หลังผ่านขั้นตอนการอบรม และผ่านทดสอบสุดหิน เพื่อให้ได้ใบขับขี่ หรือใบอนุญาตขับรถ ซึ่งจะเป็นเอกสารที่สำคัญสำหรับการขับรถยนต์และจักรยานยนต์บนท้องถนนได้อย่างสบายใจ แต่ทราบหรือไม่ว่า แรกเริ่มเมื่อได้รับใบขับขี่นั้น ยังไม่ใช่แบบ 5 ปี แต่เป็นใบชั่วคราว 2 ปี
ซึ่งผู้ที่ได้ใบขับขี่ชั่วคราวแบบ 2 ปีนั้น จะมีข้อจำกัดอะไรที่ควรทราบกันบ้าง และขั้นตอนการต่ออายุใบขับขี่จะต้องเตรียมอะไรบ้าง รับรองว่าไม่ยากและวุ่นวายอย่างที่คิด
ข้อจำกัดใบขับขี่ชั่วคราว
อย่างที่หลายคนทราบ ใบขับขี่ชั่วคราวจะมีอายุเพียง 2 ปี นับตั้งแต่วันออกบัตร โดยเจ้าของใบขับขี่สามารถต่ออายุจาก 2 ปี เป็น 5 ปีล่วงหน้าได้ก่อนหมดอายุ 3 เดือน หรือหลังจากครอบครองมากกว่า 1 ปี
หากคุณยังไม่ได้ครอบครองใบขับขี่ชั่วคราว 2 ปีมาก่อน จะไม่สามารถยื่นเรื่องขอใบอนุญาตขับรถประเภทอื่น ๆ เช่น รถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะ และอื่น ๆ เพราะการที่จะสามารถทำใบขับขี่ประเภทนี้ได้ จะต้องมีใบขับขี่รถส่วนตัวแบบชั่วคราวไม่น้อยกว่า 1 ปีนั่นเอง
รวมถึงหากยังไม่ได้รับใบขับขี่รถยนต์ – รถจักรยานยนต์ส่วนบบุคลแบบ 5 ปี จะยังไม่สามารถออกใบขับขี่สากลได้
สำหรับข้อจำกัดของใบขับขี่ชั่วคราวนั้นจะไม่ต่างจากใบขับขี่อายุ 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นสามารถขับรถได้ทั่วราชอาณาจักร ใช้แสดงหลักฐานการเช่ารถยนต์-รถจักรยานยนต์ ทดลองขับรถ ทำประกัน – ต่อประกันรถ เป็นต้น
เปลี่ยนจากใบขับขี่ชั่วคราว 2 ปี เป็น 5 ปี (ทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์)
สำหรับขั้นตอนการต่ออายุใบขับขี่จาก 2 ปี เป็น 5 ปีนั้น สิ่งที่เจ้าของบัตรต้องเตรียมเอกสาร มีด้วยกันดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง)
- ใบขับขี่ที่กำลังหมดอายุ หรือหมดอายุแล้วไม่เกิน 1 ปี นับจากวันออก
- ใบรับรองแพทย์ อายุไม่เกิน 1 เดือนนับจากวันออก
คุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 46 ดังนี้
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
- มีความรู้ความสามารถในการขับรถ
- มีความรู้ในข้อบังคับการเดินรถตามพระราชบัญญัติรถยนต์ และตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
- ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่สามารถขับรถได้
- ไม่มีโรคประจำตัวที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ
- ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน
- ไม่มีใบขับขี่รถชนิดเดียวกันอยู่แล้ว
- ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกยึดหรือเพิกถอนใบขับขี่
- ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ หรือถูกเจ้าพนักงานเปรียบเทียบปรับตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป สำหรับความผิดเกี่ยวกับการขับรถอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะพ้นโทษครั้งสุดท้าย ไม่น้อยกว่า 6 เดือนแล้ว
- ฝ่าฝืนสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมาย
- เมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น
- มีความผิดในลักษณะกีดขวางการจราจร
- ใช้ความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
- มีความผิดโดยประมาท หรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือนร้อนของผู้อื่น
ผ่านการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย
- ทดสอบการมองเห็นสี ที่จำเป็นในการขับรถ
- ทดสอบสายตาทางลึก
- ทดสอบสายตาทางกว้าง
- ทดสอบปฏิกิริยาเท้า (ความสามารถในการใช้เบรคเท้า)
และชำระค่าธรรมเนียม
- ใบอนุญาตขับรถยนต์ (ประเภท ท) 500 บาท + ค่าคำขอ 5 บาท รวมทั้งสิ้น 505 บาท
- ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ 250 บาท + ค่าคำขอ 5 บาท รวมทั้งสิ้น 255 บาท
ในกรณีที่ต่ออายุใบขับขี่สามารถยื่นเรื่องล่วงหน้าก่อนหมดอายุ 2 เดือน หรือหมดอายุภายใน 1 ปีขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องอบรมเพิ่มเติม ก็สามารถยื่นเรื่องต่ออายุบัตรที่สำนักงานขนส่งได้เลย
แต่ถ้าหากบัตรหมดอายุเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี เจ้าของบัตรต้องเพิ่มขั้นตอนทดสอบข้อเขียน และหากบัตรหมดอายุเกิน 3 ปี จะต้องเพิ่มขั้นตอนอบรม ทดสอบข้อเขียน และสอบขับรถอีกครั้ง
โดยสามารถหรือสามารถจองคิวล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชั่น DLT Smart Queue หรือผ่านเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th ของกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น
ใบขับขี่ชั่วคราว 2 ปี หรือใบอนุญาตขับรถชั่วคราวที่ได้รับนั้น เปรียบเสมือนเป็นใบผ่านทางของการขับรถได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการกำหนดใบขับขี่ชั่วคราวสำหรับนักขับมือใหม่จะเป็นการประเมินสภาพร่างกาย และสุขภาพจิตของเจ้าของบัตรในระหว่างขับรถจริงภายใน 1 ปี ว่าจะไม่เกิดโรคร้ายแรง หรือเกิดอุบัติเหตุ หรือกระทำผิดกฎจราจรร้ายแรงเสียก่อนที่จะมีผลต่อการได้รับใบขับขี่จริง ๆ
หากผู้ขับขี่พบว่าใบขับขี่ของตัวเองกำลังจะหมดอายุ ควรวางแผนจองวันในการทำใบขับขี่ และเตรียมเอกสารสำคัญไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้สามารถทำใบขับขี่แบบ 5 ปี ได้อย่างสบายใจ
เครดิตข้อมูลจาก กรมการขนส่งทางบก