คัดลอก URL แล้ว
ถอดบทเรียนจากปี 65 สู่แผนรับมือน้ำท่วมเมืองกรุงในฤดูฝนนี้

ถอดบทเรียนจากปี 65 สู่แผนรับมือน้ำท่วมเมืองกรุงในฤดูฝนนี้

KEY :

เข้าสู่หน้าฝนทีไรเหตุกังวลใจอีกเรื่องหนึ่งคงหนีไม่พ้นปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ท่วมซ้ำซากตกเมื่อไรเป็นต้องท่วมทุกปี กลายเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องจำใจยอมรับสภาพ ซึ่งแต่ละพื้นที่ได้รับผลกระทบที่ต่างแตกกันออกไป

‘กรุงเทพมหานคร’ เป็นอีกจุดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากช่วงหน้าฝนเช่นกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ไม่ว่าจะมีผู้ว่าฯ กี่ยุคกี่สมัย ก็ต้องประกาศเป็นนโยบายหลักในแก้ไขปัญหานี้อยู่เรื่อยมา ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ให้ความเห็นว่า น้ำท่วมกรุงเทพฯนั้น มาจากปัจจัยหลักของการขยายเมืองพื้นที่รับน้ำ

รวมถึงปัญหารากฝอยทั้ง ปัญหาขยะอุดตัน ปัญหาการระบายน้ำไม่ทัน การขาดจิตสำนึกในการทิ้งขยะให้ถูกที่ นอกจากนี้เมืองกรุงยังเป็นพื้นที่ช่วงปลายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ชายฝั่งทะเลจึงรับผลกระทบอีกด้านไปสู่อีกด้านหนึ่งอย่างหาทางหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขึ้นชื่อว่าเหตุการณ์ทางธรรมชาติแล้วนั้น เราจึงไม่สามารถไปกำหนดธรรมชาติได้มากเท่าไรนัก

จริงอยู่ที่ภัยธรรมชาตินั้นไม่สามารถควบคุมได้ แต่มาตรการป้องกัน การเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาดังกล่าว ก็เป็นส่วนสำคัญในการลดความรุนแรงจากภัยน้ำท่วมได้ไม่มากก็น้อย

ถอดบทเรียนน้ำท่วม 2565 ของกรุงเทพฯ

ปี 2565 ในกรุงเทพฯ หลายคนต่างกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมาก เนื่องด้วยประเทศไทยต้องเผชิญกับพายุฝนถล่ม อีกทั้งต้องรับปริมาณจากน้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน ซึ่งภาพรวมปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีปัญหาน้ำท่วม รวม 737 จุด แบ่งเป็น ปัญหาน้ำท่วมจากน้ำเหนือน้ำหนุน 120 จุด และปัญหาน้ำท่วมจากน้ำฝน 617 จุด

ซึ่งในพื้นที่สำคัญอย่างสุขุมวิทฝั่งซอยเลขคี่และเลขคู่ เป็นพื้นที่ชั้นในและพบปัญหาน้ำท่วมขัง โดยพื้นที่เขตสุขุมวิทเลขคู่ มีปัญหาน้ำท่วมขังจากน้ำฝน 30 จุด ส่วนพื้นที่เขตสุขุมวิทเลขคี่ มีปัญหาน้ำท่วมขังจากน้ำฝน 41 จุด

โดยทางกรุงเทพฯ ได้สรุปปัญหาน้ำท่วมในปี 2565ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. จุดอ่อนน้ำท่วมในพื้นที่ ในรอบที่ผ่านมา 2. ปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา เช่น วัสดุอุปกรณ์ กระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ และ 3. ข้อมูลที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในปีต่อไป

ปัญหาของกรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำภูมิประเทศ ดังนั้นในบางพื้นที่จะมีความลุ่มต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ทำให้น้ำฝนหรือน้ำที่ไหลลงมาจากทางทิศเหนือมาสู่กรุงเทพฯได้ง่าย ยิ่งเมื่อเกิดฝนตกหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลทำให้น้ำระบายไม่ทัน ประกอบกับน้ำทะเลหนุนด้วยแล้ว ทำให้การระบายน้ำไม่สามารถผันน้ำลงสู่ทะเลได้

