คัดลอก URL แล้ว
ส่องกฎหมาย ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ กับข้อสงสัยพกไว้ ผิด หรือ ไม่ผิด?

ส่องกฎหมาย ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ กับข้อสงสัยพกไว้ ผิด หรือ ไม่ผิด?

KEY :

ประเด็นเรื่อง ‘บุหรี่ไฟฟ้า‘ ถูกหยิบยกและพูดถึงอีกครั้ง ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มผู้ที่ (แอบ) สูบ หรือ มีตัวเครื่องบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง ว่าจะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ภายหลังมีประเด็นเกี่ยวกับดาราสาวชาวไต้หวัน ที่ถูกรีดไถเงินจากด่านตรวจของตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบบุหรี่ไฟฟ้า และมีการเรียกรับเงินจำนวนหนึ่งเพื่อแลกกับการปล่อยตัว

‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เป็นอีกหนึ่งข้อถกเถียงที่มีการพูดถึงในรอบหลายปีที่ผ่านมา หรือ นับเกือบ 10 ปีแล้ว ที่บุหรี่ไฟฟ้าถูกนำเข้าและเป็นที่แพร่หลาย ทั้งกลุ่มคนที่นำมาใช้เพื่อในการเลิกบุหรี่ ความนิยมในการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของกลุ่มวัยรุ่นที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย

จากข้อมูลบุหรี่ไฟฟ้ามีการนำเข้าและจำหน่ายมาช่วงก่อนปี 2557 หรือ ช่วงก่อนการทำรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายรับรองเอาผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า กระทั่งต่อมาภายหลังการทำรัฐประหาร มีการถกเถียงประเด็นเกี่ยวกับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า จนมีการออกกฎหมายตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ 2557 และ กฎหมายของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ออกมาตามลำดับ

ซึ่งกฎหมายที่มีการบังคับใช้อยู่นั้น เป็นการเน้นย้ำว่า ‘ห้ามนำเข้า’ และ ‘จำหน่าย’ ทำให้เกิดข้อสงสัยไปถึงกลุ่มผู้ที่มีไว้ครอบครอง (แต่ไม่ได้จำหน่าย) ว่าตัวกฎหมายทั้งหมดที่มีอยู่ ณ ขณะนี้ มันครอบคลุมถึงตัวผู้ที่พกไว้เพื่อใช้งานหรือไม่

นอกจากตัวข้อกฎหมายในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่ยังไม่ชัดเจน ประเด็นของบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นข้อถกเถียงถึง ‘ข้อดี’ และ ‘ข้อเสีย’ ซึ่งแน่นอนย่อมมาจากกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วย และ กลุ่มผู้ที่เห็นด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มองว่าเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ รวมถึงประเด็นข้อเสียจาก ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ซึ่งงานวิจัยในต่างประเทศก็มีข้อถกเถียงในมุมนี้เช่นกัน

ว่าด้วยกฎหมาย ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ในไทย

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ากฎหมายในการควบคุม ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ มีการบังคับใช้ภายหลังการทำรัฐประหาร 2557 โดยฉบับแรกนั้นเป็นประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรีไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ตาม พ.ร.บ.การส่งออกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 ซึ่งประกาศและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2557

โดยคำนิยาม ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ตามฉบับดังกล่าว ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้า คือ “อุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ทำให้เกิดละอองไอน้ำในลักษณะคล้ายควันบุหรี่ไม่ว่าจะกระทำขึ้นด้วยวัตถุใด ซึ่งใช้สำหรับสูบในลักษณะเดียวกับการสูบบุหรี่” ผู้ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าที่นำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับพร้อมถูกริบสินค้า

อีกทั้ง คําสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขาย หรือ ห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสําหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากในกรณีผู้กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะของผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือ ผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย มีโทษเพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ยังมีความผิด พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ตามมาตรา 244 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดนำเข้าของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการทางศุลกากรเข้าในราชอาณาจักร หรือ ส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือ นำของเข้าเพื่อการผ่านแดน หรือ การถ่ายลำเลียงโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัด หรือ ข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามมาตรา 242 และ 246

ความไม่ชัดเจนของกฎหมายกับ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’

แม้กฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าจะมีการบังคับใช้โดยเน้นไปในเรื่องของการ ‘ห้ามนำเข้า’ หรือ ‘จำหน่าย’ ซึ่งมีความผิดชัดเจนไม่ว่าจะตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ร.บ.ศุลกากร หรือแม้แต่คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ข้อถกเถียงเหล่านี้ถูกนำไปพูดถึงในการหารือของคณะกรรมการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งได้มีการหารือประเด็นการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ในกรณีตัวอย่างคดีการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 27 ทวิ ของ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2463 ซึ่งถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 หรือ การแจ้งข้อกล่าวหาที่ไม่สอดคล้อง และไม่ครบองค์ประกอบของฐานความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมาย

จึงมองว่าการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าโดยอาศัยบทบัญญัติข้างต้นซึ่งเป็นการดำเนินการที่มิชอบ

ผลสำรวจการสูบ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ในไทย

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งมีการเก็บข้อมูลผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าครั้งแรกตั้งแต่ปี 2557 โดยเริ่มสำรวจก่อนที่ยังไม่มีกฎหมายเข้ามาควบคุม ซึ่งผลสำรวจในปี 2557 พบว่า มีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า 49,180 คน หรือคิดเป็น 0.09% ต่อมาการสำรวจเมื่อปี 2560 จำนวนคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าลดลงเป็น 11,096 คนหรือคิดเป็น 0.02% และการสำรวจล่าสุดคือเมื่อปี 2564 จำนวนคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 78,742 คนหรือคิดเป็น 0.14%

หากมองไปถึงต่างประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา โดยข้อมูลของทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ในปี 2565 ระบุว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนยังคงสูง โดยพบว่าเป็นนักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายในประเทศจำนวน 2.5 ล้านคน ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน

เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ ที่สำรวจปี 2565 พบว่า 1 ใน 5 นักเรียนหญิงอังกฤษอายุ 15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงประเทศนิวซีแลนด์ ที่เดิมห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ก่อนจะยกเลิกปี 2561 ปัจจุบันตัวเลขล่าสุด ปี 2564 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเด็กอายุ 14-15 ปี พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง