KEY :
- กระทรวงสาธารณสุข เผยแนวทางเฝ้าระวัง “โควิด 19” แพร่ระบาดในสถานศึกษา หลังปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ย้ำติดเชื้อไม่ต้องปิดเรียน จัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม
- สถานศึกษาเน้นสะอาด ปลอดภัย ระบายอากาศให้ดี นักเรียน บุคลากรปฏิบัติตามสุขอนามัย ตรวจ ATK เมื่อเสี่ยง
- สังเกตอาการป่วยเป็นกลุ่มก้อน หากพบให้รายงานตามมาตรฐานผ่านออนไลน์อนามัยโรงเรียน
วันนี้ (3 ตุลาคม 2565) ที่ ห้องประชุมประเมินจันทวิมล กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว “โควิด 19 กับชีวิตเด็กๆ ในวัยเรียน” ว่า ภายหลังจากกระทรวงสาธารณสุขประกาศยกเลิกโควิด 19 จากการเป็นโรคติดต่ออันตราย และกำหนดให้เป็น 1 ใน 57 โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ได้มีการจัดระบบเฝ้าระวังโควิด 19 ใน 4 ส่วน คือ 1.การเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 2.การเฝ้าระวังการระบาดในลักษณะกลุ่มก้อน หรือคลัสเตอร์ หากมีการแพร่ระบาดจำนวนมาก ต้องมีระบบในการควบคุมและสอบสวนโรค 3.การเฝ้าระวังในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และ 4. การเฝ้าระวังเรื่องการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19
นายแพทย์สราวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในปัจจุบัน พบอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ซึ่งผู้เสียชีวิตในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเฉลี่ย 6-10 รายต่อวัน ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือไม่ได้รับวัคซีน โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 กันยายน 2565 พบผู้ติดเชื้ออายุระหว่าง 0-18 ปี มีจำนวนลงลดอย่างชัดเจน และมีอัตราการเสียชีวิตในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็ก ยังคงเฝ้าระวังการแพร่ระบาด
ในสถานศึกษาต่อเนื่อง
โดยแนะนำการป้องกัน 3 ส่วน คือ
- 1.สถานศึกษา ให้ประกาศนโยบายมิติสุขภาพและคำแนะนำการป้องกันโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จัดสภาวะแวดล้อมของสถานศึกษาให้สะอาด ปลอดภัย มีสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาล มีระบบการระบายอากาศที่ดี ประเมินความเสี่ยงตามความเหมาะสมหรือตามคำแนะนำของ สธ. และคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด และส่งเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ ครู บุคลากร นักเรียนและผู้ปกครอง
- 2.นักเรียนและบุคลากร ต้องปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลขั้นพื้นฐานเป็นกิจวัตร คือ ล้างมือ สวมหน้ากากในสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ประเมินความเสี่ยงของตนเองด้วย Thai Save Thai ถ้าเสี่ยงสูง แนะนำตรวจ ATK หรือปรึกษาหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ และรับวัคซีน และ
- 3.การเฝ้าระวัง ให้สถานศึกษาตรวจคัดกรองสุขภาพนักเรียนตามมาตรฐานงานอนามัยโรงเรียน พร้อมกับเฝ้าระวังและสังเกตอาการป่วย หากมีการป่วยเป็นกลุ่มก้อน ให้ประสาน ปรึกษา และส่งต่อสถานพยาบาล และกำกับติดตามรายงานตามมาตรฐาน ผ่านออนไลน์อนามัยโรงเรียน
สำหรับข้อมูลการรับวัคซีนโควิด 19 ของนักเรียน วันที่ 3 ตุลาคม 2565 พบว่า กลุ่มอายุ 12-17 ปี ทั้งหมด 5,333,639 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 4,723,369 คน คิดเป็น 88.56% เข็มที่ 2 จำนวน 4,386,081 คน คิดเป็น 82.23% เข็มที่ 3 จำนวน 1,140,580 คน คิดเป็น 20.35% ส่วนอายุ 5-11 ปี ทั้งหมด 5,002,698 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 3,328,184 คน คิดเป็น 64.6% เข็มที่ 2 จำนวน 2,493,003 คน คิดเป็น 48.4% และเข็ม 3 จำนวน 56,807 คิดเป็น 1.1% ดังนั้น ยังคงมีความจำเป็นที่นักเรียนจะต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์สราวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานศึกษาที่พบการติดเชื้อโควิด 19 ทั้งไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย นักเรียน ครู บุคลากรในสถานศึกษา ให้ปฏิบัติดังนี้ คือ จัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม ไม่ต้องปิดเรียน ปฏิบัติตามหลักการ Universal Prevention เน้นมาตรการ 6-6-7 เข้มการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 2 เมตร งดทำกิจกรรมรวมกลุ่ม จัดพื้นที่ให้มีระบบระบายอากาศที่ดี และทำความห้องเรียน/ชั้นเรียน ส่วนกรณีที่มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 อาการปานกลางหรือรุนแรง ให้สถานศึกษาปฏิบัติตามแนวทางการดูแลรักษาของ สธ. และติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่