อีกหนึ่งปัจจัยหนึ่งคือ การขยายตัวในพื้นที่กรุงเทพฯ จากการก่อสร้างอาคารหรือโครงสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่ ทำให้พื้นที่รับน้ำฝนลดลง ยังรวมไปถึงลำคลองต่าง ๆ จากปัญหาขยะทางไปขวางอุดตันทางระบายน้ำ และโครงสร้างอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอายุการใช้งานมาหลายสิบปี ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการระบายน้ำด้วยเช่นกัน

และอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลทำให้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ยังคงเป็นปัญหาคอขวด ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาในจุดต่าง ๆ เพื่อมุ่งหวังที่จะลดปัญหาน้ำท่วมในเมืองหลวงของประเทศให้ได้มากที่สุด

แผนรับมือปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯ

ทางกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำในปีนี้มีการเตรียมการล่วงหน้าอย่างเข้มข้น ทั้งการปรับระบบและเพิ่มระบบต่าง ๆ การพยากรณ์อากาศดีขึ้น การติดตั้งเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำท่วมในผิวถนนเพิ่มขึ้นเพื่อเตือนภัยล่วงหน้า พร้อมทั้งขุดลอกท่อระบายน้ำ ขุดลอกคลอง ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ ทั้งระหว่างทางและปลายทาง

ปัญหาขยะขวางท่อระบายน้ำ (แฟ้มภาพ)

ซึ่งจากบทเรียนภาพรวมปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ปัญหาน้ำท่วมจากน้ำเหนือน้ำหนุน 120 จุด สำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ 29 จุด ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้ 41 จุด อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ 31 จุด และอยู่ระหว่างประสานเอกชนและหน่วยงานราชการ 19 จุด โดยมีมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนในการรับมือน้ำเหนือและน้ำหนุน โดยทำการเรียงกระสอบทราย 68 จุด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 จุด สร้างรางระบายน้ำ 1 จุด ปรับปรุงคันดิน (JET MIX) 18 จุด ปรับปรุงบ่อสูบน้ำ 1 จุด ปรับปรุงบ่อสูบน้ำ+JET MIX 1 จุด ยังไม่ได้รับความยินยอม 1 จุด

ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังจากน้ำฝน 617 จุด แบ่งเป็นการแก้ไขปัญหาของสำนักระบายน้ำ 144 จุด แก้ไขแล้วเสร็จ 61 จุด แก้ไขแล้วเสร็จภายในปีนี้ 40 จุด (ได้รับงบประมาณแล้ว) อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ 43 จุด และการแก้ไขปัญหาของสำนักงานเขต 473 จุด เขตอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง 21 จุด เขตได้รับงบแล้ว 79 จุด เขตจะขอจัดสรรงบประมาณอีก 69 จุด อยู่ในโครงการของสำนักการระบายน้ำ 68 จุด อยู่ในโครงการของสำนักการโยธา 3 จุด ถนนส่วนบุคคล 24 จุด อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ 209 จุด โดยมีมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 224 จุด ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 40 จุด เรียงกระสอบทราย 97 จุด ขุดลอกคลอง 17 จุด เสริมผิวจราจร 24 จุด

การเตรียมความพร้อมให้ด้านอื่น ๆ

สำหรับความคืบหน้าการขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ความยาวท่อระบายน้ำทั้งหมด 6,441 กม. ในปี 2565 ขุดลอก 3,356.9 กม. ส่วนปี 2566 มีแผนขุดลอก 3,758.5 กม. ขุดลอกแล้ว 1,948.1 กม. (51.83%) แบ่งเป็น แรงงาน/รถดูดเลน 781.5 กม. จ้างเหมากรมราชทัณฑ์ 1,055.9 กม. จ้างเหมาเอกชน 110.7 กม. และอยู่ระหว่างดำเนินการ 1,810.4 กม. (48.17%)

คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน มิ.ย.66 ส่วนการขุดลอกคลองเพื่อรองรับฤดูฝน กรุงเทพมหานครมีคลอง 1,980 คลอง ความยาว 2,744,923 เมตร ในปี 2565 ดำเนินการลอกคลอง 67 คลอง ความยาว 132,747 เมตร ปี 2566 มีแผนลอกคลอง 182 คลอง ความยาว 202,704 เมตร ปัจจุบันผลงานที่ทำได้ 142,000 เมตร (70%) คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน มิ.ย.66

ด้านการบำรุงรักษาสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำประจำปี 2566 จำนวน 430 แห่ง ประกอบด้วย สถานีสูบน้ำ 188 แห่ง และประตูระบายน้ำ 242 แห่ง ทำการตรวจเช็คระบบไฟฟ้า เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ ระบบน้ำมันหล่อลื่น การทำความสะอาด ทาสี เครื่องมืออุปกรณ์ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 409 แห่ง เหลือ 21 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน มิ.ย.66

โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ

กรุงเทพฯ มีอุโมงค์ระบายน้ำทั้งสิ้น 12 แห่ง ก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 แห่ง ประกอบด้วย

ซึ่งอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง ดำเนินการบำรุงรักษาแล้วเสร็จ 3 แห่ง ประกอบด้วย เก็บขยะ ตะกอนตกค้าง ได้ประมาณ 55 ตัน (มักกะสัน 14.5 ตัน พระโขนง 40 ตัน) ตรวจสอบความเสียหาย การทรุดตัวขององค์ประกอบอุโมงค์ ซ่อมแซมและหาแนวทางแก้ไข เช่น ซ่อมแซมเหล็กปิดรอยต่อ ตรวจสอบซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เช่น ตรวจสอบหม้อแปลง ตู้ควบคุมไฟฟ้า ใบพัดเครื่องสูบน้ำ เก็บขยะ ตะกอน ตรวจสอบโครงสร้าง ตรวจสอบซ่อมบำรุงงานไฟฟ้าเครื่องกล โดยอยู่ระหว่างดำเนินการ 1 แห่ง ที่อุโมงค์บางชื่อ จะแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือน พ.ค. 66

ทั้งนี้ อุโมงค์ระบายน้ำที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย 1. อุโมงค์หนองบอน 2. อุโมงค์คลองเปรมประชากร 3. อุโมงค์คลองแสนแสบส่วนต่อขยาย 4. อุโมงค์คลองทวีวัฒนา และอุโมงค์ระบายน้ำที่จะก่อสร้างในอนาคต จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย 1. อุโมงค์คลองพระยาราชมนตรี 2. อุโมงค์คลองบางซื่อส่วนต่อขยาย 3. อุโมงค์ถนนพิษณุโลก 4. อุโมงค์คลองประเวศ

การปรับปรุงสถานีสูบน้ำ-ซ่อมบำรุงเครื่องสูบ

การปรับปรุงสถานีสูบน้ำคลองเตย กรุงเทพมหานครได้รับมอบจากกรมชลประทานและเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2532 เดิมมีเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง กำลังสูบรวม 30 ลบ.ม./วินาที มีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี โครงสร้างสถานีเสียหาย เครื่องสูบน้ำใช้การไม่ได้หลายเครื่องที่ใช้ได้ก็มีประสิทธิภาพลดลงมากกว่า 50% เครื่องเก็บขยะอัตโนมัติมีสภาพชำรุดบ่อย ต้องใช้กำลังคนในการจัดเก็บขยะในช่วงฤดูฝน มีขยะประมาณ 6 ตัน/วัน

สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการปรับปรุง ในช่วงปี พ.ศ.2564 -2566 เพื่อปรับปรุงสถานีสูบน้ำคลองเตยให้มีประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อรองรับน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจโดยเฉพาะถนนสุขุมวิทฝั่งใต้ พื้นที่รับน้ำประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร โดยเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำใหม่ 10 เครื่องและติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 2 เครื่อง รวมอัตราการสูบน้ำรวม 36 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เปลี่ยนเครื่องเก็บขยะอัตโนมัติใหม่ 5 เครื่อง ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองจำนวน 3 เครื่อง ซึ่งสามารถใช้เดินเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรในช่วงไฟฟ้าขัดข้อง

รวมถึงยังได้มีการนำเทคโนโลยีระบบ SCADA มาใช้สั่งการทำงานของเครื่องสูบน้ำและเครื่องเก็บขยะอัตโนมัติ เพื่อลดกำลังจำนวนบุคลากรที่ใช้ในการปฏิบัติงาน ปัจจุบันโครงการฯ ดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถใช้งานสถานีคลองเตยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตคลองเตย และถนนสุขุมวิทฝั่งใต้(เลขคู่) ตั้งแต่สุขุมวิท 22 ถึงสุขุมวิท 48 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงฤดูฝนปี 66

สำหรับผลการซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำดีเซลและบ่อสูบน้ำประจำปี 2566 สำนักการระบายน้ำ ตรวจสอบบ่อสูบน้ำทั้งหมด 482 แห่ง แล้วเสร็จ และตรวจเครื่องสูบน้ำดีเซลที่สนับสนุนสำนักงานเขตทั้งหมด 183 เครื่องแล้วเสร็จ สำนักงานเขตมีเครื่องสูบน้ำดีเซลทั้งหมด 397 เครื่อง ตรวจสอบแล้ว 361 เครื่อง เหลือ 36 เครื่อง คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน พ.ค.66

การพยากรณ์และการตรวจกลุ่มฝน

โดยกรุงเทพฯ ได้มีการพัฒนาระบบพยากรณ์ Al-Nowcasting ซึ่งสามารถให้ข้อมูลการคาดการณ์ฝนล่วงหน้าได้ 3 ชั่วโมง นอกจากนี้มี การติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดสภาพอากาศ กล้องเพื่อดูสภาพอากาศและกลุ่มเมฆ จำนวน 6 แห่งและติดตั้ง จำนวน 3 แห่ง ดำเนินการติดตั้งเสร็จแล้วที่ อาคารสำนักการระบายน้ำ ประตูระบายน้ำหลวงแพ่ง และประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา คงเหลือที่ประตูระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี อาคารศูนย์ป้องกันน้ำท่วมหนองบอน และอาคารสำนักงานเขตลาดพร้าว

รวมทั้งติดตั้ง eagle radar (เรดาร์ชนิด X band) จำนวน 1 สถานี ที่อาคารศูนย์ป้องกันน้ำท่วมหนองบอน เพิ่มจากของกรุงเทพมหานคร ที่มีอยู่ 2 สถานี (เรดาร์ชนิด C band) จากการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้น จะทำให้ได้ข้อมูลการคาดการณ์ฝนที่มีความละเอียดมากขึ้น เนื่องจากมีการนำเข้าข้อมูลสภาพอากาศเข้ามาร่วมวิเคราะห์ ทำให้สามารถตรวจวัดฝนได้แม่นยำขึ้น

นอกจากนี้ได้พัฒนาระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนน โดยมีการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดน้ำท่วมบนถนนและอุโมงค์ทางลอดรวมทั้งสิ้น 108 แห่ง และจะมีการพัฒนาระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนนเพิ่มอีก 140 แห่ง โดยจะติดตั้งตามพื้นที่ทั้ง 50 เขต ที่มีการถอดบทเรียนในจุดเสี่ยงน้ำท่วมต่างๆ รวมทั้งการพัฒนา Platform แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร มีการพัฒนาการแสดงผลแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม

โดยประชาชนจะสามารถเข้าดูจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมรวมถึงจุดเสี่ยงภัยจากน้ำเหนือและน้ำหนุน แสดงวิธีการดำเนินการและแนวทางการแก้ไขจากการที่มีการถอดบทเรียนน้ำท่วม 2565 รวมถึงมีการเชื่อมกล้อง CCTV เข้ามาไว้บน Platform แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมด้วย


ข้อมูล – กรุงเทพมหานคร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง