คัดลอก URL แล้ว
‘พรรคประชาธิปัตย์’ การเพิ่มรอยร้าว หลังโหวตนายกฯ

‘พรรคประชาธิปัตย์’ การเพิ่มรอยร้าว หลังโหวตนายกฯ

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการลงมติโหวตนายกรัฐมนตรี โดยพรรคเพื่อไทยได้เสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน ในการลงโหวตครั้งนี้ พร้อมฝ่าด่าน สว. ได้สำเร็จ ด้วยมติเห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง และ งดออกเสียง 81 เสียง โดยมีผู้ร่วมลงคะแนน 728 เสียง ส่งผลให้นายเศรษฐา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองในการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ คือ กรณี ส.ส. แหกมติพรรคของ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อนหน้านี้ที่ประชุมพรรคมีมติให้ ‘งดออกเสียง’ ในการโหวตนายกรัฐมนตรี วันที่ 22 ส.ค.66

แต่กระนั้นพอถึงวันโหวตนายกรัฐมนตรี กลับมี ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์จำนวน 16 คน จาก ส.ส. ของพรรคทั้งสิ้น 25 คน โหวตเห็นชอบให้นายเศรษฐา นั่งเก้านายกรัฐมนตรี

ซึ่งกลายเป็นปมสร้างความสั่นคลอนภายในพรรคเพิ่มมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ปัญหาเรื่องการแต่งตั้งหัวหน้าพรรคก็ยังไม่มีความชัดเจน และสถานการณ์ภายในพรรคเองก็เหมือนว่าจะมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายไม่ลงรอยกันอยู่

‘รอยร้าว’ ในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าจะยิ่งทวีความรุนแรงของปัญหาภายในพรรคมากขึ้น แม้ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประธิปัตย์สามารถคว้าเก้าอี้ ส.ส. ได้เพียง 25 คน ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงคะแนนนิยมที่ถดถอยลงไปเรื่อย ๆ เนื่องด้วยความไม่ชัดของพรรคเอง

เสียงจาก 1 ใน 16 ส.ส. แหกมติพรรค

ในการโหวตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 โดยพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 25 เสียง หลังการโหวตพบว่ามี ส.ส.ของพรรค จำนวน 16 คน โหวตสวนมติพรรค ซึ่งกลับไปลงคะแนนเห็นชอบ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค โดย 16 ส.ส. ที่โหวตเห็นชอบมีดังนี้

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน

โหวตลงมติงดออกเสียงตามมติพรรค มี 6 คน และ โหวตไม่เห็นชอบ 2 คน ขณะที่นายราชิต สุดพุ่ม ส.ส.นครศรีธรรมราช แจ้งลาประชุมเพราะมีปัญหาสุขภาพ

โดยนายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 16 เสียงที่โหวตสวนมติพรรค ได้ชี้แจงว่า โดยยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องของการขอร่วมรัฐบาล ซึ่งที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านั้น แม้จะมีความเห็นสรุปให้งดออกเสียง แต่ก็มีความคิดเห็นของผู้ที่ร่วมประชุมหลากหลายกันไป

ส่วนตัวมองว่า ขณะนี้ผ่านมา 3 เดือนแล้วยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลและยังไม่มีนายกรัฐมนตรี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีนายกฯ และรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนประเทศ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า แม้ว่าการโหวตเลือกนายกฯ จะเป็นเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่ข้อบังคับพรรคก็มีอยู่ ซึ่งหากมีสมาชิกเข้าชื่อกันร้องให้ตรวจสอบ หรือ สอบสวนตามข้อบังคับพรรค ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการมีสอบสวนข้อเท็จถึงกรณีดังกล่าว

ส่วนเหตุผลที่มี ส.ส.โหวตสวนมติพรรคนั้น ไม่ได้มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าแต่อย่างใด และทางพรรคยังไม่เคยมอบใครไปเจรจาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น จนถึงขณะนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนยืนยันมาตลอด

“สิ่งหนึ่งที่ผมขอเรียนตรงนี้ก็คือ ประชาธิปัตย์มีศักดิ์ศรี เราเคยเป็นทั้งรัฐบาล เคยเป็นทั้งฝ่ายค้าน จะเป็นอะไรก็เป็น ไม่มีปัญหาแต่เราไม่เคยไปเป็นพรรคอะไหล่ ผมคิดว่าเราชัดเจนในเรื่องนี้”

รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

ปัญหาที่ยังไม่ได้สะสางของ ‘พรรคประชาธิปัตย์’

หลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. เพียง 25 คน ทำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น

แล้วยิ่งไปกว่านั้นการสอบตกของ ส.ส. ในพื้นที่ กทม. ซึ่งเดิมถือว่าเป็นพื้นที่ฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ก็กลับไร้ชื่อ ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งเป็นการสอบตกถึง 2 สมัยติดต่อกัน ในขณะที่พื้นที่ฐานเสียงภาคใต้ก็กลับถูกพรรคอื่นเบียดแซงแย่งที่นั่ง ส.ส. ไปแบบชนิดไม่เหลือเค้าลางเดิม ตอกย้ำความตกต่ำของพรรคประชาธิปัตย์ที่มิอาจแก้ตัวได้

นำไปสู่การจัดประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2566 ของพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 ก่อนที่ประชุมจะล่มลงในที่สุด อันเนื่องมาจากที่ประชุมได้มีการยืนยันจะใช้น้ำหนักคะแนน 70 ต่อ 30 ตามข้อบังคับของพรรค เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

แต่อีกเสียงส่วนหนึ่งเสนอให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนรวมถึงเสนอให้ปรับสัดส่วนการคิดคะแนนใหม่ ท้ายที่สุดในการประชุมวันนั้นก็ล่มไปแบบไม่เป็นท่า เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมไม่ครบองค์ประชุม

และจนมาถึงปัจจุบันนี้การแต่งตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่มีความชัดเจน อันเนื่องมาจากภายในพรรคมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเป็น 2 กลุ่มก้อน

2 กลุ่ม 2 แนวทาง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ณ ขณะนี้ภายในพรรคประชาธิปัตย์เองมีการแบ่งฝ่ายเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกเป็นกลุ่มของอำนาจเก่า ที่นำโดยนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายสาธิต ปิตุเตชะ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม อดีต ส.ส. ซึ่งกลุ่มที่สนับสนุนและพยายามดึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้กลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้ง

ในส่วนของกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นกลุ่มของ 16 ส.ส. ที่โหวตสวนมติพรรคในการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งล่าสุด ที่มีท่าทีสนับสนุนนายนราพัฒน์ แก้วทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

โดยวิถีทางการเมืองของ 2 กลุ่มนี้ มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยในฝั่งของกลุ่มอำนาจเก่าของพรรคประชาธิปัตย์ หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาพยายามยืนหยัดมาตลอด ถึงแนวทางทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศัตรูทางการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย ที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และมาจนถึงพรรคเพื่อไทย

ในขณะที่กลุ่มอำนาจใหม่ มีทิศทางการเมืองที่ค่อนข้างไหลตามสถานการณ์ทางการเมือง เพื่อให้อยู่ในกลุ่มขั้วอำนาจรัฐบาลเดิมอย่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการร่วมสร้าง ‘รัฐบาลพิเศษ’

วิถีการเมืองที่แตกต่างของ 2 กลุ่มนี้ จึงนำไปสู่ความไม่ลงรอยภายในพรรคเอง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในการโหวตนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ถึงการสวมมติพรรคของ 16 ส.ส. แม้จะมีการออกมาแก้ต่างว่าเป็นการทำเพื่อชาติบ้านเมือง ต้องการเห็นประเทศชาติขับเคลื่อนไปข้างหน้าก็ตาม แต่ก็คงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นหากมีต้องชี้แจงต่อกลุ่มอำนาจเก่า

ต้องจับตาดูว่าทางพรรคประชาธิปัตย์จะมีการแก้ไขฟื้นฟูปัญหาภายในพรรคเช่นไร จะสร้างความชัดเจนและความมั่นใจให้กับกลุ่มคะแนนเสียงได้หรือไม่ เพราะหากดูจากการเลือกตั้งใน 2 ครั้งที่ผ่านมานั้น คะแนนนิยมของทางพรรคก็ยิ่งจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ

รวมถึงหากการตั้งคณะกรรมการสอบสวน 16 ส.ส. ขึ้นมา และมีการขับไล่ออกจากพรรคเอง ก็ทำให้เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์จะลดลงต่ำกว่า 10 เสียงเท่านั้น

ซึ่งหากความชัดเจนทั้งภายในพรรคเองและวิถีทางการเมืองที่ยังไม่สามารถเป็นเอกภาพภายในพรรคได้ เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าเราอาจจะได้เห็น ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ลดน้อยลงไปมากกว่านี้ก็เป็นได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง