คัดลอก URL แล้ว
เกมการเมืองต่อจากนี้ หลังมติสภาฯ เสนอชื่อ ‘พิธา’ ซ้ำไม่ได้

เกมการเมืองต่อจากนี้ หลังมติสภาฯ เสนอชื่อ ‘พิธา’ ซ้ำไม่ได้

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการอภิปรายถึงข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ที่ห้ามมีการเสนอญัตติซ้ำ ในสมัยประชุมเดียวกัน กรณีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ว่าเข้าข่ายเป็นการเสนอญัตติซ้ำ ตามข้อบังคับที่ 41 หรือไม่ ซึ่งต้องมีการอภิปรายเพื่อตีความ โดยฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ยกเหตุผลข้อมูลและตีความที่แตกต่างกันออกไป

ท้ายที่สุดต้องใช้เวลานานกว่า 7 ชั่วโมง และมติในที่ประชุมสภา มีมติเสียงข้างมาก 395 เสียง ต่อ 312 เสียง / งดออกเสียง 8 / ไม่ลงคะแนน 1 เห็นด้วยว่าไม่สามารถเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ในสมัยประชุมนี้ ตามข้อบังคับที่ 41

จากมติของสภาฯในครั้งนี้ ส่งผลให้ในการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 นั้น จะเป็นการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในลำดับถัดไปนั้นคือรายชื่อจากพรรคเพื่อไทย ที่ได้คะแนนเสียงเป็นพรรคลำดับที่ 2 เนื่องจากทางฝั่งของพรรคก้าวไกลนั้นส่งรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ เพียงรายชื่อเดียวเท่านั้น

แม้ก่อนหน้านี้ทางพรรคก้าวไกลจะเดินเกมหวังปิดสวิตซ์ ส.ว. โดยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 หวังดัน ‘พิธา’ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ให้ได้ อันเนื่องมาจากพรรคที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชน กว่า 14 ล้านเสียง และเป็นพรรคอันดับที่ 1 ในการเลือกตั้ง 66 แต่สุดท้ายก็ไม่ถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้

‘พิธา’ กับปัญหาที่โถมเข้าใส่ สกัดขึ้นเป็นนายกฯ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งถูก กกต. ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีหุ้นไอทีวี รวมทั้งมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งเป็นเวลาที่ประจวบเหมาะในวันประชุมสภาฯ (19 ก.ค.66) เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องจากทาง กกต. และสั่งให้ ‘พิธา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

นอกจากนี้ยังคำร้องใหศาลรัฐธรรมวินิฉัยอีก 1 เรื่อง คือนโยบายแก้ไข มาตรา 112 ที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธอิสระ ยื่นคำร้องไว้ก่อนหน้านี้

แค่เหตุผลข้างต้นนั้นจึงเพียงพอให้ ส.ว. ส่วนใหญ่ เลือกที่จะไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง ให้กับ ‘พิธา’ เป็นนายกรัฐมนตรี ในการโหวตครั้งแรก ซึ่งในการโหวตครั้งที่ 2 ก่อนที่ ‘พิธา’ จะถูกปิดสวิตซ์เสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ ก็มีการคาดการณ์ว่าอาจได้เสียงจากฝั่ง ส.ว. เพิ่ม แต่อาจคะแนนอาจไม่ถึงกึ่งหนึ่งของที่สภาฯ

จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บทเฉพาะกาล โดยเฉพาะอำนาจของ ส.ว. ที่สามารถโหวตนายกฯ ได้นั้น เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ ‘พิธา’ ยากที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แม้จะมี ส.ว. บางส่วนเห็นด้วยที่จะโหวตให้ก็ตาม

แสงความหวังอันเลือนลางของ ‘ก้าวไกล’

ก่อนการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 ทางพรรคก้าวไกล ได้ประกาศโรดแมปโดยจะมีการขับเคลื่อนใน 2 สมรภูมิ คือ 1.การโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ และ 2.การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจโหวตนายกของ ส.ว. ถาวร ตลอดไป

ซึ่งเพียงแค่ในสมรภูมิแรก ความหวังของพรรคก้าวไกลก็เป็นอันต้องดับสูญ เนื่องจากมติเสียงข้างมากในสภาฯ ไม่เห็นด้วยในเสนอญัตติซ้ำ คือการเสนอชื่อ ‘พิธา’ ในการโหวตนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 เป็นการปิดฉากการผลักดันของพรรคก้าวไกล ในการให้หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีไปโดยปริยาย

ในส่วนสมรภูมิที่สองการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจโหวตนายกของ ส.ว. ในประเด็นนี้จากการวิเคราะห์ของหลาย ๆ ฝ่ายก็มองว่าเป็นไปได้ยากพอ ๆ กับการโหวตนายกฯ เช่นกัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272 มีหลายขั้นตอนหลายวาระ ซึ่งต้องมีเสียงจาก ส.ว. ร่วมเห็นชอบด้วยเช่นกัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะสามารถทำได้ในช่วงเวลานี้

สุดท้ายจากคำแถลงการณ์ของ ‘พิธา’ ยังระบุว่า หากเป็นที่ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้จริง ๆ ก็พร้อมเปิดทางให้พรรคอันดับสอง คือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ภายใต้ MOU ที่ทำร่วมกันไว้

อำนาจต่อรองที่เปลี่ยนไปหลังจากนี้

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้แสดงความเห็น หลังผลลงมติในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 19 ก.ค.66 ที่ไม่สามารถเสนอแคนดิเดตนายกฯซ้ำได้ โดยมองว่า ตำแหน่งประธานสภานั้นเป็นตำแหน่งสำคัญ เพราะสามารถใช้อำนาจของประธานสภา ในการให้โหวตนายกฯได้โดยไม่ต้องมองถือเงื่อนไขใด ๆ

นอกจากนี้ยังมองว่า มติสภาในครั้งนี้ ยังเป็นอำนาจต่อรองของ ส.ว. และพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่าง พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ในการต่อรองอำนาจกับทางเพื่อไทยอีกด้วย ซึ่งหากยังมีก้าวไกลอยู่ในสมการการจัดตั้งรัฐบาล ก็ยากที่อีกฝั่งจะร่วมโหวตให้แม้จะเป็นแคนดิเดตจนายกฯจากฝั่งเพื่อไทยก็ตาม

หรือหากในกรณีที่โหวตไม่เห็นด้วย ก็อาจเกิดกรณีเสนอชื่อแคนดิเดตจนหมดรายชื่อของทางฝั่ง 8 พรรคร่วม และนั้นจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับทางฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเดิมในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้เช่นกัน

ส่งไม้ต่อให้ ‘เพื่อไทย’ กับการเสนอแคนดิเดตนายกฯ

จากผลมติประชุมสภาล่าสุดนี้ ทำให้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสสูงที่จะมีโอกาสในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในการโหวตครั้งที่ 2 เนื่องสิทธิ์จากพรรคที่มีคะแนนอันดับที่ 2 สำหรับรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยมีดังนี้

ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยอาจมีการปรับขบวนกับ 8 พรรคร่วมใหม่หรือไม่ เพราะอีกโจทย์สำคัญของ ส.ว. คือหากมีพรรคก้าวไกล ก็จะไม่โหวตให้อยู่ดี โดยหลังจากนี้ต้องรอทางผู้บริหารพรรคจะต้องกำหนดท่าทีและพูดคุยกับ 8 พรรคร่วม ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งในส่วนของเพื่อไทยก็อาจจะมีการนัดหารือกัน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า ต้องมีการพูดคุยกันก่อน และเชื่อว่าคงใช้เวลาในการพูดคุยไม่นาน เพราะมองว่าการได้นายกรัฐมนตรีเร็วที่สุดจะดีที่สุด

สมการเปลี่ยน ในมุมมอง ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์’

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองชื่อดังได้ให้ความเห็นหลังผลมติประชุมสภาล่าสุดว่า หากเพื่อไทยจะเสนอชื่อเศรษฐา ก็ต้องมั่นใจว่าผ่าน ส.ว. ในครั้งเดียว จึงถึงเวลาที่ก้าวไกลจะต้องถูกผลักไปเป็นฝ่ายค้านสมบูรณ์แบบ

เพราะหากมีชื่อก้าวไกลในพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว แม้เสนอชื่อนายกฯ เพื่อไทยไปก็ไม่ผ่าน ส.ว. จะมีข้ออ้างในการไม่โหวตให้ เสียของไปอีก

พรรคก้าวไกลได้คะแนนมากเป็นอันดับ 1 ในทางประชาธิปไตยต้องได้จัดตั้งรัฐบาล แต่กลับไม่ได้ทั้งตำแหน่งประธานสภา นายกฯ และรัฐบาล

ผมเคยเตือนแล้วว่าต้องเอาประธานสภามาให้ได้ เมื่อตำแหน่งประธานสภาไปตกกับคนกลาง อ.วันนอร์ ผลจึงออกมาวันนี้ ต้องโหวตว่าจะเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ รอบสองได้ไหม

ท้ายสุดก้าวไกล ไม่ได้อะไรเลย จากกลเกมการเมืองอย่างเหี้ยม คะแนนประชาชนมาหลังสุด เคราะห์ซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น ก้าวไกลพลิกสถานการณ์ไม่ทันจากทะยานพุ่งสู่ฟ้า กลับดิ่งลงเหวโดยฉับพลันทันใด

ลูกบอลเข้าเท้าเพื่อไทยแต่หากเดินไม่ดีมีโอกาสพลาดเช่นกัน จึงต้องกลืนน้ำลายตัวเอง เอาพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย มาร่วมรัฐบาล พลิกขั้วตามที่ผมคาดไว้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง