สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนก็จะคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า “แถบสีขอบฟุตบาท” หรือแถบสีทางเท้าทั้งขาวแดง / ขาวเหลือง หรือแม้แต่ขาวดำ ซึ่งแต่ละแถบสีนั้นจะทำหน้าที่ว่าจุดไหนจอดรถได้ หรือไม่ได้ หรือจอดได้นานขนาดไหน แต่ในบางครั้งแถบสีบางสีก็ได้สร้างคำถามมากมายว่าแถบสีนี้รถแบบไหนจอดได้ – ไม่ได้ หรือแม้เแต่แถบสีขาวดำก็ยังถกเถียงกันว่าสามารถจอดรถได้หรือไม่ ก่อนที่คุณอาจจเผลอจอดจนโดนใบสั่ง หรือมีรถมาเสยท้ายกระทันหัน มาทำความเข้าใจกับแถบสีขอบฟุตบาทกันให้แจ่มแจ้งกัน
อ่านข่าวเพิ่มเติม:
- รู้จัก ‘ใบขับขี่ชั่วคราว’ 2 ปี ว่าได้รับ-จำกัดสิทธิ์อะไรบ้างก่อนที่จะต่ออายุเป็นแบบ 5 ปี
- เลี้ยวซ้าย…ไม่ได้ผ่านตลอดทุกแยก หากสังเกตไม่ดี เผลอเลี้ยวก็โดนปรับได้
- ระบบตัดแต้มใบขับขี่ที่ผู้ใช้รถต้องรู้ ความผิดใดตัดแต้มเท่าไหร่ และวิธีได้คะแนนคืน
ความหมายแถบสี
แถบสีขาวสลับ “แดง” หลาย ๆ คนทราบเป็นอย่างดีว่าหากพบแถบสีนี้หมายความว่ารถทุกชนิดตั้งแต่รถส่วนตัว รถสาธารณะ จนถึงรถบรรทุกจะไม่สามารถจอด หรือหยุดรถได้ ซึ่งเส้นแบบนี้จะพบได้ในถนนในชุมชนที่มีการจราจรพลุกพล่าน ทางร่วมทางแยก ทางโค้ง ทางเข้า – ออก ซึ่งหากมีรถจอดจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพจราจรโดยรวม และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
อีกทั้งหากผู้สัญจรเดินเท้าสังเกตว่ามีแถบสีขาวสลับแดงอยู่ จะไม่สามารถโบกรถให้จอดได้ หรือหากจอดรับก็จะมีความผิดทันที ดังนั้นหากจะโบกรถ หรือนัดคนมารับแล้วพบเส้นแถบสีดังกล่าวบนขอบทางเท้า ควรเดินให้พ้นเขตแนวแถบสีนี้เพื่อที่จะได้โบกให้รถมารับได้อย่างสบายใจ
แถบสีขาวสลับ “เหลือง” สำหรับแถบสีนี้จะเป็นแถบสีสำหรับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ไปจนถึงรถที่ขนส่งของในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ยกเว้นรถส่วนตัวที่ไม่สามารถจอดหรือดับเครื่องได้ ทำให้แถบสีนี้จะอยู่ในพื้นที่จอดรถสาธารณะ เช่น ป้ายรถเมล์ จุดรับส่งรถแท็กซี่ เป็นต้น
แถบสีขาวสลับ “ดำ” หากอิงตามข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้ว่า “มีลักษณะเป็นแถบสีขาวสลับสีดำ แสดงหรือทำให้ปรากฏที่ขอบคันหินหรือสิ่งกีดขวางอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ใช้ทางเห็นขอบคันหินหรือสิ่งกีดขวางนั้นๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น” ซึ่งหมายความว่าแถบสีดังกล่าวเป็นแถบสีเตือนให้เห็นริมทางเท้า เตือนทางวงเวียน เตือนทางกลับรถ คอสะพาน บริเวณสะพานลอย เป็นต้น เพื่อให้ขับรถอย่างระมัดระวัง หรือลดการใช้ความเร็ว
แต่ในข้อกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าสามารถ “จอดได้” หรือ “ห้ามจอด” ซึ่งคนส่วนใหญ่เมื่อเห็นแถบดังกล่าจึงสามารถนำรถมาจอดได้ชั่วคราว แต่การที่จะเข้าไปจอดรถนั้นจะต้องพิจารณาปัจจัยโดยรอบให้มั่นใจว่าปลอดภัยมากที่สุด หรือไม่กีดขวางทางของรถคันอื่น หรือกีดขวางรถประจำทาง โดยเฉพาะบางพื้นที่แม้จะเป็นแถบขาวดำ แต่ก็ไม่สามารถจอดได้ 100% เช่น ทางกลับรถ เนินสะพาน วงเวียน
อีกทั้งหากพบป้ายห้ามจอดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งไว้ชั่วคราว ในสถานการณ์ดังกล่าวตำแหน่งนี้จะเป็นจุดห้ามจอดรถโดยพลการ หากเผลอจอด นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายหรือกีดขวางทางแล้ว ยังผิดกฎหมายอีกด้วย
หากจะจอดรถ ควรสังเกตอะไรบ้าง
นอกเหนือจากการสังเกตแถบสี และสภาพจราจรโดยรอบแล้ว ควรสังเกตป้ายสัญลักษณ์ต่าง ๆ ว่ามันสามารถเอื้อต่อการจอด หรือหยุดรถได้หรือไม่ เช่น ป้ายตำแหน่งจุดจอดรถ, ป้ายห้ามจอด, ห้ามหยุดรถ, จำกัดเวลาจอดรถ เป็นต้น
หรือแม้แต่แถบสีตำแหน่งจอดรถที่ทาบนถนน ซึ่งจะมีให้บริการสำหรับจอดรถชั่วคราว โดยควรสังเกตด้วยว่าแถบสีที่ทางบนพื้นนั้นต้องเป็นแถบสีที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งจะมีป้ายจอดกำกับอยู่ด้วย
สำหรับขอบฟุตบาทไม่มีการทาสีใด ๆ นั้นผู้ขับขี่ก็ไม่สามารถจอดรถได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากปรากฎป้ายห้ามจอดทั้งแบบชั่วคราวหรือถาวรควบคู่ด้วย หากผู้ขับขี่เผลอจอดทิ้งไว้จะมีความผิดทันที ทางที่ดีควรสังเกตป้ายก่อนจอดเสมอ
บทลงโทษที่ควรทราบ
หากคุณเผลอจอดรถริมฟุตบาทในพื้นที่ห้ามจอด หรือแถบสีห้ามจอด อาจจะมีความผิด พ.ร.บ. จราจรทางบก มาตร 57 และ 59 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท รวมถึงถูกล็อล้อเพื่อรอชำระค่าปรับ หรือโดนยกรถไปไว้ที่สถานีตำรวจซึ่งจะต้องเสียค่าเคลื่อนย้ายอีก 500 บาท พร้อมค่าดูแลรักษารถอีกวันละ 200 บาท และจะมีผลต่อการถูกตัดคะแนนในใบขับขี่ 1 คะแนนด้วยหากไม่ชำระค่าปรับในระยะเวลาที่กำหนด
แถบสีทั้ง 3 แถบ เป็นการแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่ และคนเดินเท้าทราบว่าตำแหน่งดังกล่าวเป็นพื้นที่เตือนที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และการติดขัดของจราจร ส่วนแถบสีขาวดำนั้นจะสามารถนำรถมาจอดได้ในบางกรณีที่จะไม่เกิดการกีดขวางทางจราจร และบางพื้นที่ที่ไม่ใช่ทางกลับรถ วงเวียน หรือในช่วงจราจรคับขัน
ทั้งนี้ หากผู้ขับขี่จำเป็นต้องจอดรถบนทางเท้าชั่วคราว มีคำแนะนำว่าควรสังเกตป้ายจราจรก่อนแถบสีทางเท้าเสมอ เนื่องจากป้ายจะอยู่ในระดับสายตาของผู้ขับขี่เป็นลำดับต้น ๆ และมันเตือนผู้ขับขี่ได้ชัดเจนมากที่สุดอีกด้วย