คัดลอก URL แล้ว

แรงกระเพื่อมในศรีลังกา หลังพลายศักดิ์สุรินทร์กลับไทย

ภายหลังจากที่มีการส่งพลายศักดิ์สุรินทร์เดินทางกลับไทยในช่วงเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างแรงกระเพื่อมถึงประเด็นการดูแลช้าง และสถานการณ์ช้างในประเทศศรีลังกาอย่างมาก โดยสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่ส่งผลต่อความเห็นของชาวศรีลังกาเป็นวงกว้าง เนื่องจากช้างในศรีลังกาถือเป็นตัวแทนของพุทธศาสนา เป็นผู้พิทักษ์พระพุทธเจ้า ทำให้ช้างพลายที่มีงายาวออกมา ถูกนำมาร่วมพิธีอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วที่เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปีในศรีลังกา รวมถึงพิธีสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอื่น ๆ อีกด้วย

สวัสดิภาพช้าง ข้อถกเถียงที่แบ่งเป็นสองขั้ว

มีข้อถกเถียงกันอย่างมากถึงในเรื่องของ “สวัสดิภาพช้าง” ในประเทศศรีลังกา ภายหลังจากมีการส่งตัวพลายศักดิ์สุรินทร์กลับประเทศไทย ซึ่งความเห็นของชาวศรีลังกาได้แบ่งออกมาเป็นสองฝ่าย คือ

ฝ่ายสนับสนุนการส่งกลับ

กลุ่ม NGO ที่เคลื่อนไหว และประชาชนชาวศรีลังกาจำนวนหนึ่งได้ออกมาแสดงความเห็นด้วยในการส่งช้างไทยกลับมาแผ่นดินเกิด โดยมองว่า สิ่งที่ช้างในศรีลังกา โดยเฉพาะช้างพลายที่อยู่ภายใต้การดูแลของวัดต่าง ๆ ในศรีลังกามีการจัดการที่ไม่ดีพอ ช้างหลายเชือกถูกนำมาใช้งานเพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพิธีทางศาสนา และพิธีอื่น ๆ ที่สำคัญ โดยไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ และการส่งพลายศักดิ์สุรินทร์กลับประเทศนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่ก็ถือว่า เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่พลายศักดิ์สุรินทร์จะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอีกครั้งในบ้านเกิด

บางส่วนยังรู้สึกเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ถึงการดูแลช้างของไทยในศรีลังกาที่ทำได้ไม่ดีพอ จนเป็นเหตุให้ต้องมีการส่งตัวพลายศักดิ์สุรินทร์กลับประเทศ และจำนวนไม่น้อยระบุว่ าขอให้ทางการไทยไม่ต้องส่งพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมายังศรีลังกาอีก

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการดูแลรักษาในประเทศไทยว่า มีมาตรฐานที่ดีกว่า ศรีลังกาหลายเท่าตัว การรักษาพยาบาลพลายศักดิ์สุรินทร์จึงถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และดีกว่า การรักษาด้วยวิธีโบราณของศรีลังกาอย่างมาก การนำตัวกลับไปยังประเทศไทยจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และยังตำหนิถึงหน่วยงานภายในประเทศที่ไม่พร้อมในการดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ โดยเฉพาะช้าง ซึ่งยังคงมีช้างในศรีลังกาอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคงเผชิญชะตากรรมจากความเชื่อทางศาสนาที่นำช้าง มาเป็นเครื่องมือ

พลายศรีณรงค์ ที่ยังคงอยู่ในศรีลังกา

ฝ่ายคัดค้านส่งกลับ

ในขณะที่ฝ่ายที่คัดค้านการส่งกลับมองว่า นี่ถือเป็นเรื่องที่น่าอายของประเทศศรีลังกาที่เกิดขึ้นจาก NGO ที่รับเงินจากต่างชาติ และใช้กรณีพลายศักดิ์สุรินทร์ในการเพิ่มมูลค่าให้กับกลุ่มก้อนของตนเอง โดยอาศัยการบิดเบือนข้อเท็จจริงในการดูแลช้างในประเทศศรีลังกาอีกด้วย และกลุ่มผู้คัดค้านการส่งกลับยังมองว่า

“การส่งกลับพลายศักดิ์สุรินทร์ถือเป็นการกระทำที่กำลังบ่อนทำลายพุทธศาสนาและความเชื่อในศรีลังกา”

ทั้งยังมองว่า ช้างป่าจำนวนมากในศรีลังกาที่เสียชีวิตในแต่ละปี กลุ่ม NGO เหล่านี้ กลับไม่ออกมาเคลื่อนไหว แต่เลือกที่จะเคลื่อนไหวในประเด็นที่อ่อนไหวและทำให้เรื่องราวนี้ใหญ่โตขึ้นจนกลายเป็นข่าวที่น่าอับอายไปทั่วโลก ซึ่งอาจจะส่งผลให้ช้างที่ทางการศรีลังกาได้ขอมาจากประเทศอื่น ๆ เช่น อินเดีย กำลังอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกตรวรจสอบเพื่อขอคืนได้ในอนาคต

