คัดลอก URL แล้ว
ลือ! วิ่งเต้นการเมือง หวังล้ม มติ ครม.จัดหาชุดตรวจATK

ลือ! วิ่งเต้นการเมือง หวังล้ม มติ ครม.จัดหาชุดตรวจATK

ยังคงเป็นประเด็นที่ร้อนระอุ อย่างต่อเนื่องสำหรับ การจัดหาชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK จำนวน 8.5 ล้านชิ้น ที่ดูว่าจะยังหาทางออกไม่ได้ หลังมีการเผยแพร่ มติ ครม. วันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าชุดตรวจATK จะต้องได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งวันนี้ทางชมรมแพทย์ชนบทได้โพสต์ถึงกระแสข่าวลือว่ากำลังมีการวิ่งเต้นทางการเมืองเรื่องชุดตรวจ ATK

เพจเฟซบุ๊กของชมรมแพทย์ชนบท ที่ได้ระบุว่า ข่าวลือมาดังมาก มีการวิ่งเต้นกดดันของฝ่ายการเมือง ถึงขั้นขู่ถอนตัวเพื่อกลับมติ ครม. เรื่องการจัดหา ATK อ้างเอกสารผิดพลาดทางเทคนิคเพื่อไม่ต้องใช้ ATK มาตรฐาน WHO ตามที่มติ ครม.ที่มีมติ 17 สิงหาคมไปแล้ว จริงเท็จประการใด ต้องติดตามต่อไป

หลังจากนั้นไม่นานทาง บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ร่วมกับ บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ชนะการประมูลนำเข้าชุดตรวจ ATK กับทางองค์การเภสัชกรรม ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกรณี การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในข้อที่ 6 คือ เรื่อง การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด – 19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kit:ATK) ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีจำหน่ายในไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจเพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงทีและพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด

ซึ่งทางบริษัทผู้ชนะการประมูล ได้ระบุว่าจากข้อสั่งการดังกล่าว โดยเฉพาะการระบุคุณสมบัติของชุดตรวจ ATK ที่จะต้องได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก อาจจะทำให้การเตรียมจะเซ็นสัญญาระหว่างองค์กรเภสัชกรรมและบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ไม่สามารถเดินต่อไปได้ เนื่องจากชุดตรวจ ATK ของ Lepu(เล่อปู๋) ไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งในข้อกำหนดการจัดซื้อของการประมูล ก็ไม่ได้ระบุถึง ว่าต้องได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และ ณ ปัจจุบัน ได้มีเอกสารยืนยันว่าองค์การอนามัยโลก ก็ยังไม่มีการอนุมัติชุดตรวจแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง ( Home use )ให้แก่บริษัทใดเลย ซึ่งทางบริษัทผู้ชนะการประมูลก็ได้แนบเอกสารชี้แจงดังกล่าวมาพร้อมกับจดหมายเปิดผนึกด้วย

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)มองถึงปัญหากรณีการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า กำลังสะท้อนกลไกของภาครัฐที่จะต้องมีการตั้งคำถามใหม่ในสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่ง สปสช.ในฐานะองค์กรที่เป็นผู้กำหนดนโยบายว่าจะต้องการชุดตรวจอย่างไรมาบริการประชาชน และเป็นเจ้าของเงิน แต่กลับไม่มีอำนาจที่จะสามารถดำเนินการจัดซื้อได้ด้วยตัวเอง ต้องให้หน่วยงานอื่น อย่างองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดซื้อแทน ซึ่งหากเกิดปัญหาตามมาก็ยากที่จะหาใครมารับผิดชอบได้ เนื่องจากหน่วยงานที่ต้องการจัดซื้อไม่ได้เป็นผู้จัดหาด้วยตนเอง และหน่วยงานที่จัดหาก็ระบุได้ว่าทำตามขั้นตอนระเบียบปฏิบัติแล้วทุกอย่าง

ส่วนกรณีที่กำลังตั้งคำถามถึง มติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ที่ระบุถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจATK จะต้องมีการรับรองทั้งจาก อย. และมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกนั้น ด็อกเตอร์มานะ ตั้งข้อสังเกตว่า มติ ครม.นี้ ไม่ใช่ มติ ที่อนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างโดยตรง เป็นมติที่วางหลักการวางแนวทางเกิดขึ้น หลังจากการดำเนินโครงการไปแล้ว ฉะนั้น ยังไม่แน่ใจว่าจะมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างโดยตรงหรือไม่ ซึ่งข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องของนโยบายของผู้นำรัฐบาล ก็คงไม่ใช่มติของ ครม. โดยตรง ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับทางทางรัฐมนตรีที่ดูแลทางกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จะนำประเด็นนี้ไปทบทวนการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

ทั้งนี้ หากเกิดการยกเลิกการประมูลขึ้นจริง และจะต้องมีกำหนด TOR ใหม่ เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนดีพอ ไม่อย่างนั้นเอกชนก็สามารถฟ้องร้องได้

ดร.มานะ ยังบอกอีกว่า หลังจากนี้คงต้องรอดูความชัดเจนจากทางกระทรวงสาธารณสุข และ องค์การเภสัชกรรม ว่าจะใช้แนวทางอย่างไร สำหรับเรื่องนี้ แต่ไม่ว่าจะออกมาในทิศทางใด ก็ขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ให้ประชาชนได้มั่นใจ ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มั่นใจว่าจะรักษาชีวิตตนเองและครอบครัวได้ จะเกิดประโยชน์กับสังคมมากกว่า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง