คัดลอก URL แล้ว

โช้คอัพ อยู่หลังล้อแต่ไม่ควรมองข้าม เช็ค และดูแลก่อนเจอเรื่อง ‘ปวดหัว’

โช้คอัพ (Shock Absorber) หนึ่งในชิ้นส่วนของระบบช่วงล่างของรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ที่ต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักของตัวรถลงสู่ล้อ ช่วยในการทรงตัว และดูดซับแรงกระแทกบนพื้นผิวถนน ช่วยให้การเดินทางมีความนุ่มนวล ละเกาะถนนได้ดี แต่ชิ้นส่วนนี้เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่จะต้องมีการเปลี่ยนเมื่อถึงระยะที่กำหนด ซึ่งหากโช้คอัพเสื่อมสภาพ นอกจากจะทำให้การเดินทางของคุณหมดสนุกแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายในระหว่างเดินทางอีกด้วย

ในวันนี้ จะมาสังเกตอาการของโช้คอัพเสื่อมสภาพ เคล็ดลับการใช้งาน และดูแลโช้คอัพเพื่อช่วยซัพพอร์ทการเดินทางของคุณไม่ให้เจอเรื่องน่าปวดหัว และยังช่วยชีวิต และเซฟค่าใช้จ่ายได้ดีอีกด้วย

ประเภทของโช้คอัพ

โช้คอัพในรถยนต์จะมีด้วยกัน 2 ประเภทหลัก ๆ ตามกลไก และสารดูดซับแรงกระแทกที่อยู่ข้างใน ซึ่งประกอบไปด้วย

โช้คอัพน้ำมัน ด้วยน้ำมันไฮดรอลิคในท่อโช้ค ทำหน้าที่สร้างความหนืดเมื่อเกิดการยุบตัว ข้อดีคือมีราคาไม่แพง ให้ความหนึบ ยึดเกาะถนนได้ดี ส่วนข้อเสียคือจะมีความแข็งกระด้าง และเมื่อโช้คอัพเสื่อมหรือสึกหรอจะมีน้ำมันรั่วออกมา

โช้คอัพแก๊ส ใช้การทำงานร่วมกันระหว่างแก๊สไนโตรเจน และน้ำมันไฮดรอลิค ข้อดีคือให้ความนุ่มนวลขณะขับขี่ ลดแรงกระแทกได้มาก แต่ก็มีราคาที่สูงกว่าโช้คน้ำมัน

อาการที่บ่งบอกว่าโช้คอัพในรถมีปัญหาแล้ว

  1. หากขับรถ หรือกำลังโดยสารรู้สึกได้ว่ารถมีอาการสั่นเต้น บังคับพวงมาลัยยาก ไม่ตั้งตรง เมื่อสัมผัสกับผิวถนนที่มีสภาพขรุขระ หรือมีอาการเหินน้ำเมื่อวิ่งอยู่บนนถนนเปียก
  2. เวลาออกรถ หน้ารถเกิดเชิดขึ้นผิดปกติ และหน้ารถทิ่มลงเมื่อเบรกที่ความเร็วต่ำ
  3. รถมีอาการโยกคลอนขึ้นลง ไม่นิ่มนวล จนรู้สึกเวียนหัว เมื่อมีการแล่นผ่านทางลาดชัน เนินสะดุดต่าง ๆ
  4. เกิดการเสียการทรงตัวแบบผิดปกติเมื่อมีลมมาปะทะที่ความเร็วสูง เช่น ขับขี่บนสะพาน หรือบนภูเขาสูง
  5. ลองกดที่ด้านหน้าของรถแล้วปล่อย ถ้ารถมีอาการเด้งขึ้นลงหลาย ๆ ครั้งแสดงว่าโช้คอัพเสื่อมสภาพแล้ว โช้คอัพที่สภาพดีเมื่อออกแรงกดหน้ารถจะยุบตัว และคืนตัวเป็นระดับปกติทันทีโดยไม่มีอาการการเด้งหลาย ๆ ครั้ง ทว่าการตรวจสภาพด้วยวิธีนี้จะไม่ละเอียดเท่ากับวิธีอื่น ๆ แต่เป็นการทดสอบเบื้องต้นหากการขับขี่รู้สึกถึงความผิดปกติตามที่กล่าวข้างต้น
  6. หากพบฝุ่น หรือเศษดินทรายจะเกาะบริเวณจุดที่รั่วซึม หรือมีคราบคล้าย ๆ น้ำมัน ให้สันนิฐานว่าโช้คอัพเกิดการรั่วซึม
  7. ยางรถยนต์มีอาการสึกที่ไม่เรียบเสมอกัน
  8. แกนโช้คอัพไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เช่น คดงอ บุบ บิดเบี้ยว ฯลฯ
  9. เมื่อจอดรถ ลองสัมผัสที่ตัวโช้คอัพ ถ้ารู้สึกร้อนแสดงว่าโช้คอัพยังทำงานอยู่
ภาพประกอบจาก freepik.com

เทคนิคดูแลโช้คอัพที่คุณทำได้ไม่ยาก

1.ไม่บรรทุกของในรถหนักเกินไป ซึ่งผู้ขับขี่ควรเคลียร์สิ่งของที่ไม่จำเป็นออกจากรถให้มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะช่วยถนอมโช้คอัพ และลดการสิ้นเปลืองน้ำมัน – ไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยรักษาความสะอาด และเพิ่มความโปร่งสบายภายในรถอีกทางด้วย

2.ไม่ควรขับขี่ด้วยความเร็วเกินกว่ากำหนด โดยเฉพาะหากเส้นทางเต็มไปด้วยเนินลูกระนาด ทางขรุขระ ทางหลุม ซึ่งหากรถเหินลูกระนาด หรือตกหลุม ก็จะทำให้โช้คอัพเสียหายได้ ซึ่งการขับช้า ๆ นอกจากจะช่วยเพิ่มเวลาให้สามารถตรวจสอบทางด้านหน้าได้แล้ว ยังช่วยลดอาการเหินลูกระนาด ล้อจะเกาะถนนได้นุ่มนวลยิ่งขึ้น

3.เช็คสภาพช่วงล่าง และยางก่อนเดินทางไกล สำหรับผู้ขับขี่ที่ต้องการเดินทางไกลควรตรวจสภาพทั้งความสมบูรณ์ของโช้คอัพ แรงดันลมยางที่เหมาะสม ศูนย์พวงมาลัยที่ตรง ซึ่งหากพบความผิดปกติก็สามารถให้ช่างตรวจสบและซ่อมแซมก่อนเดินทาง หรือให้คำแนะนำในการเดินทางไกลที่เหมาะสม หากไม่สะดวกซ่อมแซม รวมถึงหากมีเวลาก็ควรตรวจสอบช่วงล่างทั้งระบบร่วมด้วย


โดยตามปกติ ผู้ใช้รถจะต้องตรวจสอบโช้คอัพรถตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป หรือ 20,000 กม. อีกทั้งควรเลือกซื้อโช้คอัพที่เหมาะสมกับรถของคุณ และควรใช้อะไหล่ของแท้ คุณภาพดีอยู่เสมอ เพื่อมอบความผ่อนคลาย ลดความเสียหายของชิ้นส่วนรถ และเพิ่มความปลอดภัยไม่ต้องทุกข์ทรมานกับอาการปวดหัว ปวดใจ และลุ้นระทึกให้เสียเวลาตลอดการเดินทาง

อ่านข่าวเพิ่มเติม:


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง