คัดลอก URL แล้ว
โครงสร้างค่าไฟฟ้าจากปี 2555 จนถึงปัจจุบัน

โครงสร้างค่าไฟฟ้าจากปี 2555 จนถึงปัจจุบัน

KEY :

‘ไฟฟ้า’ เป็นพลังงานสำคัญอีกสิ่งหนึ่งในการดำรงชีวิต ซึ่งทุกวันนี้แต่ละครัวเรือนย่อมต้องมีเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก รวมไปถึงภาคธุรกิจต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งนั้นก็มาพร้อมกับค่าไฟฟ้าตามจำนวนที่เราใช้ในแต่ละเดือน

ประเด็นค่าไฟฟ้าแพงโดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนเช่นนี้ วนกลับมาให้เป็นข้อถกเถียงกันในทุก ๆ ปี เพราะนอกจากจะมีการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากเครื่องปรับอากาศ หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่กินไฟในช่วงหน้าร้อนแบบนี้แล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่สังคมให้ความสนใจคือเรื่อง ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้า’

เนื่องจากในช่วงหลายรอบบิลค่าไฟฟ้าที่ผ่านมา จากมติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ได้มีการอนุมัติการปรับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ Ft มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยสาเหตุมาจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ทั้งจากสถานการณ์ทางด้านราคาพลังงานและอัตราแลกเปลี่ยน

ซึ่งล่าสุด กกพ. มีมติเห็นชอบปรับลดค่าไฟฟ้า 7 สตางค์ ต่อหน่วย สำหรับงวด พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 โดยปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.70 บาท/หน่วย จากเดิม 4.77 บาท/หน่วย

โครงสร้างค่าไฟฟ้า

โครงสร้างค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ ค่าไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) โดยค่าไฟฟ้าฐานจะคำนวณมาจากต้นทุนการผลิตจัดหา ส่งและจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นการลงทุนด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ในอนาคตของประเทศ

ส่วนค่า Ft เป็นส่วนที่นำค่าเชื้อเพลิงการผลิต ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และค่าใช้จ่ายตามนโยบายที่เกิดขึ้นจริง มาปรับปรุงค่าไฟฟ้าฐาน ทุก 4 เดือน เพื่อให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนสะท้อนต้นทุนให้มากที่สุด

ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. / คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) / คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) / คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และ คณะรัฐมนตรี ในการการอนุมัติค่าไฟฟ้า

โดยนอกจากค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft ดังกล่าวแล้ว ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT ร้อยละ 7) รวมกับค่าไฟฟ้าฐาน และค่า Ft ด้วย

ขั้นตอนการคิดค่าไฟฟ้า

สำหรับการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้ามีการคิดที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเภท ค่าไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย, กิจการขนาดเล็ก, กิจการขนาดกลาง, กิจการขนาดใหญ่ ฯลฯ สำหรับขั้นตอนการคิดค่าไฟฟ้า มีดังนี้

โครงสร้างค่าไฟฟ้าจากปี 2555 – 2566

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยถึงโครงสร้างค่าไฟฟ้าจากปี 2555 จนถึงปัจจุบัน โดยได้ชี้แจงรายละเอียดดังนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 รัฐบาลในขณะนั้นได้ปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย หรือ Power Development Plan (PDP) ฉบับปี 2010 จากฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 เป็นฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 3 โดยได้ประมาณการความต้องการไฟฟ้าใหม่ตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบจากอุทกภัยปี 2554 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ไทย ขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 4 – 5 ตั้งแต่ปี 2555 – 2569 (โดยในปี 2557 – 2558 GDP มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.7 – 6.0 ตามเศรษฐกิจโลกในช่วงขาขึ้นในขณะนั้น)

ซึ่งทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย ปรับตัวสูงขึ้นตาม GDP ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นจึงได้เพิ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ก๊าซธรรมชาติ) เข้าไปในแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (ปี 2555) ซึ่งรวมถึงโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (Independent Power Producer: IPP) 5,400 MW (จ่ายไฟเข้าระบบ ระหว่างปี 2564 – 2569 ปีละ 900 MW) เพื่อให้รองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า ภายใต้ประมาณการว่าการสำรอง (Reserve) ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 – 24 และต่อมารัฐบาลได้เปิดประมูลโรงไฟฟ้า IPP จำนวน 5,400 MW ดังกล่าว ในปี 2555

ต่อมาได้มีการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ (PDP 2015) (ปี 2558) และได้มีการปรับแผน PDP อีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน คือ แผน PDP 2018 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) เมื่อปี 2563 เพื่อให้แผนการจัดหาไฟฟ้าสะท้อนภาพความเป็นจริงและสอดรับกับแนวทางการพัฒนาประเทศมากที่สุด

ทั้งนี้ ในปี 2565 Reserve Margin % อยู่ที่ร้อยละ 36 เนื่องจากระหว่างปี 2563 – 2565 ไทยและทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงกว่าที่ประมาณการไว้ (แม้ว่าจะปรับทอนลงไปแล้วบางส่วนให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตอนจัดทำแผน PDP 2015 และ 2018 ใหม่แล้ว) ในขณะที่การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ตาม แผน PDP ก่อนหน้านี้ ได้ผูกมัดการดำเนินการต่าง ๆ ไปหมดแล้ว

โดยมีกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบตั้งแต่ปี 2564 เป็นไปต้นไป ทำให้ประเทศไทยมี POWER SUPPLY ตามแผน แต่ POWER DEMAND ต่ำกว่าแผน ส่งผลให้ RESERVE MARGIN ยังสูงอยู่ และส่วนหนึ่งมีผลกระทบต่อค่าไฟในภาพรวม

ครม. เสนอ กกต.ขออนุมัติวงเงินกว่าหมื่นล้าน ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชน

ด้วยสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัยในช่วงฤดูร้อนปี 2566 และเห็นว่ามีความจำเป็นสำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วนในส่วนของค่าไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในห้วงการยุบสภา คณะรัฐมนตรี จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้นำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ให้ความเห็นชอบการใช้งบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 (3) กำหนด วงเงิน 11,112 ล้านบาท โดยมีมาตรการช่วยเหลือดังนี้

1.มาตรการต่อเนื่องของกระทรวงพลังงานที่ได้ดำเนินการอยู่ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2566 (การช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มเปราะบาง) เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป แม้ราคาพลังงานโลกเริ่มมีการปรับตัวลดลงจากช่วงปี 2565 โดยมีแนวทางช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน

โดยให้ส่วนลดแบบขั้นบันได แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ

สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 (4 เดือน) โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราส่วนลดเดียวกันกับช่วงเดือน มกราคม – เมษายน 2566 ((1) ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้า ตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 1.39 สตางค์ต่อหน่วย (2) ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151-300 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 67.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 26.39 สตางค์ต่อหน่วย)

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้นประมาณ 18.36 ล้านราย ใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 7,602 ล้านบาท สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 (4 เดือน) จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

2.มาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วน เป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชนในส่วนของค่าไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 โดยให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้ฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้า และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ จำนวน 150 บาทต่อราย

โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในรอบบิลเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเดือนที่มีสถิติความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของประเทศและจะเริ่มลดลงในเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นลดภาระของประชาชนซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า ไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน จำนวน 23.40 ล้านราย โดยใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 3,510 ล้านบาทจากงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง