ในบางสถานการณ์ที่คุณต้องรับหน้าที่ค้ำประกันรถยนต์ให้กับคนรู้จัก เนื่องจากผู้กู้ต้องการซื้อรถคันใหม่ เเล้วมาวันหนึ่งคุณอยากถอนตัวเองออกจากการเป็นบุคคลผู้ค้ำประกัน เนื่องด้วยสาเหตุหลายประการอย่าง อาทิ ผู้ค้ำไม่ต้องการมีพันธะใด ๆ กับผู้กู้ เช่น การเลิกราตัดขาดความสัมพันธ์ หรือแม้แต่ภาระค่าใช้จ่ายของผู้ค้ำที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากผู้กู้ที่ผิดนัดชำระ แม้จะมีความกังวลว่าบริษัทไฟแนนซ์อาจจะไม่ยอมรับการถอนตัวผู้ค้ำประกันก็ตาม
หากคุณต้องเผชิญหน้ากับการเป็นผู้ค้ำประกันรถยนต์ให้กับคนรู้จัก แต่ด้วยปัญหาที่กำลังเผชิญ ผู้ค้ำสามารถถอนค้ำประกันได้หรือไม่ วันนี้มาหาคำตอบกัน
ข้อกฎหมายของผู้ค้ำประกัน
ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 680 ระบุว่า “ตัวผู้ค้ำประกันย่อมต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อผิดนัดไม่ชำระหนี้นั้น อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”
เมื่อมีหนี้ประธานระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้แล้ว เจ้าหนี้มักจะให้ลูกหนี้หาผู้ค้ำประกันมาทำสัญญาค้ำประกันหนี้ประธานไว้ด้วย ก็เพื่อเป็นการเพิ่มลูกหนี้เข้ามาเป็นผู้รับผิดตามมูลหนี้ประธาน เพื่อเพิ่มโอกาสของเจ้าหนี้ในการที่จะให้ได้รับชำระหนี้นั้นสูงขึ้น ซึ่งตามกฎหมายแล้วผู้ค้ำประกันย่อมเป็นลูกหนี้ชั้นที่ 2 ในการติดตามชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้
ตามปกติแล้ว ผู้ค้ำประกัน หรือลูกหนี้ชั้นที่ 2 ไม่สามารถยกเลิกการเป็นผู้ค้ำกลางคันหรือขณะอยู่ในระยะเวลาสัญญาค้ำประกันได้ เพราะจะเป็นการทำให้โอกาสที่เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ลดน้อยโดยการเรียกเอาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ชั้นต้นได้แต่เพียงผู้เดียว เจ้าหนี้จึงมักไม่ดำเนินการยกเลิกสัญญาค้ำประกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ระบุว่า “ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่ต้น”
แต่ผู้ค้ำประกันสามารถถอนตัวออกจากการเป็นบุคคลผู้ค้ำประกันได้ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้กู้จะต้องมีคนค้ำประกันคนใหม่มาเปลี่ยนแทนผู้ค้ำคนเก่าเรื่องนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทไฟแนนซ์จะยินยอมหรือไม่ และหากไม่สามารถหาผู้ค้ำรายใหม่ได้ ผู้ค้ำประกันเดิมก็จะไม่สามารถถอนตัวออกได้เช่นกัน
ขั้นตอนการถอนค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกันเดิมจะต้องหา ผู้ค้ำคนใหม่ที่น่าเชื่อถือ มีเครดิตดี มาเจรจาร่วมกับบริษัทไฟแนนซ์ที่เป็นคู่สัญญาโดยตรง โดยทางบริษัทไฟแนนซ์จะยินยอมให้เปลี่ยนผู้ค้ำได้ตามความเหมาะสม แต่การเปลี่ยนสัญญาจะมีค่าใช้จ่ายตามระเบียบของบริษัทไฟแนนซ์ สำหรับค่างวดที่ผิดนัดก็ต้องชำระให้เรียบร้อย
แต่หากยังไม่มีผู้ใดมาเเทน ผู้ค้ำคนเก่าไม่สามารถถอนการเป็นผู้ค้ำประกันได้ เเละหากผู้กู้เกิดผิดนัดชำระค่างวดเกินกว่าที่ไฟแนนซ์กำหนด ผู้ค้ำก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบหนี้ของผู้กู้ตามเดิม
จะเห็นได้ว่า ผู้ค้ำประกันรถยนต์มีสิทธิ์สามารถที่จะถอนค้ำประกันก็ต่อเมื่อหาผู้ค้ำประกันใหม่ได้ และรับผิดชอบในการชำระค่างวดแทนลูกหนี้ที่ผิดนักชำระเกินตามที่ไฟแนนซ์กำหนด แต่ถ้าหากการถอนค้ำประกันนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เสียเวลา ลุ้นการตัดสินใจกับทางไฟแนนซ์ และอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ก่อนที่จะค้ำประกันให้ใครควรพิจารณาให้ดีว่าคนที่คุณจะค้ำประกันให้มีคุณสมบัติเหมาะสม หรือมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ และอย่าค้ำประกันให้คนอื่นด้วยความเกรงใจ เพราะผลเสียจะส่งผลต่อผู้ค้ำประกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
อ่านข่าวเพิ่มเติม:
- ทางเลือกสู่ทางออกก่อน ‘ถูกยึดรถ’ ช่วยให้คุณได้ใช้รถต่อ หรือเจ็บน้อยสุด
- อยากได้รถมาใช้แต่ติด ‘เครดิตบูโร – แบล็คลิสต์’ ถ้าจะออกรถทำได้หรือไม่?
- ทะเบียนรถขาดไม่ควรมองข้าม ควรรู้การจ่ายภาษี และค่าปรับก่อนสาย
เครดิตข้อมูลจาก krisdika.go.th