คัดลอก URL แล้ว
สธ.ประกาศลดเตือนภัย “โควิด” เหลือระดับ 3

สธ.ประกาศลดเตือนภัย “โควิด” เหลือระดับ 3

KEY :

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 ประเทศไทย ว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับทั่วโลก ประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี ทำให้หลังสงกรานต์สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ไม่มีการระบาดใหญ่ตามมา ดังนั้น ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโควิด 19 เห็นชอบประกาศลดระดับการเตือนภัยโควิดจากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ทั่วประเทศ

คำแนะนำ คือ กรณีการไปในสถานที่เสี่ยง ให้ทุกคนงดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ปิด มีการระบายอากาศไม่ดี และสถานที่แออัด ส่วนการร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด และการเดินทางเข้า-ออกประเทศ หากเป็นคนทั่วไปสามารถดำเนินการได้ แต่ให้หลีกเลี่ยงเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด สำหรับกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สุงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ 3 เข็ม ให้เลี่ยงร่วมกิจกรรมรวมกลุ่มจำนวนมาก เลี่ยงโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท และงดเดินทางไปต่างประเทศ ถือเป็นข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขไม่เกี่ยวกับมาตรการบังคับ

นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์จริงของผู้ติดเชื้อรายใหม่ ปอดอักเสบ ใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลงสอดคล้องกันทั้งหมด เป็นไปตามการคาดการณ์ของ สธ. หรือบางตัวมีแนวโน้มดีขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ขณะนี้มีจังหวัดที่เข้าสู่ระยะทรงตัว (Plateau) แล้ว 23 จังหวัด และสถานการณ์ดีขึ้นอยู่ในระยะขาลง (Declining) 54 จังหวัด แนวโน้มจากสถานการณ์เข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) เข้าไปเต็มที

ทั้งนี้ ขอให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมพร้อมเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น เพื่อการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและประชาชน โดยเดินหน้ามาตรการ 2U คือ Universal Prevention ป้องกันตนเองครอบจักรวาล ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และ Universal Vaccination โดยเน้นให้กลุ่ม 608 รับเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% และเน้นเรื่อง 3 พอ คือ เตียงสีเหลือง สีแดง, ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน และบุคลากรทางการแพทย์มีเพียงพอต่อการให้บริการที่ได้มาตรฐาน

“ความร่วมมือของประชาชนและวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความสำคัญมาก โดยกระทรวงสาธารณสุขมีวัคซีนทุกชนิดไปที่ รพ.สต.สามารถวอล์กอินไปฉีดได้ ส่วน กทม.ก็จัดหน่วยบริการประชาชน ทั้งแบบลงทะเบียนล่วงหน้าและวอล์กอินเช่นกัน ย้ำว่าหากฉีดครบ 2 เข็ม 3 เดือนให้มารับเข็ม 3 และ 3 เข็ม ครบ 4 เดือนให้มารับเข็ม 4เพื่อช่วยกันเดินหน้าเข้าสู่โรคประจำถิ่นต่อไป”

นพ.โอภาส กล่าว

การฉีดวัคซีนป้องกัน

นพ.โอภาส กล่าวว่า ในช่วงพฤษภาคม 2565 มีจุดหมายเรื่องเปิดเรียน จึงต้องเตรียมความพร้อม ซึ่งครูและบุคลากรทางการศึกษามีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วมากกว่า 90% ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี ฉีดครบ 2 เข็มแล้วมากกว่า 90% จึงต้องเร่งฉีดเข็มกระตุ้น โดยหากเป็นผู้ที่รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ให้รับเข็ม 3 เป็นไฟเซอร์ขนาดครึ่งโดสหรือเต็มโดส ส่วนผู้ที่รับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ให้ฉีดเข็มกระตุ้นเป็นไฟเซอร์เต็มโดส

ส่วนเด็กอายุ 5-11 ปี เป้าหมาย 5.1 ล้านคน ฉีดเข็ม 1 แล้ว 2.8 ล้านคน คิดเป็น 54.5% และเข็ม 2 ฉีดแล้ว 8.9 แสนคน คิดเป็น 17.4% โดยสูตรฉีดเป็นไฟเซอร์ฝาสีส้ม 2 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์ หรือซิโนแวค-ไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) ห่างกัน 4 สัปดาห์ ซึ่งมีนักเรียนที่ประสงค์รับวัคซีนสูตรนี้เพิ่มเติม 1.6 แสนคน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง