รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 5 สิงหาคม 2564…
บราซิลทะลุ 20 ล้าน อเมริกาติดเพิ่มเกินแสนคนต่อวัน
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 671,140 คน รวมแล้วตอนนี้ 200,920,363 คน ตายเพิ่มอีก 9,925 คน ยอดตายรวม 4,268,839 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อเมริกา อินเดีย บราซิล อิหร่าน และอินโดนีเซีย
อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 107,959 คน รวม 36,168,809 คน ตายเพิ่ม 628 คน ยอดเสียชีวิตรวม 631,261 คน อัตราตาย 1.7%
อินเดีย ติดเพิ่ม 42,817 คน รวม 31,810,782 คน ตายเพิ่ม 532 คน ยอดเสียชีวิตรวม 426,321 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 40,460 คน รวม 20,026,533 คน ตายเพิ่ม 1,010 คน ยอดเสียชีวิตรวม 559,607 คน อัตราตาย 2.8%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 22,589 คน รวม 6,356,784 คน ตายเพิ่ม 790 คน ยอดเสียชีวิตรวม 161,715 คน อัตราตาย 2.5%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 28,784 คน ยอดรวม 6,207,416 คน ตายเพิ่ม 53 คน ยอดเสียชีวิตรวม 112,046 คน อัตราตาย 1.8%
อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ายังคงมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 84 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน
เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ เวียดนาม ล้วนติดหลักพันอย่างต่อเนื่อง
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน
แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านและอิรักติดกันหลักหมื่น ทั้งนี้อิหร่านมีจำนวนติดเชื้อใหม่ต่อวันทำลายสถิติเดิม สูงถึง 39,357 คน
กัมพูชา ลาว และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน สิงคโปร์ และไต้หวัน ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
…วิเคราะห์สถานการณ์ของไทยเรา
ตอนนี้ไทยมีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก
อันดับที่ 3 ของเอเชีย
และเป็นอันดับที่ 1 ในอาเซียน
ดูข้อมูลจากที่คุณสรยุทธนำเสนอทางเพจ พบว่า ณ ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อสูงมากถึงเกือบ 24%
นั่นคือตรวจประมาณ 4 คนจะเจอว่าติดเชื้อ 1 คน
ความชุกของการติดเชื้อโควิด-19 ที่ตรวจพบนี้ถือว่าสูงมาก และย้ำเตือนให้เราทุกคนต้องตระหนักถึงสถานการณ์การระบาดขณะนี้ว่า”วิกฤติ”
ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ที่ควรพิจารณาดำเนินการในสถานการณ์เช่นนี้ คือ
หนึ่ง จำเป็นต้องขยายศักยภาพของการตรวจคัดกรองโรคให้มากกว่าที่ทำมา อย่างน้อยอีก 2-3 เท่า คือตรวจให้ได้ 150,000-200,000 ครั้งต่อวัน เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อแพร่เชื้อของคนในสังคม
ทั้งนี้ เชื้อสายพันธุ์เดลต้ามีสมรรถนะในการแพร่เร็วกว่าอัลฟ่าถึง 55% และคนติดเชื้อ 1 คนจะแพร่ให้ผู้อื่นได้ราว 8-9 คนเทียบเท่ากับโรคสุกใส ดังนั้นการตรวจให้มาก เร็ว และครอบคลุมพื้นที่ จึงเป็นหัวใจสำคัญในการต่อสู้ศึกนี้
สอง วัดและโรงเรียนทั่วประเทศ จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ในฐานะศูนย์พักพิงสำหรับผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ เพราะการทำ home isolation และ community isolation ในลักษณะอื่นนั้นแม้จะดำเนินไปได้ แต่การบริการหน่วยย่อยระดับครัวเรือนนั้นจะไม่ทางทำได้อย่างทั่วถึงหรือเพียงพอ และมีโอกาสที่จะติดเชื้อแพร่เชื้อในครัวเรือนไปเรื่อยๆ ดังนั้นการทำให้เป็นยูนิตที่ใหญ่ขึ้นสำหรับกลุ่มที่ไม่มีอาการนั้นจะมีความคุ้มค่าและเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในระยะหลายเดือนถัดจากนี้
สาม ควรเตรียมประชาชนในเรื่องเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตประจำวัน ลดการนำเข้าสิ่งฟุ่มเฟือย เน้นการใช้ของภายในประเทศ เพราะแนวโน้มการระบาดลักษณะที่กำลังเผชิญนี้มีความยาวนาน
สี่ ระบบสาธารณสุขต้องวางแผนรับมือกับเรื่องผู้ป่วยที่มีอาการคงค้างระยะยาว หรือที่เรียกว่า COVID Long Hauler/Chronic COVID Syndrome ซึ่งประเทศต่างๆ ที่ผ่านการระบาดหนักมาก่อน มีผู้ป่วยที่พบภาวะดังกล่าวมากได้ถึงราว 30-40%
ขอให้เรามีกำลังใจในการช่วยกันประคับประคองกันและกัน ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด มุ่งเป้าให้ตนเองและครอบครัวไม่ติดเชื้อ
ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก
ด้วยรักและห่วงใย