คัดลอก URL แล้ว
‘ซื้อขายงานวิจัย’ กับพฤติกรรมที่ไม่ต่างจากการคอร์รัปชัน

‘ซื้อขายงานวิจัย’ กับพฤติกรรมที่ไม่ต่างจากการคอร์รัปชัน

KEY :

กลายเป็นประเด็นดราม่าในวงการของนักวิชาการ หลังมีนักวิชาการไทยท่านหนึ่งได้ออกมาแฉเรื่องราวของงานวิจัยที่มีการซื้อขายผ่านทางออนไลน์ เพื่อนำชื่อของผู้ซื้อ ไปใส่เป็นชื่อตัวเองในงานวิจัยที่ประกาศขาย หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า ‘เคลมผลงาน’

มีการตั้งข้อสังเกตจากเหล่านักวิชาการไทยอย่างมาก ทั้งจำนวนผลงานวิจัยของบุคคลที่น่าสงสัย หรือ แม้กระทั่งงานวิจัยที่ข้ามศาสตร์ สาขา เช่น จบสาขาเศรษฐศาสตร์ แต่กลับมีผลงานงานวิจัยด้านวิศวกรรม หรือ สาขาที่ไม่ได้เรียนมา

ซึ่งงานวิจัยที่มีการซื้อขายเหล่านี้ ไม่ต่างจากตลาดมืดของเหล่าผู้ที่อ้างตัวเองว่าเป็นนักวิชาการ (สีเทา) เพราะผลงานวิจัยแต่ละชิ้นงานนั้น นอกจากจะสร้างองค์ความรู้ ผลงานและชื่อเสียง ยังรวมไปถึงการขอทุน ของบประมาณในการทำงานวิจัยแต่ละชิ้นงานด้วยเช่นกัน

จากข้อมูลที่ถูกนำมาแฉนั้น การซื้องานวิจัยในตลาด สมมติว่ามีราคาอยู่ที่ 30,000 บาท แต่นักวิชาการที่ซื้อไปนั้น สามารถนำไปขอทุนทำวิจัยโครงการ ซึ่งอาจได้ทุนมากกว่า 3-4 เท่า ของงานวิจัยที่ซื้อมาเลยทีเดียว

งานวิจัย คืออะไร ?

งานวิจัย คือ การศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ข้อมูลตามหลักวิชาการของแต่ละศาสตร์ หาเหตุและผลบนพื้นฐานของความเป็นจริง สามารถพิสูจน์และตรวจสอบได้ โดยพื้นฐานการทำวิจัยนั้นจะเริ่มจากการ คิดหัวข้อเรื่องในการทำวิจัย การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์และตีความข้อมูล และการเสนอผลวิจัยและบทสรุป

โดยหากเป็นการวิจัยทางวิทยาศาตร์ ต้องมีการทดลองอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอนที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการทดลองสิ่งมีชีวิต ธรรมชาติ เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์

ประเภทของงานวิจัย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

โดยแยกย่อยตามสาขาวิชา อาทิ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย เป็นต้น

ซึ่งเงินทุนการทำวิจัยส่วนใหญ่มาจาก 2 ภาคส่วน คือ 1.รัฐบาล ผ่านทางมหาวิทยาลัย หรือ หน่วยงานวิจัยต่าง ๆ 2.องค์การธุรกิจ ผ่านหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของบริษัท

ข้อมูลค่าใช้จ่ายบุคลากรทางการวิจัย ปี 2563

จากข้อมูลของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในรายงานการสำรวจค่าใช้จ่ายและบุคลากรทางการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยประจำปี 2564 พบว่า มีค่าใช้จ่ายทางการวิจัยและพัฒนาของประเทศรวมทั้งสิ้น 280,010 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่าย R&D ที่มาจากแหล่งทุนเงินงบประมาณแผ่นดิน 53,025 ล้านบาท และจากแหล่งทุนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่งบประมาณแผ่นดินรวมทั้งสิ้น 154,985 ล้านบาท

โดยบุคลากรทางการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ประกอบด้วย นักวิจัย ผู้ช่วยนักวิจัย ผู้ทำงานสนับสนุน พบว่ามีบุคลากรทางการวิจัยและพัฒนารวมทั้งสิ้น 249,270 คนในจำนวนนี้เป็นนักวิจัย 203,252 คน ผู้ช่วยนักวิจัย 32,564 คน และผู้ทำงานสนับสนุน 13,454 คน

บุคลากรทางการวิจัยและพัฒนาที่ทำงานวิจัยแบบเทียบเท่าเต็มเวลา จำนวนทั้งสิ้น 168,419 คนในจำนวนนี้เป็นนักวิจัย 144,480 คนคิดเป็นบุคลากรทางการวิจัยและพัฒนาต่อประชากร 10,000 คนเท่ากับ 25 คนและนักวิจัยต่อประชากร 10,000 คนเท่ากับ 22 คน

อีกหนึ่งกรณีอาจารย์ ม.ดัง ซื้องานวิจัย ร้อนถึงทางมหาวิทยาลัยเร่งตรวจสอบ

ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาระบุว่า มีอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดัง ทางภาคเหนือ ไปตีพิมพ์ในเรื่องของวัสดุนาโนเป็นชื่อที่หนึ่งโดยจ่ายค่าตีพิมพ์ไป 30,000 บาท โดยที่สายงานอยู่เทคนิคการแพทย์ ไม่ใช่วัสดุศาสตร์ แล้วนำบทความที่ตีพิมพ์นั้นมาเบิกกับมหาวิทยาลัยจำนวน 120,000 บาท

ซึ่งสอดคล้องกับ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ออกมาเปิดเผยว่า หากสืบค้นข้อมูลจากกรณีอาจารย์คนดังกล่าว ยังพบว่ามีงานวาสารต่าง ๆ ที่ข้ามศาสตร์ของอาจารย์ท่านดังกล่าว ทั้งวาสารเกี่ยวกับภาคเกษตร คริปโตฯ เศรษฐกิจการเงิน

โดยล่าสุดทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า “ตามที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ มีการลงข่าว เรื่อง การกระทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัย โดยมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนั้น

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างสูงสุด โดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เพื่อดำเนินการทางวินัยกับบุคคลดังกล่าวตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยต่อไปแล้ว

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอยืนยันที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ตามหลักธรรมาภิบาลและคุณธรรมทางวิชาการต่อไป”

ธุรกิจซื้อ-ขาย งานวิจัย ไม่ใช่เรื่องใหม่

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้โพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ธุรกิจการ Shopping งานวิจัยไม่ใช่สิ่งใหม่ และ ดูเหมือนจะไม่ผิดกฎหมายในบางประเทศ แต่ผิดจริยธรรมขั้นรุนแรง

ซึ่งบางเว็บไซต์ที่มีการซื้อขายงานวิจัย มีการเขียนระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ธุรกิจนี้เปิดให้คนที่มีเงินในมือเข้ามาเป็นผู้แต่งในวารสารวิชาการที่การันตีแน่นอนว่าได้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ

กรณีการซื้องานวิจัย เคลมเป็นผลงานของตัวเอง ไม่ว่าจะเพื่อชื่อเสียง การเลื่อนตำแหน่งงาน หรือ แม้แต่ ‘เงิน’ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น

ประเด็นดังกล่าวกำลังเป็นสนใจในสังคม โดยเฉพาะแวดวงนักวิชาการ ที่มีหลาย ๆ ท่าน ออกมาแฉพฤติกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งดูเหมือนว่ายิ่งขุดจะยิ่งเจออีกหลายเคส โดยงบประมาณที่ทุ่มกับงานด้านวิจัยในประเทศไทย ถือว่าเป็นเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยเช่นกัน นั้นจึงเป็นช่องโหว่ทำให้นักวิจัย (บางท่าน) ฉวยโอกาสในการหากินทางด้านนี้อย่างไม่บริสุทธิ์ใจ ก่อเกิดเป็นการคอร์รัปชันในรูปแบบหนึ่ง


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง