คัดลอก URL แล้ว
รัฐบาลเผย นร.ฉีดไฟเซอร์ เข็มแรกแล้ว 1.5 แสนราย ห่วงกระแส TikTok ทำผวา วางแผนตรวจ ATK แบบสุ่มในโรงเรียน สร้างความมั่นใจเตรียมเปิดเทอม พ.ย.นี้

รัฐบาลเผย นร.ฉีดไฟเซอร์ เข็มแรกแล้ว 1.5 แสนราย ห่วงกระแส TikTok ทำผวา วางแผนตรวจ ATK แบบสุ่มในโรงเรียน สร้างความมั่นใจเตรียมเปิดเทอม พ.ย.นี้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการดำเนินการรัฐบาเร่ิมเดินหน้าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเดือนตุลาคม 2564 ให้แก่นักเรียน นักศึกษา กลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 12-18 ปี ทุกคน ผ่านสถาบันการศึกษาว่า ขณะนี้มีผู้แจังความประสงค์เข้ารับการฉีดแล้วประมาณ 3.8 ล้านคน จากตัวเลขกลุ่มเป้าหมายมีอยู่ประมาณ 5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71 และคาดว่ามีตัวเลขผู้แจังความประสงค์ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยการฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. มีนักเรียน ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วประมาณ 150,190 ราย ร้อยละ 3.3 และฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้วประมาณ 1,825 ราย กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข จะเดินหน้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่เด็ก/นักเรียน อย่างต่อเนื่อง

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียัง กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวผ่านสื่อต่าง ๆ และทางโซเชียลสื่อออนไลน์ เช่น ในแพลตฟอร์ม TikTok เด็กบางกลุ่มได้ออกมาแสดงความกังวลต่อผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ขอให้ความเชื่อมั่นว่า ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่รัฐบาลนำมาฉีดให้กับเด็กนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงได้มาตรฐานระดับสากลและทั่วโลกยอมรับ โดยได้ผ่านการตรวจสอบและอนุมัติรับรองคุณภาพเรียบร้อยแล้วทั้งจากองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ (FDA) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขของไทยด้วย แม้การฉีดวัคซีนไฟเซอร์จะมีผลข้างเคียงในลักษณะต่าง ๆ อยู่บ้าง ทั้งผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ หนาวสั่น รวมถึงผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่จากข้อมูลของคณะอนุกรรมการด้านโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาระดับโลกด้านความปลอดภัยของวัคซีนประจำองค์การอนามัยโลก (GACVS) ระบุว่า วัคซีนชนิด mRNA มีประโยชน์ในการป้องกันโรคโควิด-19 มากกว่าความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตจาก COVID-19 ได้ โดยหลายประเทศได้เดินหน้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่เด็กไปก่อนหน้านี้แล้ว อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สเปน นอร์เวย์ เป็นต้น ทางบริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer – BioNTech) ยังได้ยื่นคำขอต่อองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) อย่างเป็นทางการแล้วเพื่อให้อนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด-19 กับเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปี เป็นการฉุกเฉิน หากผ่านการรับรองของ FDA คาดจะสามารถใช้ได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้

“การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กนักเรียนมีความสำคัญมาก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันของสังคมให้เข้มแข็งมากขึ้นและให้เด็กได้กลับไปเรียนในรูปแบบปกติโดยเร็ว พร้อมเตรียมรับการเปิดภาคเรียนเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ ยังพิจารณาให้มีการตรวจ ATK (Antigen Test Kit) แบบสุ่มตัวอย่างประมาณ 10-15% ของจำนวนนักเรียนในทุก ๆ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจกับนักเรียนในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ทั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังกำชับให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ข้อมูลสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประสิทธิภาพและอัตราการเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีน เพื่อให้นักเรียนคลายความกังวลจากผลที่เกิดขึ้นด้วย” นางสาวรัชดา ฯ กล่าว

#ไฟเซอร์ #ไฟเซอร์นักเรียน #โควิด #วัคซีนโควิด #เปิดเทอม #นักเรียน #ข่าวโมโน29 #Mono29News #Mono29


ข่าวที่เกี่ยวข้อง