ข่าวการนำช้างไทย พลายศักดิ์สุรินทร์ กลับคืนสู่แผ่นดินเกิดอีกครั้ง ภายหลังจากไปใช้ชีวิตอยู่ในศรีลังกานานกว่า 20 ปี และเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิภาพของช้าง และส่งผลให้พลายศักดิ์สุรินทร์มีอาการป่วย และสุขภาพย่ำแย่ลง จนกระทั่งทางการไทย สามารถนำตัวพลายศักดิ์สุรินทร์กลับคืนมาได้อีกครั้ง
ไทม์ไลน์ของพลายศักดิ์สุรินทร์
22 ปีในศรีลังกา นับตั้งแต่ ม.ค. 2544 ที่ประเทศศรีลังกาได้ขอลูกช้างจากประเทศไทย ซึ่งในครั้งนั้นทางการไทยได้ส่งช้าง 2 เชือก เพื่อเป็นทูตสันถวไมตรี คือ พลายศรีณรงค์ และพลายศักดิ์สุรินทร์
เมื่อเดินทางไปถึงศรีลังกา รัฐบาลของศรีลังกาได้ส่งมอบพลายศักดิ์สุรินทร์ให้กับ วัดคันเดวิหาร ในขณะที่พลายศรีณรงค์ถูกส่งมอบให้กับ วัดคิริวีหระ
หลังจากนั้นข่าวก็เงียบหายไปจนกระทั่งในเดือนมกราคม 2565 องค์กรพิทักษ์สัตว์ในศรีลังกาที่ชื่อว่า Rally for Animal Rights & Environment (RARE) ก็ได้เปิดประเด็นร้องเรียนเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของพลายศักดิ์สุรินทร์ว่า ไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้มีอาการป่วย ควรได้รับการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งทาง RARE ได้มีการร้องเรียนโดยตรงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เนื่องจากที่ผ่านมา ไม่ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานของศรีลังกาเท่าที่ควร
ทางการไทยจึงได้ประสานขอสอบถามขอเท็จจริงไปยังรัฐบาลศรีลังกา ซึ่งในการประเมินเบื้องต้นคาดว่า น่ามีปัญหาด้านสุขภาพ ทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการประสานอีกครั้งเพื่อขอตรวจเยี่ยม ในช่วงเดือนส.ค. 2566 และมีการจัดส่งทีมเจ้าหน้าที่สัตว์แพทย์เพิ่มเข้าไปดูแลสุขภาพในเดือน ก.ย. 2565 และเห็นว่า จะต้องให้พลายศักดิ์สุรินทร์หยุดทำงาน และส่งตัวกลับ
ทำให้ทางการไทยเริ่มกระบวนการในการขอรับตัวพลายศักดิ์สุรินทร์กลับประเทศไทย โดยในขั้นตอนแรกได้ขอให้ย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ไปยังที่อยู่ใหม่ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพให้แข็งแรง และเตรียมความพร้อมการเดินทางไกล ซึ่งในเดือน พ.ย. 2565 พลายศักดิ์สุรินทร์ได้ย้ายไปอยู่ที่ สวนสัตว์แห่งชาติศรีลังกา ในกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา
จนกระทั่งในเดือน ก.พ. 2566 ทางการศรีลังกาได้เห็นชอบที่จะส่งคืนพลายศักดิ์สุรินทร์กลับสู่ไทย โดยได้ขอบคุณทางการไทยที่เข้ามาช่วยดูแลอาการป่วยของพลายศักดิ์สุรินทร์ และได้มีการประชุมร่วมกันในหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์กลับไทย
โดยให้มีการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การฝึกขั้นตอนการเคลื่อนย้ายช้าง และฝึกพลายศักดิ์สุรินทร์ให้คุ้นเคยกับการเดินทางไกล พร้อมทั้งการเตรียมกรงสำหรับเคลื่อนย้าย ซึ่งกำหนดการเคลื่อนย้ายกลับไทยก็ได้เกิดขึ้น และในวันนี้ ( 2 ก.ค. 2566 ) จึงเป็นวันที่ พลายศักดิ์สุรินทร์จะได้กลับคืนสู่แผ่นดินไทยอีกครั้งหลังจากต้องเดินทางออกไปอยู่ในศรีลังกานานกว่า 20 ปี
…
พลายศรีณรงค์ยังสมบูรณ์ดี
สำหรับพลายศรีณรงค์ที่ได้มีการส่งมอบให้กับศรีลังกาพร้อมกันเมื่อกว่า 20 ปีก่อนนั้น คณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับไทย ได้เดินทางไปเยี่ยมพลายศรีณรงค์ โรงเลี้ยงช้างข้างวัดคิริวีหระ เพื่อยืนยันสุขภาพของพลายศรีณรงค์ พบว่า พลายศรีณรงค์มีสุขภาพ สมบูรณ์ แข็งแรงดี รวมถึงยังเป็นมิตรกับผู้คนที่ไปเยี่ยมด้วย
โดยควาญช้างชาวศรีลังกาผู้ดูแลพลายศรีณรงค์ได้ดูแลเป็นอย่างดี มีที่อยู่ดี มีสระน้ำให้ได้เล่น และในหนึ่งปี พลายศรีณรงค์จะออกไปร่วมงานพิธีเพียง 5-6 ครั้งเท่านั้น
…
เกิดอะไรขึ้นกับพลายศักดิ์สุรินทร์
ในการร้องขอของทางรัฐบาลศรีลังกาเมื่อปี 2544 ระบุว่า ประเทศศรีลังกาต้องการลูกช้างจากประเทศไทย เพื่อนำไปฝึก และใช้ในพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีการจัดสืบทอดกันมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี ภายหลังจากมีการส่งมอบพลายศักดิ์สุรินทร์ให้กับศรีลังกา และไปอยู่ในความดูแลของวัดคันเดวิหาร
อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่พิธีกรรมเพียงอย่างเดียวที่พลายศักดิ์สุรินทร์ต้องเข้าร่วมมีงานพิธีทางศาสนาอีกหลายงานที่พลายศักดิ์สุรินทร์ต้องเข้าร่วม
ซึ่งภายหลังจากเสร็จงานแล้ว ทาง RARE ระบุว่า พลายศักดิ์สุรินทร์จะถูกล่ามด้วยโซ่ตลอด 24 ชั่วโมง ในพื้นที่จำกัด ส่งผลให้อาการบาดเจ็บที่ขาหน้าซ้ายมีอาการหนักขึ้น และที่ผ่านมา อาการบาดเจ็บดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2018 หรือราว 4 ปีก่อนที่จะมีกระแสข่าว
ในขณะที่ควาญช้างชาวศรีลังกาผู้ดูแลพลายศักดิ์สุรินทร์ที่วัดคันเดวิหาร อ้างว่า จำเป็นต้องล่ามโซ่พลายศักดิ์สุรินทร์ เนื่องจากในบางครั้งช้างมีอาการก้าวร้าว ทำให้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนควาญช้างมาแล้วถึง 12 คน รวมถึงน้องชายของเขาที่บาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง จากโดนพลายศักดิ์สุรินทร์ทำร้ายด้วยงา
ส่วนฝีที่เกิดขึ้น ควาญช้างรายดังกล่าวอ้างว่า เกิดจากการฉีดยาปฏิชีวะนะในการรักษาอาการป่วยของพลายศักดิ์สุรินทร์ ไม่ได้มาจากการถูกทำร้ายแต่อย่างใด
…
ทำไมต้องช้างไทย
สำหรับในโลกนี้ มีช้างที่ยังไม่สูญพันธุ์อยู่ 3 สปีชีส์ด้วยกัน คือ ทวีปแอฟริกา 2 สปีชีส์ (สกุล Loxodonta spp.) และเอเชียอีก 1 สปีชีส์ (Elephas sp.) โดยในช้างเอเชียนั้นจะมีอยู่ 4 ชนิดย่อย คือ ช้างอินเดีย, ช้างศรีลังกา, ช้างสุมาตรา และ ช้างบอร์เนียว
สำหรับช้างไทยจะอยู่ในชนิดย่อยคือ ช้างอินเดีย ซึ่งจะมีงายาว ในขณะที่ช้างศรีลังกามักจะเป็นช้างไม่มีงา
ในขณะเดียวกัน ความเชื่อในประเทศศรีลังกานั้นมองว่า ช้างคือสัญลักษณ์ของศาสนาพุทธ และเป็นเหมือนราชาที่มีเกียรติ ศักดิ์ศรี ดังนั้นวัดในศรีลังจากจึงมีการเลี้ยงช้างไว้ เพื่อแสดงออกถึงสัญลักษณ์ดังกล่าว
นอกจากนี้ การที่วัดมีช้างที่มีงาที่ยาว และสวยงาม ในพิธีทางศาสนายิ่งถือว่า เป็นเกียรติและศักดิ์ศรีอย่างที่สุด โดยเฉพาะลักษณะที่เรียกว่า “งาอุ้มบาตร” ที่จะต้องมีงาที่ยาวและโค้งเค้าหากัน เปรียบเหมือนกับลักษณะของพระที่ยื่นมือออกมาอุ้มบาตรนั่นเอง
ช้างที่มีลักษณะ “งาอุ้มบาตร” จะได้รับเกียรติอันสูงสุดในการเข้าร่วมพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ พระเขี้ยวแก้ว
ลักษณะของการมีงาอุ้มบาตรที่เป็นความเชื่อของชาวศรีลังกาดังกล่าว จึงกลายเป็นสาเหตุให้ช้างที่มีลักษณะดังกล่าว ต้องออกมารับงานพิธีหลายครั้ง และพลายศักดิ์สุรินทร์ถือเป็นช้างที่มีลักษณะตามต้องการทุกประการ จึงทำให้แทบจะต้องออกงานเกือบทุกวัน จนส่งผลต่อสุขภาพ
…
หากไม่เปลี่ยนความเชื่อ ปัญหาก็ยังคงอยู่
กลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ ในศรีลังกามองว่า ต้นตอของปัญหามาจากความเชื่อที่เกิดขึ้น และฝั่งรากลึกในสังคมของศรีลังกา ทำให้แม้ว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับพลายศักดิ์สุรินทร์ให้กลับสู่ประเทศไทยได้แล้ว
แต่ปัญหาเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไป หากความเชื่อเหล่านี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไป ที่มีการนำช้างมาเดินในขบวนพิธีต่าง ๆ เพื่อแสดงออกในนามของศาสนา เกียรติ และความยิ่งใหญ่
นอกจากนี้ RARE Sri Lanka ยังมองว่า ข้อกฎหมายและมาตรการทางกฎหมายในศรีลังกายังเป็นปัญหา ทำให้การละเมิดและทารุณกรรมสัตว์ยังคงมีอยู่ต่อไป
…
ในอนาคตจะมีส่งช้างไทยไปต่างประเทศอีกหรือไม่
สำหรับการส่งช้างไทยไปต่างประเทศนั้น ปัจจุบันประเทศไทยทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีนโยบายชัดเจนที่จะไม่มีการส่งช้างไทยไปยังประเทศอื่น ๆ และไม่ได้มีการอนุญาตให้ส่งช้างไทยออกไปนอกราชอาณาจักรมาตั้งแต่ปี 2552
ซึ่งตามอนุสัญญาไซเตส (CITES) ช้างถือเป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธุ์ จึงมีข้อกำหนดในการส่งช้างระหว่างประเทศต่าง ๆ อยู่ตามบัญชีที่ 1 โดยไม่อนุญาตให้มีการส่งออกเพื่อการค้า จะยกเว้นในกรณีของการจัดส่งเพื่อการศึกษาวิจัย เพาะพันธุ์ และจะต้องได้รับอนุญาตจากประเทศปลายทางด้วย
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้มีการแก้ไขระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการอนุญาตให้ส่งช้างไทยออกนอกประเทศ เมื่อปี 2562 ด้วย โดยกำหนดให้
- จะต้องเป็นโครงการความร่วมมือวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย โดยหน่วยงานของรัฐ
- ส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ โดยหน่วยงานของรัฐฯ
ซึ่งในกรณีที่มีการส่งออกเพื่อสัมพันธไมตรี ได้มีข้อกำหนดให้ประเทศปลายทางจะต้องมีควาญช้างดูแลอย่างน้อย 2 คนต่อช้าง 1 เชือก และในช่วงปีแรกจะต้องมีควาญช้างไทยร่วมด้วย
นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดในการให้มีการดูแลรักษาสุขภาพ สวัสดิภาพ และการดำรงชีวิตช้าง พร้อมทั้งมีรายงานผลการตรวจสุขภาพช้างทุก 6 เดือน ส่งกลับมายังกรมอุทยานฯ และยังไม่รวมถึงจะต้องยินยอมให้ทางหน่วยงานของไทยจัดส่งเจ้าหน้าที่เพื่อไปตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ของช้างอย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี การห้ามเคลื่อนย้ายออกจากสถานที่โดยไม่ได้แจ้งต่อหน่วยงานไทย
หากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกับรัฐบาลไทย จะถือว่า สัญญาเป็นอันสิ้นสุดและต้องจัดส่งช้างไทยกลับสู่ประเทศภายใน 60 วันหลังจากทางการไทยแจ้งไปอีกด้วย