คัดลอก URL แล้ว
ปัญหา ‘ก๊าซเรือนกระจก’ ของไทย กับแผนเป้าหมายในการร่วมแก้ไข

ปัญหา ‘ก๊าซเรือนกระจก’ ของไทย กับแผนเป้าหมายในการร่วมแก้ไข

ปัญหา ‘ก๊าซเรือนกระจก’ เป็นปัญหาที่ทั่วโลกต่างต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพราะเกือบทุกประเทศมีส่วนร่วมในปัญหาดังกล่าว นำไปสู่ปัญหาภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนให้รอบหลายปี ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้น ภัยแล้ง อากาศหนาวจัด รวมถึงการเกิดพายุฝนที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี

สาเหตุของภาวะก๊าซเรือนกระจก ก็คงไม่ต้องมองไปไกลที่ไหน ซึ่งมาจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น ทั้งการสร้างมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาจากการการเผาเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ เชื้อเพลิงจากการผลิตไฟฟ้า การเกษตร การใช้รถยนต์ การเผาทำลาย หรือ การกระทำอันก่อให้เกิดมลพิษ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุหลักสำคัญของปัญหาดังกล่าว

ซึ่งจากข้อมูลพบว่านับตั้งแต่มนุษย์เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมราว ๆ 200 ปี ก่อน ส่งผลทำให้การปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจนถึง ณ ปัจจุบัน โดยก๊าซเรือนกระจกจะประกอบไปด้วยก๊าซหลายชนิด คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ฯลฯ ซึ่งก๊าซเหล่านี้จะกักเก็บรังสีความร้อนจากผิวโลก และคายความร้อนกลับลงมา

นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ มากมาย ซึ่งนั้นก็เป็นผลพวงของปัญหาก๊าซเรือนกระจก ที่มีเอฟเฟกตามมาส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนไปจากเดิมและมีแนมโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี

สิ่งที่ต้องรู้กับ ‘ก๊าซเรือนกระจก’

ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน หรือรังสีอินฟาเรดได้ดี ก๊าซเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกให้คงที่ ซึ่งหากบรรยากาศโลกไม่มีก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ดังเช่นดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะแล้ว จะทำให้อุณหภูมิในตอนกลางวันนั้นร้อนจัด และในตอนกลางคืนนั้นหนาวจัด

เนื่องจากก๊าซเหล่านี้ดูดคลื่นรังสีความร้อนไว้ในเวลากลางวัน แล้วค่อยๆ แผ่รังสีความร้อนออกมาในเวลากลางคืน ทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศโลกไม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยก๊าซเรือนกระจกมีส่วนประกอบสำคัญคือ ไอน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โอโซน มีเทนและไนตรัสออกไซด์ สารซีเอฟซี เป็นต้น

ซึ่งล้วนมาจากการกระทำของมนุษย์ ทั้งการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่าทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การทำการเกษตรและการปศุสัตว์ปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ปล่อยก๊าซโอโซน นอกจากนี้ กระบวนการแปรรูปอุตสาหกรรมปล่อยสารฮาโลคาร์บอน

สถานการณ์ในประเทศไทย

ประเทศไทยมีแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นจากกิจกรรมการพัฒนาประเทศจากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2554 มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 305.52 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และจากการคาดการณ์ปริมาณการปล่อยมีสูงถึง 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2573 โดยภาคเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือ ภาคพลังงาน รองลงมาคือ ภาคเกษตร กระบวนการทางอุตสาหกรรม และของเสีย

ประกอบกับการจัดลำดับขององค์กร Germanwatch ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศ 1 ใน 10 ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว และการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา สรุปว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2559–2578) ประเทศไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น

และมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยมากกว่า 35 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อน ปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น และจำนวนวันฝนตกในช่วงฤดูฝนและการกระจายตัวของฝนเพิ่มขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแหล่งน้ำ และมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งและอุทกภัยในบางพื้นที่ ซึ่งกระทบต่อการจัดการน้ำของประเทศในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาคเกษตร และภาคเมือง

การลดการปล่อย ‘ก๊าซเรือนกระจก’ ของประเทศไทย

ตามข้อตกลงจากการประชุมในเวทีสหประชาชาติภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปัจจุบันกำลังดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามความเหมาะสมของประเทศกำลังพัฒนา (Nationally Appropriate Mitigation Actions: NAMA) ได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 7-20 จากระดับการปล่อยกรณีปกติ(Business As Usual: BAU)

ซึ่งเป็นการดำเนินงานด้วยความสมัครใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและคมนาคมขนส่ง ใน ปี 2563 ที่เป็นการขับเคลื่อนการดำเนินการโดยภาครัฐตามศักยภาพของมาตรการจากนโยบายและแผน รวมทั้งการพัฒนาระบบ การตรวจวัด การรายงาน และการทวนสอบ (Measurable, Reportable, Verifiable : MRV) ในแต่ละภาคการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงในการมีส่วนร่วม (NDC) ซึ่งดำเนินการตามความตกลงปารีสในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจัดทำข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ในปี 2573

โดยกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 20–25 จากกรณีปกติ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยภาครัฐ อาศัยการดำเนินการที่มีการส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ตามศักยภาพของมาตรการจากนโยบายและแผน และภาครัฐโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

ความร่วมมือทั้งภาครัฐ-เอกชน ลดก๊าซเรือนกระจก

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยืนยันเจตนารมณ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เร่งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรม ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาระบบการผลิตพลังงานทดแทน และการบริหารจัดการของเสียอุตสาหกรรม

ทาง กนอ. เร่งขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมุ่งสร้างความสมดุลให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตควบคู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในเขตนิคมอุตสาหกรรมและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม

โดยวางนโยบายด้านการบริหารจัดการพลังงาน การลดต้นทุน และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของนิคมอุตสาหกรรม ให้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในเรื่อง BCG ภายใต้การดำเนินโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และ Smart I.E.


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง