อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของผู้ใช้รถยนต์ ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลหรือแม้แต่รถจักรยานยนต์ คือการชำระภาษีรถยนต์/รถจักรยานยนต์ รวมถึงชำระ พ.ร.บ. ทุกปีอย่างสม่ำเสมอ หากได้รับการจ่ายภาษีแล้วก็จะได้รับป้ายสี่เหลี่ยมติดกระจกหน้ารถ หรือใส่กระบอกในมอเตอร์ไซค์
แต่หากวันดีคืนดี ดันเผลอลืมจ่ายภาษีรถยนต์ และ พ.ร.บ. ตามที่กำหนดจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากขาดเกิน 3 ปีขึ้นไป และหากต้องการกลับไปชำระภาษีรถยนต์ประจำปีอีกครั้งหลังลืมจ่ายไประยะเวลาหนึ่ง จะต้องเตรียมเอกสาร หรือมีขั้นตอนอะไรที่ต่างจากการยื่นชำระภาษีแบบปกติ วันนี้มีคำตอบ
ความสำคัญของการชำระภาษีรถยนต์ – พ.ร.บ.
คือภาษีของผู้ใช้รถยนต์ – มอเตอร์ไซค์ที่ต้องจ่ายทุกปี เพื่อให้ทางหน่วยงานภาครัฐสามารถนำรายได้มาปรับปรุง ซ่อมแซม พัฒนาถนนให้สมบูรณ์แบบ รวมไปถึงการยกระดับคมนาคมภายในประเทศ ซึ่งหลังจากจ่ายภาษีรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์แล้ว ก็จะได้รับป้ายกระดาษสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ไปติดหลังกระจกหน้ารถ หรือใส่กระบอกสำหรับรถมอเตอร์ไซค์
ขณะเดียวกันหากเป็นรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป หรือรถจักรยานยนต์ที่มีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป ก็จะต้องนำไปตรวจสภาพรถก่อนยื่นชำระภาษีอีกด้วย โดยจะได้รับเอกสารรับรองการตรวจสภาพรถทั้งจากกรมการขนส่งทาง หรือสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) มาประกอบการจ่ายภาษีเสมอ
สังเกตวันหมดอายุก่อนวางแผนชำระ
การกำหนดวันกำหนดชำระ หรือวันสิ้นอายุของใบภาษีรถยนต์/รถจักรยานยนต์นั้น จะระบุเป็นวัน เดือน และปีที่จะหมดอายุบนแผ่นป้ายกระดาษเล็ก ๆ ตามที่กล่าวข้างต้น โดยผู้ใช้รถสามารถวางแผนยื่นจ่ายภาษีล่วงหน้าไม่เกิน 90 วันก่อนหมดอายุได้ และไม่ควรจ่ายเลยวันกำหนดชำระที่ระบุไว้ในใบภาษีรถยนต์
โทษของการยื่นชำระภาษีช้า
หากผู้ใช้รถจ่ายช้ากว่าที่กำหนดไว้ 1 วัน จะถือว่าทะเบียนรถของคุณขาดต่อภาษีทันที หรือเรียกว่าทะเบียนรถขาด ซึ่งจะต้องเสียค่าปรับในการชำระภาษีย้อนหลังร้อยละ 1 ต่อเดือน จนถึงวันชำระ แต่ยังสามารถใช้งานรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ได้ตามปกติ แต่หากยังคงจ่ายล่าช้า ก็จะเสียค่าปรับที่มากขึ้นไปอีก
ทว่า หากค้างชำระภาษีเกิน 3 ปีขึ้นไป จะถือว่าป้ายทะเบียนรถของคุณถูกยกเลิกโดยสมบูรณ์ โดยจะได้รับเอกสารแจ้งจอดจากกรมการขนส่งทางบก ส่งผลทำให้รถของคุณไม่สามารถวิ่งบนท้องถนนได้ ซึ่งเจ้าของรถจะต้องนำแผ่นป้าย และสมุดคู่มือไปให้ทางราชการในเขตพื้นที่ที่รถจดทะเบียนทำการบันทึกการระงับทะเบียนภายใน 30 วัน หากไม่ดำเนินการ หรือนำรถไปใช้งานจะมีโทษปรับ 1,000 บาท
อีกทั้งรถที่ทะเบียนรถขาดจะส่งผลต่อการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น เช่น เข้าไฟแนนซ์ หรือขอสินเชื่อทะเบียนรถได้ แต่จะได้เพียงแค่การซื้อขายรถยนต์มือสองตามปกติ โดยที่ผู้ซื้อรถต่อต้องไปต่อทะเบียนรถเอง
การยื่นชำระภาษีในกรณีที่รถทะเบียนขาด
หากทะเบียนขาดไม่เกิน 3 ปี เพียงแค่เตรียมเอกสารเหมือนกับการยื่นภาษีรถตามปกติ เช่น เล่มทะเบียนรถ หรือสำเนารายการจดทะเบียนรถ, พ.ร.บ. รถ, ใบรับรองการตรวจสภาพรถจากกรมการขนส่งทางบก หรือสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) พร้อมทั้งค่าภาษี และค่าปรับตามจำนวนระยะเวลาที่ขาดชำระภาษี ยิ่งค้างชำระนาน ก็จะยิ่งมากขึ้น
สำหรับกรณีรถที่ทะเบียนขาดเกิน 3 ปี จะต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเพื่อทำการ “แจ้งจดทะเบียนใหม่” ได้แก่ บันทึกการระงับทะเบียน, บัตรประชาชนของเจ้าของรถ (ตัวจริงและสำเนา), พ.ร.บ. ที่ซื้อ/ทำใหม่, หนังรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล / สำเนาบัตรของผู้มีอำนาจลงนาม (ถ้ารถจดทะเบียนในนามนิติบุคคล), หนังสือสัญญาซื้อขาย หรือหลักฐานการขาย (ในกรณีที่รถไม่ใช่เจ้าของเดิม), หนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจ (ในกรณีที่เจ้าของรถไม่สะดวกไปดำเนินการ) รวมถึงค่าปรับ และค่าธรรมเนียมภาษีย้อนหลังสูงสุด 3 ปี
อีกทั้งต้องยื่นเรื่องที่กรมขนส่งทางบกด้วยตนเองเท่านั้น
ซึ่งผู้ที่ประสงค์ต่อทะเบียนรถใหม่สำหรับผู้ที่รถทะเบียนขาดเกิน 3 ปี พร้อมทั้งเสียค่าปรับ ตรวจสภาพรถ และจ่ายภาษีใหม่เรียบร้อยแล้ว จะได้สมุด และเลขทะเบียนรถใหม่ไป เนื่องจากทะเบียนเดิมจะไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป เพียงเท่านี้ก็สามารถกลับมาใช้รถได้ตามปกติแล้ว
หากคุณทำทะเบียนรถขาด อาจไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอย่างที่หลาย ๆ คนคิด เพียงแค่จ่ายค่าปรับ ชำระภาษีใหม่ ก็สามารถใช้รถได้อีกครั้ง แต่หากพิจารณาดี ๆ แล้ว หากคุณเผลอค้างชำระภาษีจนทะเบียนรถขาดไม่ว่าจะเหตุใดก็ตาม ก็จะเสียทั้งเวลา เสียทั้งค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณได้รับเอกสารแจ้งจอดจากกรมการขนส่งทางบก ก็จะต้องเสียเวลาในการทำเรื่องขอรับทะเบียนรถใหม่ และเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมากขึ้น ดั่งโบราณว่าเสียมาเสียง่าย ย่อมไม่ดีต่อคุณแน่
เพื่อการจ่ายภาษีรถที่ราบรื่น ไร้ปัญหา ควรดำเนินการก่อนวันครบกำหนดชำระภาษี 90 วันแต่เนิ่น ๆ จะดีที่สุด ซึ่งในปัจจุบันนี้ทางกรมการขนส่งทางบกได้จัดช่องทำยื่นชำระภาษีหลายช่องทาง ทั้งที่สำนักงานขนส่ง, เคาน์เตอร์เซอร์วิส, ที่ทำการไปรษณีย์, ธนาคาร, เว็บไซต์ www.eservice.dlt.go.th, แอปพลิเคชั่น DLT vehicle tax, จุดบริการเลื่อนล้อต่อภาษีรถยนต์ (Drive Thru For Tax) เป็นต้น เพื่อให้ผู้ใช้รถสามารถเลือกช่องทางยื่นภาษีได้รวดเร็ว และสบายใจ
เครดิตข้อมูลจาก กรมการขนส่งทางบก