คัดลอก URL แล้ว
พบความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ที่จะเกิดความผิดปรกติต่อระบบประสาท

พบความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ที่จะเกิดความผิดปรกติต่อระบบประสาท

KEY :

จากการศึกษาของสถาบันประสาทวิทยายุโรป (European Academy of Neurology หรือ EAN) พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศเดนมาร์กมีความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์, โรคพาร์กินสัน และหลอดเลือดสมองตีบมากกว่าคนปรกติ

โดยจากผู้ป่วยที่มีผลตรวจโควิด-19 เป็นยวดจำนวน 43,375 ราย มีความเสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น 3.5 เท่า มีความเสี่ยงต่อโรคพาร์กินสันจำนวน 2.6 เท่า และเสี่ยงต่อากรเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ 2.7 เท่า นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกในสมองเพิ่มขึ้นอีก 4.8 เท่า

ซึ่งการศึกษาจากผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศเดนมาร์กทั้งผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยในเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและผู้ป่วยนอกที่ใช้วิธีการรักษาตัวที่บ้าน พบว่าหลังจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 พบความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อความผิดปรกติทางระบบประสาทเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

และในขณะนี้ยังคงไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่า โควิด-19 นั้นมีผลกระทบต่อระบบประสาทที่จะเพาะเจาะจงหรือแตกต่างกับการติดเชื้อในทางเดินหายใจอื่นหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการเป็นโรคระบบประสาทส่วนใหญ่ในผู้ป่วยโควิด-19 นั้นไม่ได้มีมากกว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ แต่ผู้ป่วยโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบสูงว่า 1.7 เท่า ในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 80 ปีขึ้นไป

โดยดร. พาร์ดิส ซาริฟการ์ หัวหน้าแผนกประสาทวิทยา ของโรงพยาบาลริกส์ฮอสพิทาเล็ต ในกรุงโคเปนเฮเกน ระบุว่า ผลการค้นหาเหล่านี้จะทำให้เราสามารถเข้าใจถึงผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อร่างกายของผู้ป่วยในระยะยาวได้

นักวิจัยออสเตรเลีย พบภาวะสมองล้า หรือ Brain Fog

ทางด้านของนักวิจัยชาวออสเตรเลีย ระบุว่า ได้ค้นพบข้อบ่งชี้เบื้องต้นว่า ภาวะของ Long Covid ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยนั้น มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอะไมลอยด์ในสมองที่คล้ายกับอาการอัลไซเมอร์ รวมถึงภาวะสมองล้า หรือ Brain Fog ที่อาจจะทำให้สูญเสียความทรงจำ มีความสับสน และอาการเวียนหัวหรือปวดหัวตามมา

โดย ดร.นิค เรย์โนล์ดส์ แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์โมเลกุลที่มหาวิทยาลัย La Trobe ของเมลเบิร์น ระบุว่า พบกลุ่มก้อนของอะไมลอยด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ในสมองของผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งทำให้เราสามารถตั้งสมมติฐานได้ว่า โควิด-19 นั้น อาจจะทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท อย่างภาวะสมองล้า หรือ Brain Fog ได้

และจากการศึกษาเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่า โควิด-19 นั้นอาจจะสร้างความเสียหายต่อเนื้อเยี่อสมองได้มากกว่าปรกติ เมื่อเทียบกับการเสียหายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในผู้ที่ไม่ได้เป็นโควิด-19

ซึ่งผสการตรวจสอบผู้ป่วยกว่า 400 รายในช่วงอายุ 51 – 81 ปี พบว่า มีความเสียหายต่อเนื้อเยื่อส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการได้รับกลิ่น โดยมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองด้วย โดยที่ผ่านมาในออสเตรเลียนั้นจะมีการตรวจสแกนสมองของใครสักคนหนึ่ง จะเกิดจากอาการปวดหัว นั่นทำให้ผู้ป่วยรายอื่น ๆ ที่ไม่มีอาการปวดหัวจะไม่ได้รับการตรวจสอบเหล่านี้ไปด้วย

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ในหอผู้ป่วยที่มีจำนวนผู้ป่วยราว 200 ราย พบว่า หนึ่งในสามมีความผิดปรกติในเรื่องของการรับรู้ ความเข้าใจต่าง ๆ ภายหลังจากหายป่วยไปแล้วราว 6 เดือน

มีรายงานคล้ายคลึงกันในอีกหลายประเทศ

ดร. เฮอร์นันเดซ คาสทิลโล ผู้ช่วยศาสตราจารย์และนักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัย Dalhousie ในแคนาดา ได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากพบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 มีภาวะผิดปรกติบางอย่างเช่น อาการหลงลืม, เวียนศีรษะ, สับสน หลังจากที่ติดเชื้อโควิด-19

แพทย์ในเมืองเบงการูของอินเดีย พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ในเมืองราว 40-50% จะมีภาวะความจำสั้น ไม่สามารถจดจำอะไรได้ดีนักในช่วง 3-4 สัปดาห์หลังการติดเชื้อโควิด-19

เช่นเดียวกับที่มีรายงานจากโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาอาการ Long Covid นั้นจะมีภาวะสมองล้า หรือ Brain Fog ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัว วิตกกังวล รวมถึงการเกิดภาวะซึมเศร้าด้วย

ซึ่งในขณะนี้ มีรายงานภาวะสมองล้า หรือ Brain Fog เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 หรือผู้ป่วย Long Covid ในหลายประเทศมากขึ้น


ข้อมูล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง