คัดลอก URL แล้ว
ความท้าทายในอนาคต “เมื่อแผงโซลาเซลล์หมดอายุ” เป็นขยะหลายล้านตัน

ความท้าทายในอนาคต “เมื่อแผงโซลาเซลล์หมดอายุ” เป็นขยะหลายล้านตัน

ท่ามกลางสถานการณ์ของราคาด้านพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นในขณะนี้ ควบคู่กับประเด็นของกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยการหันมาพึ่งพาพลังงานสะอาดที่เพิ่มสูงขึึ้น ส่งผลให้หนึ่งในพลังงานทางเลือกอย่าง “พลังงานแสงอาทิตย์” กลายเป็นหนึ่งในทางเลือกที่หลายคนคิดถึง เนื่องจากการเข้าถึงที่ง่าย สามารถติดตั้งได้ทุกบ้าน ต่างจากกระแสพลังงานชนิดอื่น เช่น พลังงานลม

นั่นทำให้การแผงโซลาเซลล์จำนวนมากถูกผลิตขึ้นเพื่อเป็นพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นตามกระแสและความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ในหลายประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ภาพ – IEA

แต่สิ่งที่เราควรคิดถึงในอนาคตนั่นคือ “จะทำอย่างไร เมื่อแผงโซลาเซลล์ในวันนี้ หมดอายุ” โดย BBC ได้รายงานว่า ในขณะนี้ แผงโซลาเซลล์ขนาด 400W อาจจะมีมากถึงกว่า 2,500 ล้านแผง และหากแผงโซลลาร์เซลล์เหล่านี้ หมดอายุลงในปี 2050 นั่นจะทำให้เราเผชิญกับแผงโซลาเซลล์ที่ถูกทิ้งสูงเป็นภูเขาเลยทีเดียว

การกำจัดแผงโซลาเซลล์

แผงโซลาเซลล์ที่มีการใช้กันอยู่ในขณะนี้ จะมีอายุการใช้งานราว 20 – 30 ปี ก่อนที่จะเสื่อมสภาพลง ดังนั้นในราวปี 2050 จึงคาดว่า จะมีแผงโซลาเซลล์เสื่อมสภาพเป็นจำนวนมาก ทำให้ในขณะนี้ จึงมีแนวคิดในการเตรียมหาทางรับมือกับขยะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไว้บางส่วน เช่น การรีไซเคิล

แผงโซลาเซลล์มักจะประกอบไปด้วยแก้ว โพลิเมอร์ อลูมิเนียม ซิลิกอน ตะกั่ว ทองแดง รวมถึงโลหะอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงโลหะหนักอย่าง แคดเมียม ดังนั้นการรีไซเคิลแผงโซลาเซลล์ จึงไม่ใช่เรื่องงานนักที่จะต้องคัดแยกส่วนประกอบต่าง ๆ เหลานี้ออกจากกัน

ภาพ – National Renewable Energy Laboratory.

ส่งผลให้ต้นทุนของการกำจัดแผงโซลาเซลล์หมดอายุในขณะนี้ ยังมีต้นทุนที่ถือว่า ค่อนข้างสูง แม้ส่วนประกอบหลัก ๆ ของแผงโซลาเซลล์ราว 90% จะสามารถนำมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบได้ แต่ที่เหลือเช่น พลาสติกที่ประกอบอยู่หลายชนิดก็ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ และบางส่วนเช่น แก้ว แม้ว่าจะสามารถนำมารีไซเคิลได้ แต่ก็มีคุณภาพที่ไม่สูงมากนัก

นอกจากนี้ สารที่เป็นโลหะหนักอย่างตะกั่ว แคดเมียม หากไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง ก็มีโอกาสที่จะรั่วไหลลงไปปะปนในสิ่งแวดล้อมได้ง่ายเช่นกัน

ความยากในการรีไซเคิลยังขึ้นอยู่กับความหลากหลายของรูปแบบในการผลิตแผงโซลาเซลล์ของแต่ละแหล่ง ที่มีการใช้รูปแบบหรือวัสดุที่แตกต่างกัน การพัฒนาเพื่อให้ทนทานต่อสภาพอากาศและแสงแดด ส่งผลให้การทำลายและคัดแยกทำได้ยากขึ้น ซึ่งนั่นถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของการกำจัดแผงโซลาเซลล์ที่หมดอายุ

และในขณะนี้ พบว่า ต้นทุนของการรีไซเคิลแผงโซลาเซลล์ที่หมดอายุเหล่านี้ เพื่อให้ได้วัตถุดิบกลับคืนมาใช้ซ้ำได้นั้น มีต้นทุนสูงกว่า การสั่งซื้อวัตถุดิบใหม่ ๆ จากแหล่งผลิต

นั่นจึงกลายเป็นความเสี่ยงต่อการกำจัดที่ไม่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น เพราะมันไม่คุ้มค่าในแง่ของเศรษฐศาสตร์

ภาพ – OFFICE OF ENERGY EFFICIENCY & RENEWABLE ENERGY, US

ปัญหาของแผงเก่าที่ยังใช้งานได้

แผงโซลาเซลล์จำนวนมาก อาจจะถูกเปลี่ยน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น ตามการพัฒนาที่เกิดขึ้น ซึ่งแผงโซลาเซลล์เก่าที่ยังพอใช้งานได้ แต่ไม่มีประสิทธิภาพดีมากนัก อาจจะถูกส่งต่อไปยังประเทศที่สาม ที่นำแผงโซลาเซลล์เก่ามาใช้งาน

นั่นก็มีโอกาสที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการกำจัดได้มากขึ้น เมื่อความสามารถในการกำจัด – รีไซเคิลของแต่ละประเทศมีไม่เท่ากัน และโอกาสที่แผงโซลาเซลล์ที่หมดอายุอาจถูกกำจัดอย่างอย่างไม่ถูกต้องก็มีสูงมากขึ้น

รายงานสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในสหรัฐฯ จะมีแผงโซลาเซลล์ที่หมดอายุในปี 2030 นี้รวมกันมากพอที่จะคลุมสนามอเมริกันฟุตบอลประมาณ 3,000 สนาม แต่อัตราการรีไซเคิลยังคงอยุ่ในระดับที่ต่ำกว่า 10% ซึ่งตามหลังการเติบโตของการผลิตแผงโซลาเซลล์อย่างมาก

หลายประเทศวางแผนรับมือ “แผงโซลาเซลล์หมดอายุ”

จีนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์อย่างก้าวกระโดด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถาบันวิจัยฯ ในจีนคาดการณ์ว่า ในปี 2040 จีนจะมีแผงโซลาเซลล์ที่หมดอายุมากถึง 20 ล้านตัน และจะส่งผลให้อุตสาหกรรมรีไซเคิลแผงโซลาเซลล์มีมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านหยวน

ภาพ – IRENA

ซึ่งทางการจีนจำเป็นจะต้องเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ ในการรับมือกับขยะจำนวนมาก โดยจะมีการเร่งค้นคว้าวิจัย รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีในการรีไซเคิลแผงโซลาเซลล์หมดอายุเหล่านี้

นอกจากนี้ บริษัทรับกำจัดแผงโซลาเซลล์ที่หมดอายุรายใหญ่ของโลก หลายแห่งตั้งอยู่ในประเทศจีน

ในขณะที่ออสเตรเลีย แนวโน้มการติดตั้งโซลาเซลล์ก็มีเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน และคาดว่า จะมีแผงโซลาเซลล์ที่หมดอายุกว่า 1.4 แสนตันในปี 2030 และราคาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น กำลังผลักดันให้ประชาชนติดตั้งแผงโซลาเซลล์มากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยในปี 2019 ได้มีการออกกฎหมายห้ามกำจัดแผงโซลาเซลล์หมดอายุด้วยการฝังกลบ ซึ่งในปี 2022 รัฐบาลออสเตรเลีย ได้ลงทุนราว 10 ล้านดอลลาร์ในโครงการกำจัดขยะแผงโซลาเซลล์

สำหรับประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลได้มีการออกคำแนะนำในนำรียูส หรือนำแผงโซลาเซลล์กลับมาใช้ใหม่เพื่อเน้นการซ่อมแซมและนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แทนการกำจัด หรือ รีไซเคิล

นอกเหนือจากนี้ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ต่างเดินหน้าผลักดันในการพัฒนา เพื่อหาแนวทางรับมือกับแผงโซลาเซลล์ที่หมดอายุเหล่านี้มากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับ ปริมาณขยะจำนวนมหาศาล ท่ามกลางการเติบโตของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด

และไม่ว่า จะเป็นการกำจัดแผงโซลาเซลล์ที่หมดอายุ ด้วยการรีไซเคิล หรือ ซ่อมแซมกลับมาใช้ใหม่ ล้วนแล้วแต่เป็นความท้าทายที่หลายประเทศจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในช่วง 20 ปีข้างหน้านี้


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง