นับถอยหลังใกล้หมดวาระในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีแล้ว สำหรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ ‘บิ๊กตู่’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย หลังการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับอีก 10 พรรคร่วม
กระทั่งได้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณบัติแคนดิเดตรัฐมนตรี ที่ส่งรายชื่อให้กับทางเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจสอบ และทูลเกล้าฯ ในลำดับถัดไป
ชื่อของพลเอกประยุทธ์ เป็นที่พูดถึงในประเทศไทยอย่างมากในช่วงตลอดสถานการณ์การเมือง 9 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 2557 กระทั่งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 เมื่อปี 2562
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมาของพลเอกประยุทธ์นั้น ทำให้บ้านเมืองสงบขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้กฎหมายพิเศษ มาตรา 44 ของ คสช. ด้วยการนำผู้เห็นต่างทางการเมือง หรือ กลุ่มความขัดแย้งทางการเมือง เข้ามาปรับทัศนคติ จนถูกกลุ่มต่อต้านขนานนามว่าเป็น ‘รัฐบาลเผด็จการ’
ย้อนเส้นทางการเมืองของ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบกในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึง 16 กรกฎาคม 2562 ภายใต้ชื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
โดยหลังการทำรัฐประหารในช่วงเดือนสิงหาคม 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติเอกฉันท์เลือกพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี
ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาอย่างยาวนานกว่า 9 ปี และเป็นนายกรัฐมนตรีตามระยะเวลาดำรงตำแหน่งรวมทุกวาระเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย ซึ่งยาวนานกว่าพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
เกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง ในระหว่าง 9 ปี
ปิดเหมืองทองอัครา
ในปี 2559 พลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าคสชได้ใช้อำนาจมาตรา 44 ปิดเมืองทองมกราคมโดยบริษัทคิงส์เกตเคยยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลไทยชดใช้เงินราว 30,000 ล้านบาท กระทั่งในปี 2563 รัฐบาลไทยและบริษัทคิงส์เกตได้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการที่สิงคโปร์โดยในปี 2564 รัฐบาลใช้งบประมาณในการต่อสู้คดีกว่า 389 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในกระบวนการไต่สวนคดีดังกล่าวได้ยุติไปตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการไกล่เกลี่ยกับทางบริษัทคิงส์เกต
ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ
หลังการเลือกตั้งในปี 2562พลเอกประยุทธ์ได้รับเสียงโหวตในสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ซึ่งในวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 พลเอกประยุทธ์ได้นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
หลังจากนั้นในการประชุมสภาทางพรรคอนาคตใหม่โดยมีนายปิยบุตรแสงกนกกุลได้หารือกับประธานสภาในการตั้งข้อสังเกตว่าพลเอกประยุทธ์ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญพระราชอาณาจักรไทย 2560
อย่างไรก็ตามในกรณีดังกล่าวได้มีผู้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินกระทั่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญแต่ศาลมีมติไม่รับคำร้องดังกล่าว
กรณีบ้านพักหลวง
ในช่วงปลายปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่พลเอกประยุทธ์อาศัยอยู่ในบ้านพักประจำตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อแม้เกษียณอายุราชการไปแล้วไม่ขัดต่อกฎหมาย
ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19
ในช่วงการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทย พลเอกประยุทธ์นายออกกฎหมายร่วมอำนาจของรัฐมนตรีมาอยู่ที่นายกเพียงคนเดียว พร้อมขยายเพดานเงินกู้จากไม่เกินร้อยละ 60 เป็นไม่เกินร้อยละ 70 ของ GDP และขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 โดยระบุว่าเพื่อใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19
ซึ่งในระหว่างนั้นก็มีการชุมนุมประท้วงพลเอกประยุทธ์ ซึ่งทางรัฐบาลได้ใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อควบคุมการชุมนุมทางการเมืองโดยมีผู้ถูกกล่าวหาตามกฎหมายดังกล่าวมากกว่า 1,000 คน ก่อนจะมีการยกเลิกประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565
อย่างไรก็ตามในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการบริหารจัดการแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งเรื่องวัคซีน ผู้ป่วยที่ล้นโรงพยาบาล ไม่มีเตียงรักษา
กรณีห้ามดำรงตำแหน่งนายกรวมกันเกิน 8 ปี
ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 พรรคร่วมฝ่ายค้านค้านมีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญห้ามมิให้บุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกันเกิน 8 ปี ซึ่งพลเอกประยุทธ์ ได้เริ่มตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จึงมีการร่วมลงชื่อและยื่นคำร้องต่อประธานสภาเพื่อพิจารณาส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์
อย่างไรก็ตามภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง ทำให้พลเอกประยุทธ์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว แต่ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลการพิจารณาว่าให้เริ่มนับวาระนายกรัฐมนตรีตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผล
ประกาศวางมือทางการเมือง
หลังการเลือกตั้ง 2566 พลเอกประยุทธ์ ได้ประกาศวางมือทางการเมือง หลังผลการเลือกตั้งของพรรครวมไทยสร้างชาติไม่ถึงเป้าที่วางไว้ และสิ้นสุดวาระการเป็นนายกรัฐมนตรี หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
อย่างไรก็ตามพลเอกประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีชุดเดิมจะยังรักษาการในตำแหน่งต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะถวายสัตย์ปฏิญาณตนเสร็จสิ้น
พร้อมกันนี้ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก กล่าวอำลา 9 ปี ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมระบุว่า เป็น 9 ปีของประเทศไทยที่ได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีความเจริญก้าวหน้าในหลายด้าน โดยมองว่าหลังจากนี้ประเทศไทยไม่ต้องนับ 1 เริ่มต้นไป เพียงแต่ต่อยอดและสานต่อเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป
ผลงานของ ‘ลุงตู่’ กับสัญญาที่ให้ไว้
‘เราจะทำตามสัญญา… ขอเวลาอีกไม่นาน…’ เป็นท่อนหนึ่งในเพลง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ ที่คนไทยต่างคุ้นชินเป็นอย่างดี หลังการทำรัฐประหารปี 2557 ของ คสช. ภายใต้การนำโดยพลเอกประยุทธ์ หัวหน้าคณะฯ
ซึ่งหลังจากเข้ามาควบคุมอำนาจทางการเมืองแล้ว ทางรัฐบาล คสช. ได้ แถลงผลการดำเนินการในการบริหารประเทศในระยะ 6 เดือนหลังการทำรัฐประหาร โดยเป็นนโยบายทั้ง 11 ด้าน ดังนี้
- นโยบายที่ 1 การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์
- นโยบายที่ 2 การรักษาความมั่นคงของรัฐและต่างประเทศ
- นโยบายที่ 3 การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ
- นโยบายที่ 4 การศึกษาและเรียนรู้ การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
- นโยบายที่ 5 การยกระดับคุณภาพบริกรด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน
- นโยบายที่ 6 การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
- นโยบายที่ 7 การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน
- นโยบายที่ 8การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประเทศจากวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรม
- นโยบายที่ 9 การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร การสร้างสมดุลและระหว่างกรอนุรักษ์กับการใมช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
- นโยบายที่ 10 การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ
- นโยบายที่ 11 การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
“ยุทธศาสตร์ชาติ” ระยะยาว 20 ปี เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางและกรอบแนวคิดในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ให้เกิดความต่อเนื่อง เป็นเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนได้ทำงานร่วมกัน ขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกระดับ
สำหรับผลงานด้านคมนาคม ในรัฐบาลของลุงตู่ ได้เดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมครั้งยิ่งใหญ่ ในทุกระบบ ทั้งทางถนน ทางราง ทางทะเล และทางอากาศ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต
พร้อมเปิดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อกิจการพิเศษ ทั้งด้านการแพทย์ ด้านนวัตกรรม ด้านดิจิทัล เป็นต้น ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะแรงงานทักษะสูง-แรงงานแห่งอนาคต รวมถึงเกษตรอัจฉริยะ เพื่อตอบสนองตลาดแรงงานในอนาคต และการพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21
ด้านการบริการจัดการทรัพยากรที่สำคัญของชาติ ด้าน “น้ำ” ออกกฎหมายน้ำฉบับแรกของประเทศ มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการหน่วยงานน้ำในทุกระดับ , ด้าน “ดิน” ตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และจัดทำแผนที่ One Map เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนมาหลายสิบปี รวมทั้งจัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้ยากไร้-เกษตรกร , ด้าน “ป่า” เช่น ออกกฎหมายป่าชุมชน ไม้มีค่า และตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ
ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น (1) ส่งเสริมสวัสดิการกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก-ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ (2) ส่งเสริมบทบาทกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กองทุนยุติธรรม และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (3) การยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษา รองรับความท้าทายใหม่ๆ ของโลกในอนาคต
ด้านการปฏิรูประบบราชการ โดยประยุกต์เทคโนโลยีที่ทันสมัยในระบบราชการไทย เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนและเอกชน ที่เข้าถึงง่าย – สะดวก – โปร่งใส เช่น (1) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ช่วยให้การจ่ายเงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตรงเป้าหมาย เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตรวจสอบได้ (2) UCEP สายด่วน 1669 บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ฟรีทุกสิทธิ์ ทุกโรงพยาบาล เป็นต้น
ด้านการต่างประเทศ ได้สร้างความสัมพันธ์ทั่วโลก ทั้งในรูปแบบทวิภาคี-พหุภาคี และเขตการค้าเสรี (FTA) รวมทั้งรื้อฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อขยายความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และตลาดการค้าระหว่างกัน