หลังจากที่ประเทศจีน ประกาศนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งทางกรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 5 ล้านคน ในปี 2566 และจะมีผู้เดินทางจากประเทศไทยไปประเทศจีนมากขึ้น
ขณะที่ ที่ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เตรียมเสนอแนวทางและมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด -19 เพื่อเตรียมรับผู้เดินทางจากจีน 7 ข้อในวันที่ 5 ม.ค.นี้ ได้แก่
- การตรวจเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด 19 ให้ผู้เดินทางซื้อประกันสุขภาพเดินทางระยะสั้นที่ครอบคลุมการรักษาโรคโควิด 19 ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งนี้ พิจารณามาตรการอย่างสอดคล้องกับข้อกำหนดของจีนในการรับผู้เดินทางเข้าประเทศ ที่กำหนดให้มีการตรวจ RT-PCR ก่อนขึ้นเครื่อง 48 ชั่วโมง
- ประชาสัมพันธ์ถึงมาตรการของไทยและคำแนะนำให้กับผู้เดินทางก่อนเดินทางเข้าไทย
- การสุ่มตัวอย่างตรวจสายพันธุ์และประเมินสถานการณ์เป็นระยะ เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสม
- เตรียมความพร้อมระบบบริการสาธารณสุขให้รองรับผู้ป่วยชาวต่างชาติได้มากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยว
- สื่อสารเน้นย้ำมาตรการป้องกันตนเองตลอดระยะเวลาที่ผู้เดินทางท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย และจัดบริการสายด่วนสำหรับนักท่องเที่ยว
- ผู้ประกอบการและร้านค้า ดำเนินการตามแนวทาง SHA, SHA Plus
- ต้องสื่อสารไปยังผู้ประกอบกิจการ หรือผู้ที่ให้บริการนักท่องเที่ยวให้ได้รับวัคซีนโควิด 19 ครบ 4 เข็ม โดยทางภาคสาธารณสุขจะมีการเตรียมวัคซีนให้กับแรงงาน ภาคธุรกิจท่องเที่ยว และภาคการคมนาคม เพื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค รวมถึงประชาชนคนไทยทุกคนให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จำนวนรวม 4 เข็ม เพื่อลดการป่วยหนัก และลดการเสียชีวิต
ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับทีมข่าวโมโน 29 ว่า การที่นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนจะเดินทางเข้าไทยจำนวนมาก อาจจะไม่ต้องตระหนกมาก เพราะเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยของโคมิครอนที่เกิดขึ้นที่ประเทศจีนเป็นสายพันธุ์ที่ทั่วโลกมีอยู่ และเป็นสายพันธุ์ที่ประเทศไทยระบาด และไม่รุนแรงมาก ดังนั้นมาตรการที่ไทยเตือนไว้มองว่า เหมาะสมแล้วที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวจากจีนที่จะเข้ามาต้องมีประกันสุขภาพ รวมถึงการตรวจคัดหาเชื้อก่อนเข้าประเทศ 48 ชั่วโมง และต้องพยายามใช้มาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรตึงจนเกินไป
ส่วนเรื่องที่กังวลว่าวัคซีนที่ประเทศจีนใช้จะไม่ได้ผลนั้น หากดูจากรูปการณ์แล้วจะพบว่าวัคซีนที่ประเทศจีนใช้แม้จะเป็นวัคซีนเชื้อตาย แต่มีรายงานอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนธันวาคมทีผ่านมาพบว่า หากฉีดวัคซีน mRNA มากเข็มขึ้นเรื่อยๆ ภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีน ไม่ได้ออกฤทธิ์ในการยับยั้งไวรัสเท่านั้น แต่จะออกฤทธิ์ที่อีกระบบที่เป็นระบบนักฆ่าไวรัส ซึ่งหากฉีดมากเกินไปในสถานการณ์การระบาดโดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน จะทำให้ระบบนักฆ่าดังกล่าว ซึ่งเป็นระบบที่ปกติจะเสริมกับการยับยั้งไวรัสจากแอนติบอดี้นั้น เกิดการเบี่ยงเบนไปทำให้ประสิทธิภาพของระบบการฆ่าไวรัสจำกัดลง ดังนั้นตอนนี้ต้นทุนของวัคซีนเชื้อตายของจีนอาจจะยังใช้ได้อยู่