ซึ่งทางด้านของอดีตผู้นำผู้ปกครองสำนักงานฝ่ายอุปัฏฐากของวัดพระเขี้ยวแก้ว ระบุชัดเจน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และการให้ข้อมูลของทาง NGO นั้นจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างไทยและศรีลังกา ในเรื่องของช้างไทยทั้งสองเชือกที่ยังอยู่ในศรีลังกา หากทางการไทยนำตัวช้างทั้งสองเชือกกลับประเทศ ทางศรีลังกาก็คงจะต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อชดเชยต่อในสิ่งที่ศรีลังกาได้ดูแลช้างทั้งสองเชือกตลอดหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยในการส่งพลายศักดิ์สุรินทร์ยังมองด้วยว่า การส่งช้างกลับมาที่ประเทศไทยไม่ได้ทำให้สวัสดิภาพช้างดีขึ้น พร้อมทั้งมีการปั่นกระแส โดยอ้างว่า ช้างในประเทศไทยก็ไม่ได้รับการดูแลที่ดีอย่างที่คิด พร้อมทั้งได้มีการโพสต์ภาพและข้อความอ้างถึง “พิธีผ่าจ้านช้าง” ในประเทศไทยที่มีการใช้ความรุนแรงต่อช้างอีกด้วย

สะเทือนการเมืองศรีลังกา

การที่องค์กร “Rally for Animal Rights & Environment” หรือ RARE ในศรีลังกาออกมาระบุอย่างชัดเจนว่า ก่อนที่จะมีการแทรกแซงของทางการไทยนั้น ทางองค์กรได้มีการเรียกร้องไปยังรัฐบาลศรีลังกาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพลายศักดิ์สุรินทร์ แต่ไม่ได้รับการตอบสนองในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลให้ต้องประสานไปยังหน่วยงานของไทย และนำไปสู่การเข้ามามีส่วนร่วมของรัฐบาลไทยในประเด็นนี้

ทำให้นายดิเนช กูนาวาร์เดนา นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับพลายศักดิ์สุรินทร์ต่อรัฐบาลไทย และคนไทยที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น

ซึ่งในศรีลังกามีการพูดถึง “สวัสดิภาพ” ของสัตว์ โดยเฉพาะช้าง มากขึ้น นับตั้งแต่ไทยมีกรณีของพลายศักดิ์สุรินทร์เกิดขึ้น ทำให้หลายฝ่ายมีการตระหนักถึงปัญหาของช้างในศรีลังกามากยิ่งขึ้น โดยความเคลื่อนไหวของรัฐบาลศรีลังกาในขณะนี้

นายพจน์ หาญพล เอกอัครราชทูตไทยประจำศรีลังกา กับคณะเจ้าหน้าที่ของศรีลังกา เยี่ยมพลายประตูผา ที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี (ภาพ – FB / Athgala – ඇත්ගාල)

พลายประตูผา – พลายศรีณรงค์

ในประเด็นของพลายประตูผา ซึ่งมีอายุ 50 ปีแล้ว ในขณะนี้ ทั้งไทยและศรีลังกามีแนวทางร่วมกันในการหาทางออกและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ โดยมีแผนที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องของการดูแลรักษาช้าง ซึ่งทางด้านของประเทศไทยจะมีการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของการรักษาช้าง ให้กับรัฐบาลศรีลังกา มีกรมอุทยานฯ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นผู้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของศรีลังกา และขณะนี้ มีคณะสัตวแพทย์ ของมหาวิทยาลัยเมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกาที่จะเข้าร่วมในโครงการระหว่างทั้งสองประเทศ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นมีแผนในการสร้างโรงพยาบาลสัตว์ใหญ่ ในเมืองแคนดี้ ซึ่งเป็นเมืองที่พลายประตูผาอาศัยอยู่ และมีการส่งเจ้าหน้าที่สัตว์แพทย์ของไทย ไปช่วยดูแล แลกเปลี่ยนแนวทางการรักษาและดูแลช้าง ซึ่งจะทำให้การดูแลช้างในศรีลังกามีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น รวมถึงพลายประตูผาก็จะได้รับการดูแล ติดตามอย่างใกล้ชิดจากทางการไทยด้วย เนื่องจากการประเมินการเคลื่อนย้ายพลายประตูผาที่มีอายุ 50 ปีกลับประเทศไทยนั้น ถือเป็นเรื่องที่ยาก สำหรับการเดินทางในระยะทางไกล ต่างจากพลายศักดิ์สุรินทร์นั่นเอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง