คัดลอก URL แล้ว
จับตา!! หลังสงกรานต์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูง

จับตา!! หลังสงกรานต์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูง

KEY :

เข้าสู้ช่วง ‘เทศกาลสงกรานต์’ ประจำปี 2565 อีกครั้ง กับวันหยุดยาวต่อเนื่องถึง 5 วันเต็ม ๆ ตั้งแต่วันที่ 13-17 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนต่างทยอยเดินทางออกต่างจังหวัด ทั้งกลับภูมิลำเนาสู่บ้านเกิด กราบไหว้ขอพรผู้หลักผู้ใหญ่อันเป็นที่รักยิ่ง รวมทั้งบางส่วนที่เลือกช่วงเวลาหยุดยาวนี้ในการพักผ่อน โดยการเดินทางออกต่างจังหวัดเพื่อท่องเที่ยวตามจังหวัดต่าง ๆ

สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังอย่างยิ่งคือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ในเป็นเทศไทยพบเป็นเชื้อกลายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ และส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ BA.2 แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขยังคาดการณ์ว่า สายพันธุ์ BA.2 จะเข้ามาแทนสายพันธุ์ BA.1 แบบ 100 % ที่ในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้

จากสถิติผู้ติดเชื้อในช่วงรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ก่อนตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งการตรวจแบบ PCR และ ATK รวมเฉลี่ยมากกว่า 5 หมื่นรายต่อวัน ก่อนที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะขยับลดลงตามลำดับ ประกอบกับตัวเลขผู้หายป่วยกลับดีดเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน แต่ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตยังคงตัวเลขที่ 90 + ราย ก่อนจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งล่าสุดจากข้อมูลเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 พบตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แตะหลัก 100 ราย เป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน

อย่างไรก็ตามจากการคาดการณ์ของทางกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าหลังสงกรานต์นี้ในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงถึง 5 หมื่นรายต่อวัน และหากสถานการณ์เลวร้ายสุด อาจได้เห็นยอดผู้ติดเชื้อแตะ 1 แสนรายต่อวัน

สถิติยอดผู้ติดเชื้อ ‘เทศกาลสงกรานต์’ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

เทศกาลสงกรานต์ เมื่อปี 2563 ถูกเลื่อนออกไป อันเนื่องมาจากการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้เลื่อนวันหยุดช่วงสงกรานต์จากวันที่ 13-15 เมษายน 2563 ออกไป พร้อมประกาศให้วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2563 เป็นวันหยุดราชการ เพื่อชดเชยสงกรานต์เป็นเวลา 1 วัน ซึ่งจะทำให้มีวันหยุดต่อเนื่องเป็น 4 วัน คือ วันที่ 25 – 28 กรกฎาคม 2563

สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อระหว่างวันที่ 13-16 เมษายน 2563 มีดังนี้

ยอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 2,672 ราย เสียชีวิตรวม 46 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 16 เม.ย.63)

อย่างไรก็ตามสงกรานต์เมื่อ 2563 นั้น ทางรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกกิจกรรม การจัดงานต่าง ๆ ทั้งการเล่นน้ำ การรดน้ำ รวมถึงการรวมกลุ่มในปริมาณที่แออัด เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ณ ขณะนั้น

สำหรับเทศกาลสงกรานต์ในปี 2564 ทาง ศบค.ชุดใหญ่ ได้ออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยออกคำสั่งห้ามเล่นน้ำ ห้ามประแป้ง ห้ามจัดกิจกรรมปาร์ตี้โฟม ซึ่งกิจกรรมที่กำหนดให้ทำได้ อาทิ พิธีสรงน้ำพระ หรือ กิจกรรมทางศาสนาอื่น ๆ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ตามรูปแบบที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมกำหนด

เช่นเดียวกับการเดินทางข้ามจังหวัด สามารถทำได้ทั้งการท่องเที่ยว และกลับภูมิลำเนา ซึ่งในทุกกิจกรรมต้องปฏิบัติตามหลักของทางกระทรวงสาธารณสุข คือ D-M-H-T-T หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมในพื้นที่แคบ และพื้นที่ที่ใช้เครื่องปรับอากาศ ควรเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้ดี

สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อระหว่างวันที่ 13-16 เมษายน 2564 มีดังนี้

ยอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 39,038 ราย เสียชีวิตรวม 97 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 16 เม.ย.64)

มาตรการช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565

ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.65 ได้กำหนดมาตรการป้องกันโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 โดยวางแนวทางไว้ 3 ขั้นตอน คือ 1.การเตรียมตัวก่อนร่วมงาน อาทิ ประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือเข้าร่วมงานสงกรานต์ และกลุ่ม 608 ต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ รวมถึงการประเมินความเสี่ยงของตนเอง ก่อนออกเดินทางหรือร่วมกิจกรรมต่าง ๆ

2.ระหว่างช่วงงานสงกรานต์ อนุญาตให้เล่นน้ำและจัดกิจกรรมตามประเพณี เช่น รดน้ำด้ำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรีโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และมีการกำกับอย่างเคร่งครัด ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน พื้นที่สาธารณะไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน ฯลฯ ห้ามเล่นน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม

3.หลังกลับจากงานสงกรานต์ หลังจากกลับจากสงกรานต์ สังเกตุอาการตนเอง 7 วัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อ การป่วยรุนแรง และผู้ที่จะไปพบปะกับผู้คนจำนวนมาก หากพบว่ามีอาการสงสัยติดเชื้อ ให้ทำการตรวจ ATK ขอให้หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมากโดยไม่จำเป็น ในช่วงการสังเกตอาการ รวมทั้งพิจารณามาตรการ WFH ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และการพิจารณาของหน่วยงาน

การประเมินยอดผู้ติดเชื้อหลัง ‘เทศกาลสงกรานต์’

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดในขณะนี้ พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุถึงร้อยละ 78 เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ร้อยละ 53 และได้รับเข็ม 2 เกิน 3 เดือนร้อยละ 33 ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ มีอาการหนักและเสียชีวิตได้

สำหรับการคาดการณ์ประเมินไว้ว่าช่วงวันที่ 19 เมษายน 2565 หากเป็นไปตามคาดการณ์ไว้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายสุด จะพบตัวเลขผู้ติดเชื้อถึงวันละ 1 แสนคน ในขณะนี้การประเมินสถานการณ์ระดับรองลงมา คือมีผู้ติดเชื้อประมาณ 5 หมื่นรายต่อวัน และการประเมินในขั้นดีสุดคือ อาจพบผู้ติดเชื้อประมาณ 2-3 หมื่นต่อวัน

สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตรายใหม่ประเมินขั้นสูงสุดอยู่ที่ 250 ราย ขณะที่การประเมินระดับรองลงมา เฉลี่ยวันละ 140-150 ราย และระดับดีสุด เสียชีวิตรายใหม่วันละ 60-70 ราย

คาด 1-2 สัปดาห์ ‘โอไมครอน’ สายพันธุ์ BA.2

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 ถึง 95.9% คาดว่าอีก 1-2 สัปดาห์จะมาแทนที่การระบาดของสายพันธุ์ BA.1 เป็น 100% เนื่องจาก BA.2 ความสามารถในการแพร่รวดเร็วกว่า ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้ฉีดเข็มกระตุ้นไปแล้ว 35-36% แต่เนื่องจากเชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ต่อเนื่อง ภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนอาจมีผลต่อแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกัน

จากการตรวจระดับภูมิคุ้มกันที่มีผลต่อไวรัสทั้งกรณีได้รับวัคซีน 2 เข็ม และ 3 เข็ม พบว่า วัคซีนทุกสูตรให้ระดับภูมิคุ้มกันที่ต่อสู้กับไวรัสโอมิครอน BA.2 ได้มากกว่า BA.1 ดังนั้น ข้อกังวลว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะหลบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้มากกว่าจึงไม่น่าเป็นจริง อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีน 2 เข็ม แม้จะเป็นช่วง 2 สัปดาห์หลังฉีด พบว่าภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 ไม่ได้สูงมากนัก

ดังนั้น ถ้าฉีด 2 เข็มมาแล้วหลายเดือน ภูมิคุ้มกันจะยิ่งน้อยลง แต่เมื่อฉีดกระตุ้นเข็ม 3 พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นในระดับสูงมากต่อไวรัสโอมิครอน BA.2 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงขอแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้น (booster dose) โดยเร็วในคนที่ได้รับวัคซีนเพียง 2 เข็ม

5 อันดับ พฤติกรรมเสี่ยงช่วงเทศกาลสงกรานต์

ทางกรมสนับสนุนสุขภาพ (กรม สบส.)เผยผลสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นเทศกาลที่ที่มีการรวมตัว รวมกลุ่ม มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่าย และสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และอาจส่งผลทำให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงติดโควิด ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 อันดับ มีดังนี้

อย่างไรก็ตามทางกรม สบส. พร้อมให้คำแนะนำสำหรับแนวทางการป้องกัน โดยขอความร่วมมือประชาชนรักษามาตรการป้องกันแบบครอบจักวาล (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด ทั้งการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อพูดคุย และแยกสำรับอาหารและอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัว

สำหรับผู้ที่มีอาการสงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ให้รีบตรวจ ATK หากใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อลดการแพร่กระจายไปยังผู้สูงอายุในครอบครัว

แม้โควิด-19 สายพันธ์ุโอไมครอน จะมีอาการไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ก่อน ๆ แต่มีการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว และติดง่ายขึ้น ย่อมเกิดผลกระทบในวงกว้าง ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่เราควรยึดถือคือมาตรการป้องกันที่เริ่มจากตัวเราเอง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จากการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมตามมาตรการป้องกันที่ภาครัฐได้กำหนดไว้

อย่างไรก็ตามอีกสิ่งหนึ่งที่ควรรู้ไว้ คือ สิทธิการรักษาต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลดีในการวางแผนล่วงหน้า หรือ เก็บข้อมูลความรู้ไว้ หากช่วงระหว่างที่เราใช้ชีวิตทำกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และเกิดข้อสงสัยว่าติดเชื้อหรือไม่ หรือมีคนรอบตัวติดเชื้อ เราควรเริ่มจากจุดไหน สามารถอ่านได้ตามบทความนี้ (UCEP Plus หลักเกณฑ์การรักษา ‘โควิด-19’ แบบใหม่ ที่ทุกคนควรรู้)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง