ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตอนนี้เวลาแล้วที่คนไทยควรจะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 กระตุ้นเข็มที่ 3 เนื่องจากตอนนี้เรามีการระบาดที่ไม่ใช่เชื้อสายพันธุ์หลักหรืออู่ฮั่น แต่มีการระบาดของหลายสายพันธุ์
แต่การกระตุ้นเข็มที่ 3 ต้องขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนด้วย หากเป็นกรณีของวัคซีนชนิดเชื้อตาย จะเป็นวัคซีนที่ทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นช้าและตกเร็ว คือหลังจากฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว ต้องรอประมาณ 1 เดือนภูมิจึงจะขึ้น และจะอยู่ได้ประมาณ 1-2 เดือนภูมิจะเริ่มตก ดังนั้นระยะเวลาที่ควรจะฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ของวัคซีนเชื้อตายนั้น จะอยู่ที่ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนไม่เกิน 3 เดือนหลังจากฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว
ส่วนกรณีที่เป็นวัคซีนเชื้อเป็น แอสตร้าเซเนก้า อาจจะมีระยะห่างในการฉีดนานเกินไป เพราะหากสามารถร่นระยะห่างการฉีดเข็ม 2 ได้ระยะ 2 เดือน จะทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานต่อเนื่องกับเข็มที่ 1 และจะทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นได้เต็มที่ ดังนั้นระยะเวลาการฉีดเข็ม 1 และ 2 ที่ห่างกันเกินไปอาจทำให้ภูมิขึ้นไม่เต็มที่ และอาจจะอยู่ได้แค่ประมาณ 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งจะต้องฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 และควรจะเป็นวัคซีนประเภทอื่นที่ไม่ใช่แอสตร้าเซเนก้า และไม่ใช่วัคซีนเชื้อตาย
ในส่วนของวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์น่านั้น การกระตุ้นเข็ม 3 สามารถใช้กระตุ้นด้วยวัคซีนตัวเดิมได้หลังจากที่ฉีดเข็ม 2 ไปแล้ว 3-4 เดือน
ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็มและเคยติดเชื้อนั้น หากจะฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 อาจจะต้องมีข้อควรระวัง เพราะเมื่อฉีดเข็มที่ 2 หรือมีการติดเชื้อไปแล้ว ตัวเลขของภูมิที่วัดได้สูงนั้นจะต้องแยกแยะว่าเป็นภูมิตอบสนองประเภทใด เพราะจะมีทั้งภูมิดีและภูมิเลว และสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายครบโดสและเคยติดเชื้อไปแล้วก็ตาม แม้จะภูมิแต่ก็อาจจะเก็บภูมิไม่ได้นานนัก
ดังนั้นอาจจะต้องรอประมาณ 3 เดือน จึงฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เนื่องจากมียังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออีกได้ เห็นได้จากรายงานในประเทศอินเดีย พบว่าหลังจากที่ติดเชื้อไปแล้ว ก็มีการติดเชื้อซ้ำซ้อนใหม่ถึง 3 ครั้ง และแม้จะฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนครบแล้ว แต่ก็มีการติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟ่า 2 ครั้ง และสายพันธุ์เดลต้าครั้งที่ 3 และมีอาการรุนแรงขึ้นมาก
ทั้งนี้หากฉีดวัคซีนเชื้อตายไปแล้ว 2 เข็ม ห้ามฉีดเชื้อตายเป็นเข็มที่ 3 เด็ดขาด โดยต้องฉีดเข็ม 3 เป็นวัคซีนชนิดอื่นที่ไม่ใช่เชื้อตาย เพราะจากการวิจัย รวมถึงในประเทศจีนมีการศึกษาและรายงานว่าหากฉีดวัคซีนเชื้อตายไปแล้วและกระตุ้นต่อด้วยวัคซีนชนิดเชื้อตาย ภูมิจะไม่ขึ้นมากนัก แต่หากเป็นวัคซีนชนิดที่คล้ายกับแอสตร้าเซเนก้า จะมีภูมิสูงขึ้นมาก