KEY :
- ประเทศไทยได้มีการผลักดันเทคโนโลยี Digital ID มาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีการใช้งานจริงในปัจจุบัน อีกทั้งบริการจากภาครัฐและเอกชน
- ในอนาคตประชาชนสามารถแสดงภาพบัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) บนเครื่องมือสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันแทนการแสดงตนด้วยตัวบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง
- โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิเสธการแสดง Digital ID ของประชาชนได้
- ปัจจุบันกรมการปกครอง ได้พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ DOPA-Digital ID เพื่อรองรับการให้บริการประชาชน
เชื่อว่าทุกคนคงเคยผ่านเหตุการณ์การติดต่อทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งต้องเตรียมเอกสารต่าง ๆ ถ่ายสำเนาเอกสาร เพื่อให้ตรงตามที่เจ้าหน้าที่ระบุไว้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการโยนภาระมาสู่ประชาชนผู้เข้าใช้บริการ ทั้งเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รอคิวนาน ซึ่งไม่ตอบโจยท์ในสังคมยุคใหม่ โดยปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ามีหลาย ๆ หน่วยงาน เริ่มนำเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนออนไลน์เข้ามาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับยุคดิจิทัลเช่นนี้มากขึ้น
ล่าสุดตามที่ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นกฎหมายกลางส่งเสริมให้การบริการของภาครัฐใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก โดยบางส่วนของกฎหมายมีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 65 และบางส่วนมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 66 เป็นต้นไป
โดยขณะนี้มาตรา 14 ตาม พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา ดังนั้นประชาชนสามารถแสดงภาพบัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) บนเครื่องมือสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันแทนการแสดงตนด้วยตัวบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิเสธการแสดง Digital ID ของประชาชนได้
ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการผลักดันเทคโนโลยี Digital ID มาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีการใช้งานจริงในปัจจุบัน อีกทั้งบริการจากภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่ต่างก็ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล จึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี Digital ID ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และมั่นคงปลอดภัย ในขณะเดียวกัน Digital ID ก็นำไปใช้ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง เพื่อทำธุรกรรมอื่น ๆ ได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น
Digital ID คืออะไร..?
Digital ID อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทย แต่ในต่างประเทศนั้นได้มีการนำเทคโนโลยีระบบดังกล่าวมาใช้ในการให้บริการเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายแก่ประชาชนมาหลายปีแล้ว ซึ่งตัว Digital ID เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะสามารถลบภาพจำเดิม ๆ ที่เราทุกคนเคยพบเจอเวลาไปทำธุรกรรมทั้งหน่วยงานภาครัฐ หรือ ธุรกรรมต่าง ๆ ทางการเงิน
ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมาในรูปแบบของการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ 1.การระบุตัวตน (Identification) และ 2.การพิสูจน์ตัวตน (Authentication)
ซึ่งจริง ๆ แล้ว เจ้าระบบดังกล่าวนี้เราเคยมีโอกาสได้ใช้มาแล้ว ทั้งการยืนยันตัวตนจากหน่วยงานภาครัฐ (NDID)อย่าง ‘แอปเป๋าตัง’ หรือ Mobile ID ของทาง กสทช. ที่ใช้ในการลงทะเบียนเปิดเบอร์โทรศัพท์เพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งการปรับเปลี่ยนนี้ถูกเข้ามาแทนที่รูปแบบการทำธุรกรรมเดิม ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว
หลาย ๆ ประเทศกับการใช้ Digital ID
ในหลายประเทศทั่วโลกต่างก็ใช้ Digital ID กันมากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐที่คิดและนำมาใช้ โดยเกิดประโยชน์ทั้งภาครัฐเองและประชาชนด้วยเช่นกัน ซึ่งในแต่ละประเทศมีการใช้รูปแบบการให้บริการ Digital ID ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับนโยบายและสภาพแวดล้อมของประเทศนั้น ๆ อาทิ
- 1. SwissID จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำหรับการทำธุรกรรมทางออนไลน์
- 2. NemID จากประเทศเดนมาร์ก สำหรับการเข้าระบบของธนาคาร เว็บไซต์รัฐบาล และบริษัทเอกชน
- 3. Singpass จากประเทศสิงคโปร์ สำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์ ทั้งในเรื่องระดับบุคลและนิติบุคคล
- 4. BankID จากประเทศสวีเดน สำหรับการทำธุรกรรมทางการเงิน
- 5. e-identity จากประเทศเอสโตเนีย สำหรับการใช้บริการสำคัญระดับประเทศ
- 6. RealMe จากประเทศนิวซีแลนด์ สำหรับการใช้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน
- 7. Verified.me จากประเทศแคนาดา สำหรับการธุรกรรมออนไลน์ เช่น ด้านการเงิน
- 8. Aadhaar จากประเทศอินเดีย เป็นแพลตฟอร์มทางด้านสาธารณูปโภคระดับประเทศ
- 9. myGovID จากประเทศออสเตรเลีย สำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์ของภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การยื่นภาษี
DOPA-Digital ID โดยกรมการปกครอง
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ DOPA-Digital ID เพื่อรองรับการให้บริการประชาชน เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการใช้บริการต่าง ๆ ที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน โดยผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ID สามารถดำเนินการได้ ดังนี้
- 1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “D.DOPA” ของกรมการปกครอง ลงในโทรศัพท์มือถือก่อนเข้ารับบริการลงทะเบียน ซึ่งรองรับทั้งระบบไอโอเอส (IOS) และระบบแอนด์ดรอย (Android)
- 2. ผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนใบล่าสุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียนทำการตรวจสอบข้อมูลก่อนการลงทะเบียน ณ สำนักทะเบียน
- 3. เปิดแอปพลิเคชัน D.DOPA พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ของเครื่องมือ ระบุเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักให้ถูกต้อง
- 4. ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อทำการลงทะเบียนแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล (D.DOPA)
- 5. ทำการสแกนคิวอาร์โค้ดในแอปพลิเคชัน
- 6. ระบบแจ้งเตือนให้ตั้งค่ารหัสผ่าน โดยทั้ง 2 ครั้งต้องเหมือนกัน
- 7. เมื่อระบุครั้งที่ 2 ถูกต้อง ระบบแจ้งเตือนขอยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่ออัปโหลดข้อมูลลงในแอปพลิเคชันมือถือของตน
- 8. เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงสถานะการสมัครสำเร็จ
ภายหลังลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้องติดต่อรับบริการจากหน่วยงานรัฐ หรือมีเจ้าพนักงานเรียกตรวจบัตรประชาชนในกรณีต่าง ๆ ประชาชนสามารถใช้สมาร์ทโฟนที่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแล้วข้างต้นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่เรียกตรวจแทนการใช้บัตรประชาชนได้
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคาดว่าในปี 2566 จะมีประชาชนใช้ Digital ID แทนบัตรประจำตัวประชาชนประมาณ 10 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังกรมการปกครองได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนทั้งหมดไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์
…
การเปลี่ยนถ่ายระหว่างยุคกระดาษสู่ยุค Digital ID นั้น ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดี ตัดปัญหาที่ผ่านมาในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากออกไป ได้ประโยชน์ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการอย่างโดยตรง
ทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ อยู่เพียงแค่ปลายนิ้วบนโทรศัพทมือถือ เพิ่มความสะดวกสบาย ลดค่าใช้จ่ายและลดเวลาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังส่งผลดีในเรื่องความปลอดภัยและการปลอมแปลงต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริงของประเทศไทย
ข้อมูล :
- กรมการปกครอง
- สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์