KEY :
- รถ EV (Electric Vehicle) ในบ้านเรา มีผู้คนสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 หรือ มอเตอร์โชว์ 2023 (Motor Show 2023) รถยนต์ไฟฟ้ามียอดจองอยู่ที่ 9,234 คัน คิดเป็น 21.53%
- รัฐบาลได้มีมาตรผลักดันดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการอนุมัติงบกว่า 2.9 พันล้านบาท เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์
- มีการวางแผนไว้ 3 ระยะ เพื่อให้ประเทศไทยสู่ EV Hub ในภูมิภาค โดยตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 30% ภายในปี 2573
…
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ รถ EV (Electric Vehicle) ในบ้านเรา มีผู้คนสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 หรือ มอเตอร์โชว์ 2023 (Motor Show 2023) รถยนต์ไฟฟ้ามียอดจองอยู่ที่ 9,234 คัน คิดเป็น 21.53% จากยอดจองรถยนต์รวมในงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 3 เม.ย.66)
หนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ก็เนื่องมากจากราคาพลังค่าที่มีการปรับตัวสู้ขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งการผลักดันจากทั่วโลกในการสนับสนุนในคนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทดแทนการใช้รถยนต์แบบสันดาป หรือ รถที่ใช้น้ำมัน เพื่อลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในช่วงที่ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 เช่นนี้
แน่นอนว่าทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัว รถยนต์ไฟฟ้า เราได้ยินชื่อนี้มาหลายปีแล้วก็จริงอยู่ แต่ด้วยเป็นเทคโนโลยีใหม่ฉะนั้นความเสถียรหรือคุณภาพก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนากันไปอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งเจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศก็ยังพัฒนาในจุดนี้อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเรา หากดูจากตัวเลขสถิติการจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก ยังพบว่า มีตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งสถิติการจดทะเบียนรถยนต์ในปี 2565 พบว่า รถยนต์ไฟฟ้า 100% มีการจดทะเบียนกว่า 3 หมื่นคัน
ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรผลักดันดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการอนุมัติงบ 2,923.397 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เงินอุดหนุนรถยนต์ รถกระบะคัน และรถจักรยานยนต์
…
‘รถยนต์ไฟฟ้า’ คืออะไร?
เชื่อหรือไม่ว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้า มีการคิดค้นในคริสต์ทศวรรษ 1880 โดยได้รับความนิยมในฝั่งยุโรป ก่อนที่จะเกิดวิวัฒนาการรถยนต์แบบสันดาป ทำให้ความนิยมลดลงไปตามยุคสมัย ตั้งแต่ ค.ศ. 2008 การฟื้นฟูการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้เกิดขึ้น เนื่องจากแบตเตอรี่และการจัดการพลังงานมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นมาก
อีกทั้งราคาพลังงานน้ำมันมีการปรับตัวและผันผวนอยู่เรื่อยมา นอกจากนี้ความต้องการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ทำให้ในหลายประเทศได้ออกมาตรการลดภาษี เงินสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการและผลักดันการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้น
รถยนต์ไฟฟ้า คือ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าโดยใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเก็บอยู่ในแบตเตอรี่หรืออุปกรณ์เก็บพลังงานไฟฟ้าแบบอื่น ๆ และด้วยข้อดีของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้แรงบิดได้ทันทีทำให้รถพลังงานไฟฟ้ามีอัตราเร่งที่เรียบและรวดเร็ว
ปัจจุบันยนต์ไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
- รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV, Hybrid electric vehicle) : ระบบน้ำมันและไฟฟ้า ไม่มีช่องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟฟ้า
- รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV, Plug-in Hybrid Electric Vehicle) : ระบบน้ำมันและไฟฟ้า มีระบบเสียบปลั๊กชาร์จไฟ
- รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV, Battery Electric Vehicle) : ใช้พลังงานแบตเตอรี่ไฟฟ้า 100 %
- รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV, Fuel Cell Electric Vehicle) : ใช้พลังงานมาจากเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) โดยเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากภายนอก
…
สถิติการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย ปี 2565
จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก ในปี 2565 พบว่ามีการจดทะเบียนรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า มีจำนวนทั้งสิ้น 333,068 คัน
รถไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) จำนวน 30,843 คัน จำแนกตามประเภทรถ ดังนี้
- รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล จำนวน 16,468 คัน (ร้อยละ 53.39)
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จำนวน 13,551 คัน (ร้อยละ 43.94)
- รถรับจ้างสามล้อ จำนวน 437 คัน (ร้อยละ 1.42)
- รถไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid) มีจำนวน 259,810 คัน จำแนกตามประเภทรถ ดังนี้
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คนมากที่สุด จำนวน 250,158 คัน (ร้อยละ 96.28)
- รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล จำนวน 9,023 คัน (ร้อยละ 3.47)
- รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน จำนวน 488 คัน (ร้อยละ 0.19)
รถไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) มีจำนวน 42,415 คัน จำแนกตามประเภทรถ ดังนี้
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จำนวน 42,352 คัน (ร้อยละ 99.85)
- รถยนต์บริการธุรกิจ จำนวน 40 คัน (ร้อยละ 0.09)
- รถยนต์บริการทัศนาจร จำนวน 20 คัน (ร้อยละ 0.05)
***(ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565)
…
สถานีชาร์จรถ EV
ปัจจุบันสถานีให้บริการชาร์จรถ EV ทั้งของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มี 1,447 แห่งทั่วประเทศ แต่ละแห่งส่วนใหญ่มีหัวจ่ายไฟไม่เกิน 3 หัวจ่าย และกระจุกอยู่ในเขตเมืองเป็นหลัก โดยมีการตั้งเป้าไว้ในอนาคตจะให้มีสถานีเพิ่มขึ้นครอบคลุมพื้นที่ของประเทศในปี 2573
แผนการติดตั้งสถานีชาร์จรถ EV ทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนี้
- กฝภ. – ภาคเอกชน ติดตั้งสถานีชาร์จตามปั้มน้ำมันและพื้นที่เอกชนทั่วไป อย่างน้อย 140 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี 2566 (เดิม 45 แห่ง)
- กฟน. ติดตั้งหัวจ่ายชาร์จไฟในพื้นที่ส่วนราชการและเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ไปแล้ว 22 หัวจ่าย ภายในปี 2566 จะติดตั้งให้ครบ 100 หัวจ่าย
- บริษัทบางจากฯ ร่วมกับค่ายรถ เร่งติดตั้งสถานีชาร์จให้ได้ 500 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี 2566 (จากเดิม 45 แห่ง)
- กลุ่ม ปตท. เร่งขยายสถานีชาร์จให้ได้ 1,000 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2566 โดยเฉพาะในพื้นที่ของโรงแรม ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน
- ค่ายรถ EV เร่งติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว และแบบปกติรองรับรถ EV ต่อเนื่อง
…
นโยบาย 30@30 ของรัฐบาลที่ผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า สู่ EV Hub ในภูมิภาค
นโยบาย 30@30 เป็นแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศ ด้วยการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือ รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี พ.ศ.2573 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 : ปี 2564-2565 (ระยะเร่งด่วน)
- นำร่องส่งเสริมการใช้ยรถ EV ทั้งอุดหนุนส่วนลด ซื้อรถ EV 18,000 – 150,000/คัน และการลดภาษีนำเข้ารถและส่วนประกอบต่าง ๆ
ระยะที่ 2 : ปี 2566-2568
- มีเป้าหมายผลิตรถ EV ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่ ทั้งลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถ EV และกำหนดอัตราการนำเข้ารถทั้งคันต่อการผลิตในประเทศ 1.5 คัน
ระยะที่ 3 : ปี 2569-2573
- บรรลุตามนโยบาย 30@30 มีเป้าหมายการผลิตรถ EV ประเภทรถยนต์ที่นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน คิดเป็น 30% ของการผลิตภายในปี พ.ศ.2573
ข้อมูล :
- กรมการขนส่งทางบก
- สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย