คัดลอก URL แล้ว
แนวทางการรักษาตัวโควิด-19 หลังปลดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง

แนวทางการรักษาตัวโควิด-19 หลังปลดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง

KEY :

ภายหลังเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด 19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) ซึ่งได้ลงนามยกเลิกโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ลำดับที่ 57 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

มาตรการดูแลรักษาผู้ป่วย

มาตรการดูแลรักษาผู้ป่วยจะแบ่งตามระดับความรุนแรงของอาการ คือ 1.ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี 2.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยง 2 กลุ่มนี้ให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) โดยให้สังเกตอาการที่บ้าน กินยาต้านไวรัสหรือยารักษาตามอาการตามที่แพทย์สั่ง ลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นด้วยมาตรการ DMHT 3.ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบที่ไม่รุนแรง และ 4.ผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมต้องรับออกซิเจน 2 กลุ่มนี้จะรักษาในสถานพยาบาลแบบผู้ป่วยใน

โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ประชาชนยังสามารถรักษาพยาบาลโรคโควิด 19 ได้ฟรีจากกองทุนสุขภาพที่ผู้ป่วยมีสิทธิ เช่น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น ส่วนกรณีผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการฉุกเฉินวิกฤตสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐหรือเอกชนตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย ซึ่งแตกต่างจากสิทธิ UCEP ปกติที่เมื่อครบ 72 ชั่วโมงจะต้องส่งกลับไปรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิ โดยสถานพยาบาลจะเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามระบบ UCEP Plus ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนแรงงานต่างด้าวหากมีประกันสุขภาพก็สามารถใช้ประกันในการรักษาได้ฟรี

สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ใช้ยาแพกซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการศึกษาวิจัย หากมีอาการไม่มากให้ดูแลรักษาตามอาการ หรืออาจพิจารณาใฟ้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นเวลา 5 วัน แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงหรืออาการเสี่ยงมากก็ให้เรมดิซีเวียร์ 3 วันหรือฟาวิพิราเวียร์ 5 วัน หรือหากอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปให้แพกซ์โลวิด ส่วนกรณีปอดอักเสบให้เรมดิซีเวียร์ 5-10 วัน

สถานการณ์โควิด-19 ในไทย

สถานการณ์ ณ ขณะนี้ แนวโน้มพบผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต ลดลงต่อเนื่อง แม้เปิดให้มีการทำกิจกรรมทุกอย่างเหมือนปดติแล้ว ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันโควิด-19 แล้วร้อยละ 91.7 ซึ่งมาจากการได้รับวัคซีน และติดเชื้อตามธรรมชาติ

สำหรับการคาดการณ์ในปี 2566 คาดว่าอาจพบการระบาดในลักษณะเพิ่มขึ้นและลดลงตามฤดูกาล คล้ายไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้ศักยภาพการจัดการเตียง เวชภัณฑ์ บุคลากร สามารถรองรับผู้ป่วยอาการได้เพียงพอ เมื่อเข้าสู่ระยะโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง สามารถลดระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคได้ รวมทั้งยกเลิกการแสดง หรือ สุ่มตรวจเอกสารวัคซีน ผลการตรวจ ATK สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ

แนวทางการเฝ้าระวัง หลังปรับโควิด-19 เป็นโรคติดต่อฯ

การเฝ้าระวังจะแบ่งออกเป็น 4 แนวทางหลัก ๆ ดังนี้

1.การเฝ้าระวังผู้ป่วยในสถานพยาบาล

2.การเฝ้าระวังแบบกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์)

3.เฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงนอกสถานพยาบาล

4.เฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์

คำแนะนำในการเฝ้าระวัง

ผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHT โดยเฉพาะสวมหน้ากากล้างมือ เมื่อต้องใกล้ชิดผู้อื่น สำหรับประชาชนทั่วไป แนะนำให้สวมหน้ากาก เมื่อเข้าไปในสถานที่ผู้คนแออัด หรือพื้นที่ปิดอากาศไม่ถ่ายเท ขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ/เด็กเล็ก และให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการป่วยและสงสัย ตามความจำเป็น ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ในประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาการป่วย

ในส่วนของหน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ คัดกรองอาการป่วยของพนักงานประจำ หากมีพนักงานป่วยจำนวนมากให้รายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที


ข่าวที่เกี่ยวข้อง