นหนึ่งในในโครงการที่เป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างแรงกระเพื่อมท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวัน
มีหลายคำถามเกิดขึ้นถึงที่มาที่ไปของสาเหตุที่ไต้หวันต้องลงมือผลิตเอง ไปจนถึงประสิทธิภาพของเรือดำน้ำลำใหม่ของไต้หวันลำนี้
…
ที่มาที่ไปของเรือดำน้ำไต้หวัน
กองทัพเรือของไต้หวันมีเรือดำน้ำที่ประจำการอยู่ในกองทัพจำนวน 4 ลำด้วยกัน โดย 2 ลำเป็นเรือดำน้ำที่ไต้หวันจัดหาจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรือดำน้ำชั้น Hai Shih ที่ประจำการในกองทัพสหรัฐฯ ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอยู่ที่ฐานทัพเรือ Tsoying ในเกาสง
แม้ว่า เรือดำน้ำทั้งสองลำนี้ ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยในช่วงราวปี ค.ศ. 1950 ก่อนส่งต่อให้กับไต้หวัน แต่ก็ต้องยอมรับว่า ทั้งสองลำไม่อยู่ในสภาวะที่พร้อมจะใช้งานสักเท่าใดนัก มีปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวถังที่เกิดจากความล้าของโลหะ ระดับความลึกของการปฏิบัติการ ความเร็วที่มีเพียง 15 นอต ทำให้เรือดำน้ำทั้งสองลำนี้ ถูกใช้เป็นเรือดำน้ำสำหรับฝึกเป็นหลัก ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ปลดประจำการ และนำไปเก็บในพิพิธภัณฑ์ได้แล้ว
เรือดำน้ำชั้น Hai Lung ของไต้หวันอีกสองลำ ไต้หวันจัดซื้อมาจากประเทศเนเธอแลนด์ ในช่วงปี 1980 แต่เรือดำน้ำทั้งสองลำเป็นรุ่นที่ถูกออกแบบตั้งแต่ช่วงปี 1960 ซึ่งแม้ว่า จะยังคงใช้การได้และได้รับการอัพเกรดในช่วงปี 2016 แต่ถือเป็นโมเดลเก่า เทียบกับกองเรือดำน้ำของจีน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไต้หวันพยายามจัดหาเรือดำน้ำลำใหม่มาโดยตลอดตั้งแต่ในช่วงปี 1990 รัฐบาลไต้หวันได้ขอจัดหาเรือดำน้ำจากสหรัฐฯ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ แม้ว่าในปี 2001 สมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จะอนุญาตให้จำหน่ายอาวุธให้กับไต้หวัน รวมถึงเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้าด้วย แต่ด้วยท่าทีที่แข้งกร้าวของจีน ทำให้ไต้หวันจึงต้องหันไปจัดหาเรือดำน้ำจากเยอรมนี และเนเธอแลนด์แทน
ในปี 2004 สหรัฐฯ ได้เสนอที่จะต่อเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้าให้กับไต้หวัน แต่ท้ายที่สุดแผนก็ไม่ประสบความสำเร็จ นั่นทำให้ไต้หวันไม่สามารถจัดหาเรือดำน้ำลำใหม่ได้
…
จัดหาไม่ได้ จึงต้องสร้างเอง
หลังจากความพยายามจัดหาซื้อเรือดำน้ำเข้ามาประจำการดูจะเป็นไปได้ยาก ในปี 2005 รัฐบาลไต้หวัน จึงเริ่มมีไอเดียของการสร้างเป็นของตัวเอง แทนการจัดหาที่มีความยากลำบาก แต่ความท้าทายของไต้หวันไม่ใช่การต่อเรือ แต่เป็นเรื่องของ “การจัดหาพิมพ์เขียว – ต้นแบบเรือดำน้ำ” ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากกว่า การต่อเรือ
ข่าวคราวของการจัดหาเรือดำน้ำของไต้หวันเงียบหายไปราว 10 ปี ในปี 2014 ไต้หวันได้เปิดโครงการผลิตเรือดำน้ำในประเทศ โดยมีเป้าหมายในการต่อเรือดำน้ำจำนวน 8 ลำ ภายในปี 2025 มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่จากสหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส สวีเดน เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และออสเตรเลียมายังไต้หวัน เพื่อร่วมหารือในโครงการนี้
สามปีต่อมา ในปี 2017 ไต้หวันได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างเรือดำน้ำ ท่ามกลางข่าวลือว่า สหราชอาณาจักรได้มีการส่งต่อใบอนุญาตต่อเรือดำน้ำต่าง ๆ ไปยังไต้หวัน มูลค่ากว่า 167 ล้านปอนด์ ทั้งเทคโนโลยี ชิ้นส่วนไปยังไต้หวัน รวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่เป็นระยะเวลา 6 ปีนับตั้งแต่ปี 2017
ซึ่งในความชัดเจนของโครงการนี้เพิ่มมากขึ้นเมื่อปี 2018 รัฐบาลสหรัฐฯ ก็อนุมัติให้มีการส่งต่อเทคโนโลยีในการต่อเรือดำน้ำมายังไต้หวัน แต่ก็ไม่มีรายละเอียดใด ๆ ว่า สหรัฐฯ ส่งต่อเทคโนโลยีการต่อเรือดำน้ำใดให้กับไต้หวันบ้าง แต่หลายฝ่ายคาดว่า มีข้อมูลที่ส่งต่อให้ไต้หวันหลายอย่าง ซึ่งรวมไปถึงระบบโซนาร์ กล้อง และระบบอาวุธต่าง ๆ แต่หลายอย่างถูกปิดเป็นความลับ โดยไม่ระบุว่า บริษัทใดบ้างที่ส่งข้อมูลเหล่านี้ให้กับไต้หวัน
ในปี 2019 ภาพโมเดลแรกของเรือดำน้ำลำแรกที่จะเมดอินไต้หวัน ก็ได้มีความเผยแพร่ออกมา โดยหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เรือดำน้ำของไต้หวัน มีความคล้ายคลึงกับ เรือดำน้ำชั้น Soryu ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะหางเสือรูปตัว X ทำให้หลายฝ่ายคาดว่า หนึ่งในทีมสร้างเรือดำน้ำลำแรกของไต้หวันนั้น มาจากญี่ปุ่น โดยอาจจะเป็นทีมวิศวกรที่เกษียณอายุจากทั้ง Mitsubishi Heavy Industries (MHI) และ Kawasaki Heavy Industries (KHI) ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้ เป็นบริษัที่สร้างเรือดำน้ำให้กับกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นมานานหลายสิบปี
ซึ่งในโครงการนี้ ไต้หวันได้มีการจ้างวิศวกร รวมถึงช่างเทคนิคต่าง ๆ จากออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย สเปน รวมถึงเกาหลีใต้ ร่วมกับช่างเทคนิคภายในประเทศ และไต้หวันเอง ก็ระบุว่า ได้รับการสนับสนุนจากหลาย ๆ ชาติ ในการสร้างเรือดำน้ำในอู่ต่อเรือของไต้หวัน นั่นทำให้ลักษณะบางอย่างของเรือดำน้ำไต้หวันมีความคล้ายคลึงกับชั้น Zwaardvis และ Walrus ของเนเธอแลนด์
ในปี 2020 ประธานาธิบดีไช่ อิง เหวิน ได้เปิดศูนย์ต่อเรือดำน้ำในเขตเกาสง และตั้งเป้าการสร้างเรือดำน้ำ 8 ลำภายในปี 2025 ต่อมาในปี 2021 มีกระแสข่าวของไลน์ผลิตเรือดำน้ำที่ถูกเร่งขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่า เป็นผลมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นทำให้แผนการสร้างเรือดำน้ำของไต้หวันถูกเร่งให้เร็วขึ้น
ในการเปิดตัวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 นายเจิ้งเหวินหลง ประธานบริษัทอู่ต่อเรือไต้หวันได้ระบุว่า ใช้อุปกรณ์-อะไหล่ที่ผลิตในไต้หวันถึง 40% และจากคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวทำให้มีหลายคนตั้งข้อสังเกตถึงชิ้นส่วนอีก 60% ที่เหลือ น่าจะมีการนำเข้ามาจากอีกหลายประเทศที่สนับสนุนการต่อเรือดำน้ำของไต้หวัน
…
รู้จักเรือดำน้ำลำใหม่ของไต้หวัน
ไต้หวันได้เปิดตัวเรือดำน้ำลำแรก เรือดำน้ำ ROCS Hai Kun (SS-711) ที่ต่อขึ้นเองภายในไต้หวัน เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2023 ที่ผ่านมา โดยเรือดำน้ำลำนี้ต่อขึ้นในอู่ต่อเรือ CSBC Corporation
เรือดำน้ำลำแรกของไต้หวันนี้ มีชื่อว่า Hai Kun เป็นชื่อของสัตว์ทะเลในตำนานจีนโบราณ ตัวเรือมีความยาว70 เมตร กว้าง 8 เมตร มีระวางขับน้ำราว 2,500 ตัน สามารถดำน้ำลึกได้ราว 350 – 420 เมตรโดยเรือลำนี้ได้ทำพิธีวางกระดูกงูเรือเมื่อปี 2021 และไต้หวันยังคงเดินหน้าต่อเรือดำน้ำลำต่อไป เพื่อให้ได้ 8 ลำตามแผนที่ตั้งเป้าไว้
หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า เรือดำน้ำเมดอินไต้หวันลำนี้ ได้รับการติดตั้งระบบการรบ AN/BYG-1 ขั้นสูงแบบเดียวกับที่ติดตั้งในเรือดำน้ำนิวเคลียร์ชั้น Virginia ของสหรัฐฯ มีการติดตั้งตอร์ปิโดรุ่น MK-48 โดยสหรัฐฯ ได้อนุมัติขายให้ไต้หวัน มูลค่า 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2020
แต่ภาพของเรือดำน้ำลำแรกที่ผลิตในไต้หวันลำนี้ ถูกคลุมด้วยธงของไต้หวัน ทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ว่า เรือดำน้ำในรุ่นนี้ สามารถบรรจุดตอร์ปิโด จำนวนเท่าใดกันแน่ นอกจากนี้ยังคาดว่า เรือดำน้ำลำนี้ยังมีระบบ AIP (Air Independent Propulsion) ติดตั้งไว้ด้วย ทำให้เรือสามารถปฏิบัติการใต้น้ำได้นาน และตรวจจับได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของเรือดำน้ำที่ผลิตโดยไต้หวันลำแรกยังคงเป็นความลับว่า มีเทคโนโลยีใดบ้าง ที่ถูกนำไปใช้ในเรือดำน้ำของไต้หวันลำนี้ จึงทำให้การประเมินประสิทธิภาพนั้นยังคงเป็นข้อมูลที่ไม่มีใครทราบในขณะนี้ โดยหลังจากนี้ จะมีการนำเรือดำน้ำลำนี้ เข้าทดสอบเพิ่มเติมในระบบเทียบท่า (Harbor Acceptance Test: HAT) ระบบในทะเล (Sea Acceptance Test : SAT)
เรือดำน้ำไต้หวันดีแค่ไหน?
สำหรับประสิทธิภาพในขณะนี้ ยังคงไม่มีข้อมูลใด ๆ ที่แพร่งพรายออกมามากนัก เพราะทุกอย่างในโครงการนี้ ล้วนแล้วแต่ถูกเก็บเป็นความลับ มีการผสมผสานเทคโนโลยีจากหลายประเทศเข้าด้วยกัน จากข้อสังเกตต่าง ๆ เช่น ตัวเรือที่มีลักษณะคล้ายของญี่ปุ่น แต่ข้อมูลที่มีการรายงานออกมาเมื่อปี 2018 ระบุว่า บริษัท GAVRON LIMITED ในประเทศยิปรอลตาร์ เป็นผู้ออกแบบตัวเรือ ซึ่งบริษัทแห่งนี้ ถูกมองว่า มีความเชื่อมโยงกับสหราชอาณาจักร (ในโครงการนี้มีบริษัทต่างชาติ 6 แห่งจากทั้งยุโรป สหรัฐฯ อินเดีย และญี่ปุ่น เสนอตัวในโครงการนี้)
หลังจากที่มีต้นแบบล็อตแรกได้รับการยอมรับและตรวจสอบเรียบร้อย ก็มีการดึงตัวผู้เชี่ยวชาญจากอินเดีย ที่มีประสบการในการดูแลเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้าในกองทัพอินเดียเข้ามา พร้อม ๆ กับการดึงตัวทีมวิศวกรจากญี่ปุ่นเข้ามาร่วม แม้ว่า ในช่วงแรกบริษัทญี่ปุ่นที่เข้าเสนอตัวในโครงการนี้ พลาดโอกาสไป และปฏิเสธที่จะเข้าร่วม แต่ในภายหลัง สหรัฐฯ ได้เข้ามาเป็นผู้ประสานงาน จนสามารถดึงตัวทีมวิศวกรญี่ปุ่นเข้ามาร่วมในการออกแบบและต่อเรือดำน้ำไต้หวันลำนี้
ซึ่งสาเหตุของการดึงทีมงานจากญี่ปุ่นเข้ามานั้น เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องของสภาพแวดล้อมของไต้หวัน จึงจำเป็นต้องใช้เรือดำน้ำที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก และแบบของเรือดำน้ำญี่ปุ่นดูจะเป็นทางเลือกที่ดี มีรายงานว่า ตัวเลือกหนึ่งที่สหรัฐฯ เสนอกับไต้หวัน คือ การเลือกใช้พิมพ์เขียวเรือดำน้ำที่มีอยู่แล้ว และปรับแต่งมันให้เหมาะสมกับความต้องการ และเรือดำน้ำของญี่ปุ่น ดูจะเป็นตัวเลือกที่ทางการไต้หวันพึงพอใจ
ทางด้านของ การติดตั้งระบบนำร่อง ระบบการต่อสู้ จากสหรัฐฯ ซึ่งมีการหยิบเอาเทคโนโลยีบางอย่างที่ใช้ในเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เข้ามาผสมผสานด้วย ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรือดำน้ำไต้หวันดูจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว ด้วยความร่วมมือจากหลาย ๆ ชาติ
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามกันต่อไปถึงการทดลองและทดสอบใช้งาน เนื่องจากยังมีโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดได้ เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับเรือดำน้ำชั้น Son Won-il ของเกาหลีใต้ ที่มีปัญหาข้อบกพร่องในส่วนของ สาย cable ของ inverter module จำนวน 7 ลำ และอีก 2 ลำ พบปัญหาการทำงานของตัวระบบ inverter module จนกระทั่งทำให้ เรือดำน้ำ SS-075 ROKS An Jung-geun ต้องลอยลำจอดนิ่งอยู่กลางทะเล และถูกลากจูงกลับเข้าฝั่ง
…
เรือดำน้ำเมดอินไต้หวันจะเปลี่ยนฉากทัศน์ของสงครามหรือไม่?
จากการประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ การต่อเรือดำน้ำของไต้หวันนั้น ดูจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ถือว่า ส่งผลดีต่อกองทัพไต้หวันมากขึ้น แต่ยังคงต้องดูในระยะยาวต่อไป เนื่องจากการสร้างเรือดำน้ำของไต้หวันนี้ ยังคงเป็นการเดินหน้าสร้างขึ้นเพื่อทดแทนเรือดำน้ำลำเก่าที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างให้ได้ในล็อตแรกจำนวน 8 ลำด้วยกัน
ในขณะที่จีนมีกองเรือดำน้ำมากกว่า 60 ลำ รวมถึงหากความตึงเครียดระหว่างสองประเทศไปถึงจุดที่มีการเปิดศึกเข้าหากัน ระยะทางจากแผ่นดินใหญ่ ถึงไต้หวันนั้น ไม่ไกลมากนัก ดังนั้นการผลิตเรือดำน้ำของไต้หวันเองนั้น หลายฝ่ายมองว่า นี่ไม่อาจจะเปลี่ยนฉากทัศน์ทั้งหมดได้ แต่ช่วยให้ไต้หวันยื้อได้นานมากขึ้น
ในขณะที่เรือดำน้ำไต้หวัน หากมีมากขึ้น ย่อมเป็นผลดีกับภาพรวมของกลุ่มชาติพันธมิตรท่ามกลางความตึงเครียดในภูมิภาคมากกว่า เพราะต้องไม่ลืมว่า แม้จีนจะมีแผ่นดินใหญ่ แต่เส้นทางออกสู่ทะเลนั้นมีเพียงด้านเดียว
ทางด้านเหนือ มีกองเรือดำน้ำของเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ทำหน้าที่อยู่ และทั้งสองประเทศนั้นสามารถผลิตเรือดำน้ำได้เองแล้วเช่นกัน การที่ไต้หวันที่อยู่ปากประตูบ้านของจีนสามารถจัดตั้งกองเรือดำน้ำที่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลกดดันต่อจีนได้มากขึ้นนั่นเอง
…
ข้อมูล
- https://www.nti.org/analysis/articles/taiwan-submarine-capabilities/
- https://www.scmp.com/news/china/policies-politics/article/1986666/taiwan-starts-designing-home-built-attack-submarine