คัดลอก URL แล้ว
สธ.เผยผลปฏิบัติการเชิงรุก CCR Team แพทย์จากภูมิภาค 7 วัน ตรวจเชิงรุกกว่า 1.4 แสนคน

สธ.เผยผลปฏิบัติการเชิงรุก CCR Team แพทย์จากภูมิภาค 7 วัน ตรวจเชิงรุกกว่า 1.4 แสนคน

วันนี้ (11 ส.ค. ) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลปฏิบัติการ CCR Team ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายภาคประชาสังคม และ กทม. จัดหน่วยปฏิบัติการเชิงรุก

ในชุมชน (CCR Team) ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกรรม และสหวิชาชีพกว่า 400 คน 41 ทีม ดำเนินการเชิงรุกในชุมชนแออัดพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ใน 4 ภารกิจหลัก คือ

1.การตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ทราบผลเร็วไม่เกิน 30 นาที
2.เมื่อพบผู้ติดเชื้อ จะค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงร่วมบ้านหรือร่วมชุมชนมาตรวจเพิ่มเติม
3.รักษาพยาบาล โดยผู้มีผล ATK เป็นบวก แพทย์จะประเมินความรุนแรงของอาการทุกรายและรักษา จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์หรือยาฟ้าทะลายโจรตามเกณฑ์ ลงทะเบียนเข้าสู่การรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ของ สปสช. และตรวจ RT-PCR ทุกรายที่มีผล ATK เป็นบวก เพื่อเข้าสู่ระบบรักษาที่ชุมชน (Community Isolation) และหรือโรงพยาบาล ให้คำแนะนำการใช้ชีวิตเพื่อป้องกัน
การแพร่เชื้อต่อ
4.หากผล ATK เป็นลบ จะฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง 608 คือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค หญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งให้วัคซีนถึงบ้านสำหรับกลุ่มเปราะบาง ติดบ้าน ติดเตียง

นายแพทย์ยงยศกล่าวอีกว่า หน่วย CCR Team ลงพื้นที่ปฏิบัติการเชิงรุกแล้ว 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564 ตรวจ ATK พบผลบวก 9% ครั้งที่ 2 วันที่ 21-23 กรกฎาคม 2564 ตรวจ ATK พบผลบวก 16.1% และล่าสุดครั้งที่ 3 วันที่ 4-10 สิงหาคม 2564 ออกปฏิบัติการ 41 ทีม รวมผู้ปฏิบัติงานจากทั่วประเทศ 400 คน ลงพื้นที่ 369 ชุมชน มีประชาชนได้รับการตรวจ ATK รวม 145,566 คน พบผลบวก 16,186 ราย คิดเป็น 11.1% จากการประเมินอาการพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับสีเขียว 11,216 คน คิดเป็น 69.3% ระดับสีเหลือง 4,639 คน คิดเป็น 28.7% และอาการรุนแรงระดับสีแดง 331 คน คิดเป็น 2% มีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์รวม 467,150 เม็ด ยาฟ้าทะลายโจร 3,614 คน คิดเป็น 22.3% ของผู้ที่มีผล ATK เป็นบวก ฉีดวัคซีน 7,761 คน

“การปฏิบัติงานเชิงรุกในชุมชนช่วยให้การควบคุมสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ กทม. เป็นไปได้จริงมากยิ่งขึ้น ผลประโยชน์เกิดขึ้นกับประชาชน ช่วยให้ผู้ป่วยยังเข้าไม่ถึงการตรวจและผู้ป่วยตกค้างอยู่ในชุมชนเข้าถึงบริการ การปฏิบัติงาน CCR Team จึงควรดำเนินการต่อโดย กทม. หากปฏิบัติการอีก 2 สัปดาห์ จะช่วยการควบคุมโรค ผู้ป่วยได้รับการรักษาเข้าถึงยา ลดอัตราการเข้าโรงพยาบาล ลดอัตราการเปลี่ยนสีของผู้ป่วย และลดการเสียชีวิต” นายแพทย์ยงยศกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง